ประเทศไทย ในยุคเงินเฟ้อต่ำ

ประเทศไทย ในยุคเงินเฟ้อต่ำ

6 ก.ค. 2019
ประเทศไทย ในยุคเงินเฟ้อต่ำ / โดย ลงทุนแมน
เราคงเคยได้ยิน ประเทศเวเนซุเอลา
มีเงินเฟ้อเพิ่มสูงกว่า 1,000,000% ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น
จนเศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่
แต่เรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นตรงข้ามกับประเทศไทย
ที่มีเงินเฟ้อถือว่าต่ำมาเป็นเวลาหลายปี
ทำไมจึงเป็นแบบนั้น ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เงินเฟ้อหมายถึง ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งผลกระทบนั้นมีหลายอย่าง
ที่ชัดเจนที่สุดคือ ในฐานะผู้บริโภคจะซื้อของได้น้อยลงด้วยจำนวนเงินเท่าเดิม
หรือแม้แต่ในฐานะนักลงทุน จะได้รับผลตอบแทนที่ลดลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลง
ในการคำนวณหา ดอกเบี้ยที่แท้จริง จะนำเอาดอกเบี้ยที่เราได้มาลบด้วยเงินเฟ้อ เมื่อเงินเฟ้อมาก แปลว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงจะลดลงมาก
แล้วอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของไทยในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?
ปี 2546 - 2550 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 3.2%
ปี 2551 - 2555 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 3.0%
ปี 2556 - 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 0.9%
จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของไทยนั้น ลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งเกิดมาจากหลายสาเหตุ
1. การลดลงของราคาน้ำมัน
น้ำมันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อของไทยนั้นต่ำ
ราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลงจากระดับที่มากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2559
และที่สำคัญนับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันก็ไม่เคยขึ้นไปถึงระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลอีกเลย
ซึ่งราคาน้ำมันที่ลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากต้นทุนในการผลิตน้ำมันที่ลดลง จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการผลิต Shale Oil
ซึ่งการลดลงของราคาน้ำมันทำให้ต้นทุนการผลิตของหลายอุตสาหกรรมลดลง ราคาสินค้าจึงไม่จำเป็นต้องปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำในที่สุด
2. การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย
ปี 2557 ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 487,000 ล้านบาท
ปี 2561 ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,200,000 ล้านบาท
Cr. tradingeconimics (in USD)
การเกินดุลของดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง มาจากการเกินดุลการค้า และดุลบริการ
โดยเฉพาะการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทย โดยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเฉลี่ยเดือนละ 100,000 ล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ซึ่งภาวะเงินบาทแข็ง การนำเข้าสินค้าต่างๆ เข้ามาในประเทศ เช่น น้ำมัน จะมีราคาถูกลงในรูปของเงินบาท โดยจะส่งผลทางอ้อมให้สินค้าทั่วไปมีราคาต่ำ และทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำในที่สุด
3. การเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง
ปี 2530 - 2540 ช่วงก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 GDP ของไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.2%
ปี 2541 - 2551 ช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ GDP ของไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.7%
และตั้งแต่ปี 2552 - 2561 นั้น GDP ของไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.2%
เศรษฐกิจที่เติบโตช้าลงของไทย เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก และภายใน ตั้งแต่วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ วิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป ความไม่สงบทางการเมือง และหนี้สินครัวเรือนของไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีหลัง
ยังไม่รวมโครงสร้างประชากรไทยที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ปี 2545 สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดเท่ากับ 7% และเพิ่มมาอยู่ที่ 10% ในปี 2558 โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก
ทั้งหมดนี้จึงทำให้การบริโภค การจับจ่ายใช้สอย และการลงทุนนั้น ชะลอตัวตามไปด้วย
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ อาทิเช่น การควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ และการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจ E-Commerce
Cr. Priceza
ในปี 2561 มูลค่าตลาด E-Commerce เท่ากับ 3.1 ล้านล้านบาท โดยตลาด E-Commerce ใช้จุดเด่นในการไม่มีหน้าร้าน และขายสินค้าในราคาถูก ทำให้ราคาสินค้าทั่วไปในตลาดไม่สามารถปรับราคาเพิ่มได้มาก
จริงอยู่ว่าเงินเฟ้อที่ต่ำส่งผลดีต่อผู้บริโภค เนื่องจากราคาสินค้าและบริการไม่สูงเกินไป
อย่างไรก็ตาม ในมุมของผู้ประกอบการ ภาวะเงินเฟ้อต่ำ หมายถึง การไม่สามารถขึ้นราคาสินค้า และบริการได้ และถ้าเป็นแบบนี้บางธุรกิจที่ไม่สามารถควบคุมต้นทุนได้ดี อาจประสบปัญหาขาดทุน ทำให้ขาดแรงจูงใจในการผลิตสินค้า และบริการ ส่งผลกระทบทางอ้อม นำมาซึ่งการจ้างงานที่ลดลง
ดังนั้น ธนาคารกลางแต่ละประเทศส่วนใหญ่จะกำหนดกรอบเป้าหมายของเงินเฟ้อไม่ให้ต่ำหรือสูงเกินไป
ปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดเป้าหมายของเงินเฟ้อ ไว้ที่ 2.5% (± 1.5%) หรือให้อยู่ในกรอบ 1-4%
ทั้งนี้ ก็เพื่อการควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อันส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งในตอนนี้สถานการณ์เงินเฟ้อของประเทศไทย จะวนเวียนอยู่แถวกรอบล่างที่ 1%
โดยปกติแล้ว การดันเงินเฟ้อสูงขึ้น จะทำได้โดยการลดดอกเบี้ย หรือทำให้ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัว มีการจับจ่ายใช้สอย
แต่ทั้งนี้ก็ต้องมาแลกกับหนี้สินที่จะเกิดขึ้น ทั้งภาคครัวเรือน และบริษัทเอกชน ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงตามมา เช่น การเก็งกำไรในบางทรัพย์สินมากเกินไป หรือ อัตราส่วนการก่อหนี้พุ่งสูงขึ้น
ดูเหมือนว่า ตอนนี้ประเทศไทยเหมือนจะติดหล่มเรื่องสภาพเศรษฐกิจ
ลดดอกเบี้ยก็มีปัญหาหนี้ ขึ้นดอกเบี้ย เศรษฐกิจก็ซบเซา เงินเฟ้อต่ำ
สรุปแล้ว เรื่องนี้ถือว่าเป็นงานที่ท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทย
ว่าจะหลุดออกจาก Dilemma นี้อย่างไร..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://www.newsweek.com/venezuela-million-hyperinflation-losing-lives-everyday-1256630
-https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/FAQ/FAQ_136.pdf
-https://www.jri.co.jp/MediaLibrary/file/english/periodical/occasional/2018/05.pdf
-https://www.eia.gov/dnav/pet/xls/PET_PRI_SPT_S1_M.xls
-https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=409&language=TH
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.KD.ZG?locations=TH
-https://www.etda.or.th
-https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/EconomicConditions/AAA/AgePeriodCohort.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.