เสือนอนกิน ทิพยประกันภัย

เสือนอนกิน ทิพยประกันภัย

11 ก.ค. 2019
เสือนอนกิน ทิพยประกันภัย / โดย ลงทุนแมน
ธุรกิจประกัน จะแบ่งออกได้ 2 ประเภท
คือ ธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัย
ในส่วนธุรกิจประกันชีวิต เราคงรู้อยู่แล้วว่าเจ้าตลาดในประเทศไทยคือ AIA
แล้วธุรกิจประกันวินาศภัยล่ะ?
คำตอบคือ วิริยะประกันภัย ครองส่วนแบ่งไป 15.5%
แต่มีอีกบริษัทที่เป็นรอง โดยมีความน่าสนใจไม่แพ้กันคือ ทิพยประกันภัย ซึ่งครองส่วนแบ่งไป 10.8%
บริษัทนี้น่าสนใจตรงที่ โดยส่วนใหญ่แล้ว บริษัทนี้จะได้งานรับประกันของรัฐวิสาหกิจ
หลายคนคงคิดว่าบริษัทนี้เป็นรัฐวิสาหกิจเช่นกัน แต่คำตอบคือ ไม่ใช่
ทิพยประกันภัย ก่อตั้งปี พ.ศ. 2494 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งต่อมาได้โอนหุ้นส่วนใหญ่ให้กระทรวงการคลัง
ตั้งแต่ปี 2536 กระทรวงการคลังก็ได้ทยอยโอนหุ้นให้กับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ทำให้ทิพยประกันภัยไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เป็นบริษัทเอกชน ที่รัฐวิสาหกิจถือหุ้นอยู่อีกทอดหนึ่ง
Cr. ทิพยประกันภัย
ทิพยประกันภัย ดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยทุกประเภท ได้แก่ การประกันอัคคีภัย, การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง, การประกันภัยรถยนต์, การประกันภัยเบ็ดเตล็ด
ถึงแม้จะเป็นเบอร์สองของตลาด แต่ในส่วนของการประกันอัคคีภัย และการประกันภัยเบ็ดเตล็ด บริษัทเป็นเจ้าตลาด
โดยธรรมชาติของธุรกิจประกัน บริษัทจะได้รับเบี้ยประกันภัยล่วงหน้าจากผู้ทำประกัน
แต่เงินก้อนนี้ยังไม่ได้ถูกเคลม ซึ่งเรียกว่า “FLOAT”
รอวันที่ผู้ทำประกันเกิดภัยแล้วมาเคลม
Cr. Insurance Information Institute
กว่าจะเคลมก็รอหลายเดือน หรืออาจไม่มีการเคลมเลย
และหากบริษัทสามารถเลี้ยงเบี้ยให้อยู่ได้ไปตลอด ก็อาจไม่มีวันจ่ายคืนเงินต้น
ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ทำประกันก็มักจะต่อสัญญาไปเรื่อยๆ ทำให้บริษัทได้รับค่าเบี้ยประกันเป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้บริษัทยังสามารถนำ FLOAT ก้อนนี้ไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพื่อหาผลตอบแทน เช่น หุ้น หรือ ตราสารหนี้
ลองมาดูผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ทิพยประกันภันภัย 5 อันดับแรก
1. ปตท. 13.33%
2. ธนาคารออมสิน 11.20%
3. ธนาคารกรุงไทย 10.00%
4. บริษัทกรุงไทยพานิชประกันภัย 9.99%
5. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 7.37%
พอเห็นผู้ถือหุ้นแล้ว ก็เดาได้ว่าบริษัทมีโอกาสได้งานรับประกันภัยในส่วนของภาครัฐ ทั้งการก่อสร้างต่างๆ, สนามบิน และยานพาหนะ ซึ่งรวมโอกาสการเข้าถึงลูกค้าของภาครัฐ เช่น การนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันสุขภาพ แก่ลูกค้าธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน
Cr. KTB
ทั้งหมดนี้ถือเป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคง เพราะมีโอกาสสูงที่จะได้รายรับต่อเนื่องทุกปี และบริษัทอาจไม่ต้องเสียค่าโฆษณาเพื่อหาลูกค้ามากเท่าบริษัทประกันอื่นๆ
นอกจากนี้ ภาคเอกชนเองก็ให้ความไว้วางใจ เพราะมองว่าเป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ และไม่น่าจะล้มง่ายๆ
ผลประกอบการบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ปี 2559 รายได้ 6,482 ล้านบาท กำไร 1,568 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 6,145 ล้านบาท กำไร 1,656 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 5,506 ล้านบาท กำไร 1,531 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าบริษัทมีอัตรากำไรสุทธิสูงถึง 27.8%
ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับธุรกิจทั่วไป
เรื่องทั้งหมด ถ้ามองผ่านๆ แล้ว เหมือนว่าทิพยประกันภัยจะเป็นเสือนอนกิน
ถึงแม้อัตรากำไรจะสูง แต่จุดอ่อนของบริษัทก็น่าจะเป็นการพึ่งพาภาครัฐมากเกินไป..
ต้องคอยมาลุ้นให้ภาครัฐมีโครงการใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลา หากไม่เป็นเช่นนั้น บริษัทก็อาจจะไม่เติบโต จะเห็นได้จาก รายได้และกำไรอยู่ในระดับเดิมในช่วงที่ผ่านมา
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความคาดหวังของนักลงทุน สำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้ชอบการเติบโต แต่ชอบบริษัทที่มีกำไรนิ่งๆ ให้เงินปันผล ก็อาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
ก็คงต้องติดตามกันต่อว่า เสือนอนกินตัวนี้ ต่อไปจะเป็นอย่างไร
หากอยากเติบโตขึ้น ก็อาจต้องลุกออกไปหาอาหารด้วยตัวเอง..
หมายเหตุ: บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเล่าเรื่องราวของธุรกิจ ไม่ได้มีเจตนาให้ซื้อ หรือ ขายหุ้นตัวนี้แต่อย่างใด การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป Blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-TIP Annual report 2018
-https://www.dhipaya.co.th/
-สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.