สรุปสถานะการเงินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย

สรุปสถานะการเงินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย

22 ก.ค. 2019
สรุปสถานะการเงินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย / โดย ลงทุนแมน
จุดเริ่มต้นของการรถไฟแห่งประเทศไทย
มาจนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 130 ปี
การพัฒนาของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้เป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ระบบการเดินทางด้วยรถไฟของไทยนั้น เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2433 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนากรมรถไฟขึ้น และทรงเปิดการเดินรถไฟครั้งแรกในปี 2436
การก่อตั้งระบบรถไฟของไทยในสมัยนั้น ก็เพื่อให้เมืองหลวงสามารถติดต่อกับพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลได้ง่ายและรวดเร็วกว่าการเดินทางด้วยเกวียน และการเดินทางโดยเรือซึ่งใช้เวลานาน
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ
แม้ระบบรถไฟของประเทศไทยจะเกิดขึ้นมาหลังประเทศญี่ปุ่นเพียงไม่กี่ปี
แต่การพัฒนาค่อนข้างล่าช้าพอสมควร
ปี 2494 ประเทศไทยมีทางรถไฟระยะทาง 3,377 กิโลเมตร
ปี 2561 ประเทศไทยมีทางรถไฟระยะทาง 4,070 กิโลเมตร
Cr. THAIPUBLICA
หมายความว่า ในระยะเวลา 67 ปี ระยะทางของทางรถไฟเพิ่มขึ้นเพียง 20%
ที่น่าสนใจคือ ทางรถไฟในประเทศไทยนั้น กว่า 91% เป็นการเดินรถทางเดียว
มีเพียง 9% เป็นการเดินรถ 2 ทาง หรือ 3 ทาง
ซึ่งระบบเดินรถทางเดียวนั้นมีอุปสรรคตรงที่ทำให้รถไฟขบวนหนึ่งต้องเสียเวลาหลบในช่วงที่รถไฟอีกขบวนจะเดินทางมา
เมื่อระยะทางไม่ครอบคลุมการเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ประกอบกับความล่าช้า การเดินทางด้วยรถไฟจึงยังไม่ใช่ตัวเลือกลำดับต้นๆ สำหรับการเดินทางของคนไทย
โดยรถยนต์ ยังเป็นพาหนะที่คนไทยนิยมใช้เดินทางมากที่สุด ซึ่งสัดส่วนการเดินทางของคนไทยตามยานพาหนะนั้น
97% เดินทางด้วยรถยนต์ เช่น รถยนต์ส่วนตัว รถโดยสารสาธารณะ
3% เดินทางด้วยรถไฟ เครื่องบิน และการเดินทางอื่นๆ
และที่น่าตกใจคือ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารรถไฟในประเทศไทย ลดลงกว่า 5.6 ล้านคน
ปี 2551 จำนวนผู้โดยสารรถไฟเท่ากับ 42.4 ล้านคน
ปี 2561 จำนวนผู้โดยสารรถไฟเท่ากับ 36.8 ล้านคน
Cr. THAIPUBLICA
นอกจากปริมาณผู้โดยสารที่ลดลง การรถไฟแห่งประเทศไทยยังมีความท้าทายอย่างอื่นที่รออยู่
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องบุคลากรในองค์กร โดยผู้ที่อายุ 40 ปี ขึ้นไป มีสัดส่วนถึง 73% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด ซึ่งอาจมีผลต่อการทำงานขององค์กร ถ้าพนักงานรุ่นใหม่ขึ้นมารับช่วงต่อไม่ทัน
ยังไม่รวมเครื่องมือและอุปกรณ์บางส่วนของรถไฟไทย ที่มีอายุการใช้งานมานาน จนอาจส่งผลต่อความปลอดภัยในการเดินทางของผู้โดยสาร
รายได้และกำไรของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ปี 2560 รายได้ 15,090 ล้านบาท ขาดทุน 10,568 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 15,770 ล้านบาท ขาดทุน 14,859 ล้านบาท
โดยในปี 2561 สัดส่วนรายได้ใหญ่สุด 3 อันดับแรก ของการรถไฟแห่งประเทศไทย คือ
1. รายได้จากการขนส่ง 5,763 ล้านบาท
2. รายได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล 3,857 ล้านบาท
3. รายได้จากการบริหารสินทรัพย์ 3,523 ล้านบาท
หลายคนคงสงสัยว่าการบริหารสินทรัพย์ ของการรถไฟคืออะไร?
เมื่อไปดูรายละเอียดก็พบว่า ส่วนใหญ่เป็นรายได้ค่าเช่าที่ดิน และค่าเช่าอาคาร ซึ่งการรถไฟเป็นเจ้าของที่ดินที่มีมูลค่าหลายแห่งในประเทศไทย ตัวอย่างเช่น เซ็นทรัลลาดพร้าว ก็เป็นที่ดินของการรถไฟ
Cr. Wongnai
ในโลกนี้
ถ้าเรามีธุรกิจอยู่ในมือ
ต่อให้เรามีรายได้มากแค่ไหน แต่ถ้าเราควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ได้
ผลลัพธ์ก็คือขาดทุน..
ปี 2561 รายการค่าใช้จ่ายใหญ่สุด 3 อันดับแรก ของการรถไฟแห่งประเทศไทย คือ
1. ค่าใช้จ่ายเดินรถขนส่ง 7,981 ล้านบาท
2. ค่าเสื่อมราคา 5,660 ล้านบาท
3. ค่าใช้จ่ายบำเหน็จและบำนาญ 4,317 ล้านบาท
เมื่อรวมรายการค่าใช้จ่ายทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้ว ตัวเลขมากกว่ารายได้ ผลที่ได้คือขาดทุน 14,859 ล้านบาท ซึ่งการขาดทุนแบบนี้เป็นการขาดทุนต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน จนทำให้เกิดหนี้พอกพูน สะสมขึ้นใน การรถไฟแห่งประเทศไทย
เมื่อค่าใช้จ่ายสูง มีหนี้สูง ก็ต้องมีดอกเบี้ยสูง ไม่มีเงินไปลงทุนเพิ่มเติม
เมื่อไม่ลงทุน รายได้ก็ไม่เพิ่ม วนเวียนเป็นปัญหาที่ยากจะหลุดพ้น
การรถไฟคงจำเป็นต้องร่วมทุนกับภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหานี้ ทั้งโครงการเดินรถใหม่ๆ และการพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ ไม่เช่นนั้นองค์กรนี้ก็จะต้องพึ่งพาการชดเชยจากภาครัฐไปอีกนาน
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปี 2561 การรถไฟแห่งประเทศไทยมีหนี้สินทั้งหมดมากถึง 604,450 ล้านบาท ตัวเลขนี้เป็น 3 เท่า ของงบประมาณกระทรวงคมนาคมทั้งกระทรวงที่ 183,733 ล้านบาท ในปี 2562
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป Blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-http://www.railway.co.th
-https://th.wikipedia.org/wiki/การรถไฟแห่งประเทศไทย
-https://en.wikipedia.org/wiki/Transport_in_Thailand
-https://www.prachachat.net/property/news-287611
-http://service.nso.go.th
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.