การทางพิเศษ รายได้เท่าไร

การทางพิเศษ รายได้เท่าไร

15 ก.ค. 2019
การทางพิเศษ รายได้เท่าไร / โดย ลงทุนแมน
เวลาเราขับรถขึ้นทางด่วน
เคยสงสัยไหมว่า ใครคือผู้ดูแลทางด่วนที่เราใช้บริการ
และที่สำคัญ ธุรกิจทางด่วน รายได้ดีไหม
วันนี้ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ผู้ที่ดูแลทางด่วนคือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงคมนาคม
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515
ปัจจุบัน เปิดให้บริการทางด่วนทั้งหมด 8 เส้นทางคือ ทางด่วนเฉลิมมหานคร ทางด่วนศรีรัช ทางด่วนฉลองรัช ทางด่วนบูรพาวิถี ทางด่วนอุดรรัถยา ทางด่วนบางนา-อาจณรงค์ ทางด่วนกาญจนาภิเษก และทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
โดยทางด่วนทั้ง 8 เส้นทางนั้น มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 224.6 กิโลเมตร
โดยทางด่วนเฉลิมมหานครเป็นทางด่วนที่มีปริมาณรถยนต์มาใช้บริการเฉลี่ยต่อวันมากที่สุดคือ 372,344 คัน
ขณะที่อัตราค่าทางด่วน มีราคาตั้งแต่ 10 บาท ไปจนถึง 300 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางและประเภทของรถที่มาใช้
Cr. Thairath
ลองมาดูสถิติรถยนต์ที่มาใช้ทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2552 - 2561
ปี 2552 จำนวนรถยนต์ที่มาใช้ทางด่วน 1.24 ล้านคัน
ปี 2557 จำนวนรถยนต์ที่มาใช้ทางด่วน 1.62 ล้านคัน
ปี 2561 จำนวนรถยนต์ที่มาใช้ทางด่วน 1.87 ล้านคัน
จากตัวเลขจะพบว่า ปริมาณรถยนต์ที่มาใช้บริการทางด่วนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
รายได้และกำไรของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
ปี 2560 รายได้ 17,555 ล้านบาท กำไร 9,539 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 17,597 ล้านบาท กำไร 5,798 ล้านบาท
กำไรที่ลดลงปีล่าสุด เนื่องจากในปี 2561 ค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มมาอยู่ที่ 5,444 ล้านบาท จาก 1,315 ล้านบาท ในปี 2560
แม้ว่ากำไรจะลดลง แต่ปัจจุบัน การทางพิเศษแห่งประเทศไทยก็ยังมีกำไรสะสมมากกว่า 44,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่เข้มแข็งรายหนึ่งในบรรดารัฐวิสาหกิจของไทย
อย่างไรก็ตาม ทางด่วนบางส่วนนั้น การทางพิเศษแห่งประเทศไทยก็ให้สัมปทานแก่เอกชนเพื่อไปบริหารจัดการ โดยบริษัทที่ได้รับสัมปทานทางด่วนก็คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งบริหารทางด่วน 4 เส้นทาง มีระยะทางทั้งสิ้น 87.5 กิโลเมตร
Cr. ข่าวหุ้น
โดยทาง BEM จะรับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางพิเศษในสัดส่วน 40% ขณะที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยรับส่วนแบ่งที่ 60% สำหรับค่าผ่านทางในเขตเมือง ส่วนค่าผ่านทางนอกเขตเมือง BEM จะรับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมด
โดยในปี 2561 บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มีรายได้ 19,087 ล้านบาท และมีกำไร 5,317 ล้านบาท โดยรายได้จากทางด่วนคิดเป็น 53.3% ของรายได้รวม
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่าในปี 2561 ถนนในกรุงเทพฯ นั้น มีความยาวรวมกันทั้งหมดเท่ากับ 5,500 กิโลเมตร มีปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียนสะสมสูงกว่า 10.2 ล้านคัน และมีการจดทะเบียนรถยนต์ใหม่วันละ 1,517 คัน
ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น จึงทำให้มีจำนวนรถยนต์ที่มาใช้ทางด่วนเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่ความเร็วเฉลี่ยในชั่วโมงเร่งด่วนตอนเช้ามีความเร็วเท่ากับ 23.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และตอนเย็นเท่ากับ 16.1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทำให้กรุงเทพฯ นั้นนับเป็นหนึ่งในเมืองที่มีรถติดมากที่สุดในโลก
พอเรื่องเป็นแบบนี้ กรุงเทพฯ ของเราจึงสูญเสียต้นทุนค่าเชื้อเพลิงจากปัญหาการจราจรติดขัดปีละกว่า 35,000 ล้านบาท เลยทีเดียว..
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป Blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-http://www.exat.co.th/index.php/th/ศูนย์ข่าวกทพ/รายงานประจำปี/item/รายงานประจำปี-2561.html
-http://www.exat.co.th/index.php/th/การบริการ/อัตราค่าผ่านทาง.html
-http://www.exat.co.th/images/733/2562/_2561.pdf
-รายงานประจำปี 2561 บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
-https://en.wikipedia.org/wiki/Transport_in_Bangkok
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.