ธุรกิจฮาร์ดแวร์ กำลังเหนื่อย จากสงครามการค้า

ธุรกิจฮาร์ดแวร์ กำลังเหนื่อย จากสงครามการค้า

24 ก.ค. 2019
ธุรกิจฮาร์ดแวร์ กำลังเหนื่อย จากสงครามการค้า / โดย ลงทุนแมน
เทคโนโลยีกำลังทำให้โลกของเรา
ไม่มีเส้นกั้นระหว่างประเทศ..
ทุกๆ 60 วินาทีบนโลกอินเทอร์เน็ต คนทั่วโลกจะ..
ส่งข้อความบน WhatsApp 38 ล้านข้อความ
ค้นหาผ่าน Google 3.7 ล้านครั้ง
เข้าสู่ระบบ Facebook 973,000 ครั้ง
ซอฟต์แวร์เหล่านี้ ทำให้เราติดต่อสื่อสารได้มากขึ้น เข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น
และเราสามารถรู้เรื่องราวของเพื่อนที่อยู่อีกซีกโลกในเวลาเพียงไม่กี่วินาที
แต่เรื่องนี้กลับตรงกันข้าม
สำหรับธุรกิจฮาร์ดแวร์อย่าง Samsung, Huawei และ Apple
ที่กำลังมีเส้นกั้นระหว่างประเทศหนาขึ้นเรื่อยๆ
บริษัทเหล่านี้ กำลังลดการพึ่งพาวัตถุดิบ และชิ้นส่วนจากประเทศอื่นๆ
แล้วเรื่องราวทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นมาจากอะไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
สงครามการค้า สู่ สงครามเทคโนโลยี เป็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ระหว่างประเทศเจ้าของเทคโนโลยี กับ ประเทศส่งออกวัตถุดิบสำคัญ
เริ่มจากสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน
และตอนนี้อีกหนึ่งคู่ก็คือ ประเทศญี่ปุ่นและประเทศเกาหลีใต้..
ต้นเดือนที่ผ่านมา..
ประเทศญี่ปุ่นจำกัดการส่งออกสารเคมีสำคัญ 3 ชนิดไปยังประเทศเกาหลีใต้
โดย ผู้ส่งออกจะต้องได้รับอนุญาตทุกครั้งซึ่งใช้เวลาประมาณ 90 วัน สารเคมีนั้น ได้แก่
Photoresists
Hydrogen Fluoride
Fluorinated Polyimides
สารเคมีชื่อที่เราไม่คุ้น 3 ชนิดนี้เป็นส่วนสำคัญในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และหน้าจอสมาร์ตโฟน
ซึ่งบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 90% ของการส่งออกทั่วโลก
Cr. CNBC
จากเรื่องดังกล่าว ส่งผลให้ธุรกิจของ Samsung Electronics
บริษัทใหญ่สุดในประเทศเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบเต็มๆ..
ธุรกิจผลิตเซมิคอนดักเตอร์ใหญ่สุดในโลกคือ Samsung Electronics โดยรายได้เฉพาะธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ปี 2018 เป็นดังนี้
Samsung (เกาหลีใต้) 2.4 ล้านล้านบาท
Intel (สหรัฐอเมริกา) 2.2 ล้านล้านบาท
TSMC (ไต้หวัน) 1.1 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้ Samsung ยังเป็นผู้นำนวัตกรรมจอ OLED
โดยรายได้ทุกๆ 100 บาทของธุรกิจจอ OLED เป็นของ Samsung กว่า 93 บาท..
การกีดกันของประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นความเสี่ยงในสายการผลิตของ Samsung
และครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก..
ก่อนหน้านี้ สงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน
ทำให้บริษัท Huawei เจอความเสี่ยงในการพัฒนาชิปสมาร์ตโฟนในอนาคต
หากเราจำกันได้ บริษัท Arm Holdings เจ้าของสิทธิบัตรที่เป็นหัวใจในการพัฒนาชิป Kirin ของ Huawei ประกาศยกเลิกการค้าระหว่างกัน..
Cr. Reuters
ทั้ง 2 เรื่องนี้กำลังแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจฮาร์ดแวร์อาจจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศน้อยลง และ พัฒนาเทคโนโลยีสำคัญเองทั้งหมดเพื่อปิดความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม
ส่วนแบ่งการตลาดของทั้งสารเคมีจากประเทศญี่ปุ่น
และสิทธิบัตรผลิตชิปของ Arm ที่สูงถึง 90%
ก็อาจกลายเป็นเรื่องยากที่จะหาอะไรมาทดแทนในเวลาสั้นๆ
เราอาจได้เห็นรายได้ของบริษัท Samsung และ Huawei ลดลง เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ
นอกจากนี้ ต้นทุนสินค้าทดแทน
และการลงทุนเพื่อย้ายฐานการผลิต
ก็อาจส่งผลให้ค่าใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้กำไรลดลง
ซึ่งบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ก็มีโอกาสปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น..
ในทางกลับกัน บริษัทผู้ส่งออกวัตถุดิบก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย
เนื่องจากคู่ค้าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีกำลังซื้อสูง
ในระยะยาว หากบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและหาวัตถุดิบทดแทนในประเทศได้
ระบบซัพพลายเชนของสินค้าเทคโนโลยีในอนาคต ก็อาจจะเป็นของประเทศใคร ประเทศมัน..
อินเทอร์เน็ต และธุรกิจซอฟต์แวร์ กำลังเติบโตโดยมีจุดประสงค์ให้คนทั่วโลกเชื่อมถึงกัน
แต่ธุรกิจฮาร์ดแวร์มีแนวโน้มที่จะเติบโตในทางตรงกันข้าม
ยิ่งการกีดกันทางการค้ายืดระยะเวลาไปนานเท่าไหร่
ก็ดูเหมือนโลกของฮาร์ดแวร์ จะออกห่างจากกันมากขึ้นเท่านั้น..
Cr. Nikkei Asian Review
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.