สรุป Spotify แอพที่กำลังมาแรงในไทย

สรุป Spotify แอพที่กำลังมาแรงในไทย

28 ส.ค. 2017
ใครจะรู้ว่า Spotify
ก็คือตัวอย่างของ AI ที่เข้ามาหาเราโดยไม่รู้ตัว..
สัปดาห์ที่แล้ว Spotify เปิดตัวในไทย
ทำให้มียอดดาวโหลดมากกว่าแอพยอดนิยมอย่าง เฟซบุ๊ค และไลน์ (นับเฉพาะสัปดาห์ที่แล้ว)
ณ เวลานี้ เชื่อว่าใครหลายๆคนคงได้ยินชื่อแอพพลิเคชั่น “Spotify” กัน
แต่หลายคนยังสงสัยว่ามันคืออะไร วันนี้จะมาเล่าให้ฟัง
Spotify คือ platform การฟังเพลงออนไลน์สัญชาติสวีเดนที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก
ผู้ใช้งานสามารถฟังเพลงได้ทั้งบนโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแม้กระทั่งใน smart TV
Spotify ก่อตั้งโดยคุณ Daniel Ek และคุณ Martin Lorentzon เมื่อปี 2006
ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการทำให้การฟังเพลงแบบถูกกฎหมายนั้นเข้าถึงได้
ปัจจุบันให้บริการในกว่า 60 ประเทศ และพึ่งเปิดตัวในเมืองไทยเมื่อวันที่ 22 ส.ค ที่ผ่านมา
หากเทียบกับคู่แข่งชื่อดังอย่าง Apple music และ JOOX ที่เราคุ้นเคยแล้วนั้น
Spotify ยังทิ้งห่างคู่แข่งชื่อดังเหล่านี้อย่างเห็นได้ชัด
โดย Spotify มีผู้ใช้งานทั้งหมด 140 ล้านคน โดย 60 ล้านคนในจำนวนนั้นเป็นสมาชิกแบบเสียเงิน
ในขณะที่คู่แข่งอย่าง Apple Music และ JOOX มีผู้ใช้งานทั้งหมดเพียง 27 และ 22 ล้านคนตามลำดับ
อะไรทำให้ Spotify ได้รับความนิยมมากขนาดนี้ ?
แอพที่ไว้ฟังเพลงมีเกลื่อนเต็มไปหมด แต่อะไรที่ทำให้ Spotify แตกต่าง?
จำนวนเพลงในระบบ? คุณภาพเสียง? ลูกเล่นต่างๆในแอพพลิเคชั่น?
ถูกต้อง แต่ไม่ทั้งหมด..
จริงๆแล้ว สิ่งเหล่านี้แทบทุกเจ้ามีให้ใกล้เคียงกัน
แต่ Spotify ให้มากกว่านั้น ผ่านการใช้ A.I. หรือ Artificial Intelligence
A.I. สำคัญกับการฟังเพลงยังไง มาลองมองดูในมุมนี้
Spotify และ Apple Music ต่างมีเพลงในระบบมากกว่า 30 ล้านเพลง
หากจะฟังทั้ง 30 ล้านเพลง เราต้องใช้เวลาถึง 273 ปีกว่าจะฟังหมด!
หมายความว่ายังไงเราก็ไม่มีทางฟังได้ทุกเพลงที่ app เหล่านี้มีอยู่แล้ว
Spotify จึงใช้ระบบ A.I. เพื่อวิเคราะห์การฟังเพลงของเรา
และสร้าง playlist ที่เป็นแบบ personalized หรือหมายถึงเป็นอัลบั้มเพลงของเราคนเดียวเท่านั้นจากกว่า 30 ล้านเพลงในระบบ
แล้ว Spotify รู้ได้ยังไงว่าเราชอบเพลงแนวไหน?
ระบบ Machine learning ของ Spotify จะสังเกตพฤติกรรมของเรา ผ่านการดูว่าเราฟังเพลงไหนซ้ำ หรือกดข้ามเพลงแนวไหนบ่อยๆ
และที่สำคัญคือดูเพลงใน “playlist” หรืออัลบั้มส่วนตัวที่เราสร้างขึ้นมา แล้วนำไปเทียบกับ playlist ของผู้ใช้คนอื่นอีกกว่า 140 ล้านคนทั่วโลก
ยกตัวอย่างเช่น เราและเพื่อนของเรา มีเพลงใน playlist ร่วมกัน 2 เพลง
Spotify ก็จะแนะนำเพลงที่ 3 ที่เพื่อนมี แต่เราไม่มี ให้เราฟัง เพราะมีความเป็นไปได้ที่เราจะชอบแนวเพลงนั้นๆนั่นเอง
Spotify ไม่ใช่คนแรกที่นำเทคโนโลยี A.I. มาใช้ในการฟังเพลง
หลายคนอาจเคยได้ยิน “Pandora Radio” คู่แข่งอีกหนึ่งเจ้าของ Spotify
Pandora เป็นผู้บุกเบิกการนำ A.I มาใช้โดยเริ่มจากนำเสนอเพลงให้ผู้ใช้งานฟัง
แล้วให้ผู้ใช้งานกด thumbs up (ชอบ) หรือ thumbs down (ไม่ชอบ)
จากนั้นจึงนำข้อมูลไปวิเคราะห์หาแนวเพลงที่ผู้ใช้งานคนนั้นๆชอบฟังมากที่สุดนั่นเอง
Spotify มีโมเดลการหาเงินอย่างไร?
Spotify ใช้กลยุทธ์การตั้งราคาแบบ “Freemium”
ซึ่งมาจาก Free + Premium
หมายความว่าบริการพื้นฐานนั้นฟรี แต่หากผู้ใช้ต้องการสิ่งที่เหนือกว่านั้นจะต้องเสียเงิน
เช่น ไม่ต้องการฟังโฆษณาคั่นระหว่างเพลง ต้องการฟังเพลงแบบไม่ต้องใช้อินเตอร์เน็ต
หรือต้องการคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด ก็จะต้องเสียเงินเพิ่มเติม
ตัวอย่างธุรกิจอื่นที่ใช้โมเดลนี้ก็คือ “Skype”
หากต้องการใช้งานเพียง video call ระหว่าง 2 คนก็จะฟรี แต่หากจะประชุมสายหลายๆคนก็ต้องเสียเงินนั่นเอง
รายได้หลักของ Spotify มาจาก การเก็บเงินค่าสมาชิก และ การขายโฆษณา
โดยในประเทศไทย ผู้ใช้งานจะเสียค่าสมาชิกเดือนละ 129 บาท หรือสมัครแบบใช้งานทั้งครอบครัวเสีย 199 บาท ใช้ได้ 6 คน
ส่วนการขายโฆษณานั้นจะมีหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น
เสียงโฆษณาคั่นระหว่างเพลงทุกๆ 15 นาที หรือ การให้สมาชิกรับชม video จาก sponsor เพื่อให้สิทธิ์สมาชิกสามารถฟังเพลงแบบ premium ได้ หรือมีป้าย banner โฆษณาสินค้าต่างๆ โดยถือว่าเป็นการสร้างรายได้ในลักษณะทั่วไปของธุรกิจประเภทนี้
ตั้งแต่เริ่มต้นกิจการมา Spotify มีรายได้ที่โตอย่างก้าวกระโดด
ปี 2010 มีรายได้ 2,930 ล้านบาท
ปี 2012 มีรายได้ 17,028 ล้านบาท
ปี 2014 มีรายได้ 42,966 ล้านบาท
ปี 2016 มีรายได้ 116,186 ล้านบาท
โดยมีมูลค่าบริษัทสูงถึงกว่า 4.3 แสนล้านบาท ถ้าเทียบแล้วบริษัทนี้ใหญ่พอๆกับ มูลค่าบริษัทของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ทั้งบริษัท
Spotify ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงเตรียมตัวเข้าเทรดในตลาดหุ้น
มีรายงานว่า Spotify อาจจะไม่ใช่วิธี IPO แบบปกติ
แต่จะใช้วิธี Direct listing แทน ซึ่งเป็นวิธีที่พบได้น้อยมาก
มากเสียจนอาจารย์ที่สอนด้านการเงินบางคนไม่เคยสอนนักศึกษาเรื่องนี้ด้วยซ้ำ....
Direct Listing คือวิธีการเข้าเทรดในตลาดหุ้นโดยตรง ไม่ผ่าน underwriter
หาก IPO คือการจัดงานแต่งยิ่งใหญ่ออกสื่อ
Direct Listing ก็เปรียบเสมือนการหนีตามกันของหนุ่มสาว
ผลลัพธ์ออกมาเหมือนกัน แต่ขั้นตอนสั้นกว่า และค่าใช้จ่ายน้อยกว่า
ราคาหุ้นจะเป็นไปตามกลไกตลาดตั้งแต่วันแรกที่เปิดเทรด
นั่นอาจเป็นข้อดี แต่ก็เป็นความเสี่ยงในขณะเดียวกัน
เพราะไม่มีอะไรการันตีว่าจะได้ทุนเพิ่มเหมือนการทำ IPO
Spotify จะครองตลาดเมืองไทยหรือไม่?
ปัจจุบัน JOOX เป็นเจ้าตลาดวงการ streaming music ในประเทศไทยอยู่
ด้วยฟีเจอร์ และ จำนวนเพลงไทยที่มากที่สุด ครบทุกค่ายชื่อดังในเมืองไทย
แต่หากเป็นการใช้บริการแบบไม่เสียเงินแล้วนั้น Spotify สามารถให้ได้มากกว่า JOOX อย่างเห็นได้ชัด เพราะ Spotify ให้สมาชิกสามารถฟังได้ทุกเพลงที่มีในระบบ
ต่างจาก JOOX ที่จำกัดบางเพลงไว้สำหรับสมาชิกแบบเสียเงิน
คนไทยชอบของฟรี แล้วถ้ายิ่งของฟรีนั้นดีกว่าเก่า ก็ไม่ยากเลยถ้า Spotify จะครองใจคนไทยในอนาคต
สุดท้ายแล้ว ถึงแม้ว่าเรื่องราวจะดูชวนฝันไปซะทุกอย่าง แต่บริษัท Spotify ก็ยังมีกำไรสุทธิที่ติดลบอยู่..
อย่างไรก็ตาม facebook amazon ตอนแรกก็ไม่มีกำไรเหมือนกัน สำหรับ Spotify แล้ว นักลงทุนก็คงไม่ได้สนใจแค่กำไรเช่นกัน..
ถ่ึงแม้ว่าตอนนี้ facebook amazon จะทำกำไรได้แล้ว
แต่นักลงทุนบางคนก็อาจจะลืมคิดไปว่า มีบริษัทจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่ตอนแรกไม่มีกำไร เมื่อเวลาผ่านไป ก็ยังไม่มีกำไรอยู่ดี..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.