ปตท. กับ ปิโตรนาส ใครใหญ่กว่ากัน?

ปตท. กับ ปิโตรนาส ใครใหญ่กว่ากัน?

22 ส.ค. 2019
ปตท. กับ ปิโตรนาส ใครใหญ่กว่ากัน? / โดย ลงทุนแมน
บริษัทพลังงานแห่งชาติของไทย คือ ปตท.
บริษัทพลังงานแห่งชาติของมาเลเซีย คือ ปิโตรนาส
ทั้งคู่ดำเนินธุรกิจในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน และตั้งอยู่ในประเทศที่มีอาณาเขตเป็นเพื่อนบ้านกัน
แต่คำถามที่ทุกคนคงสงสัย
จริงๆ แล้ว 2 บริษัทนี้ ใครใหญ่กว่ากัน?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ปิโตรนาส ก่อตั้งขึ้นมาก่อน เมื่อปี ค.ศ. 1974 หรือ 45 ปีที่แล้ว
โดยเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจ มีเจ้าของเพียงคนเดียวคือรัฐบาลมาเลเซีย
ปตท. ก่อตั้งขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน เมื่อปี ค.ศ. 1978 หรือ 41 ปีที่แล้ว
เริ่มแรกเป็นบริษัทรัฐวิสาหกิจเช่นกัน แต่ต่อมาได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% คือ กระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการตั้งทั้ง 2 บริษัทคือ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
เนื่องจากในอดีต ได้เกิดเหตุการณ์น้ำมันโลกขาดแคลน จากวิกฤติการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น การสำรวจปิโตรเลียม ต้องพึ่งพาต่างชาติตลอด
และต่อมา ทั้งคู่ก็ได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง จนก้าวขึ้นเป็นบริษัทพลังงานระดับชั้นนำ
โดยมีการขยายกิจการครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียม ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น สำรวจและผลิต, โรงกลั่นน้ำมัน, โรงปิโตรเคมี, สถานีบริการค้าปลีกน้ำมัน และก๊าซ
Cr. World Finance
แล้วใครมีแหล่งทรัพยากรมากกว่ากัน?
ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ณ สิ้นปี 2018
ประเทศไทย
มีปริมาณน้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้ว 300 ล้านบาร์เรล (ใช้ได้ 2 ปี)
มีกำลังผลิตน้ำมัน วันละ 0.49 ล้านบาร์เรล
มีความต้องการใช้น้ำมัน วันละ 1.48 ล้านบาร์เรล
และมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองที่พิสูจน์แล้ว 2 แสนล้านลูกบาศก์เมตร (ใช้ได้ 5 ปี)
มีกำลังผลิตก๊าซ วันละ 3.8 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร
มีความต้องการใช้ก๊าซ วันละ 4.9 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร
ทำให้โดยสุทธิแล้ว ไทยเป็นผู้นำเข้าพลังงาน
Cr. Myanmar Business Today
ประเทศมาเลเซีย
มีปริมาณน้ำมันสำรองที่พิสูจน์แล้ว อยู่ที่ 3,000 ล้านบาร์เรล (ใช้ได้ 12 ปี)
มีกำลังผลิตน้ำมัน วันละ 0.68 ล้านบาร์เรล
มีความต้องการใช้น้ำมัน วันละ 0.81 ล้านบาร์เรล
และมีปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองที่พิสูจน์แล้ว 2.4 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร (ใช้ได้ 33 ปี)
มีกำลังผลิตก๊าซ วันละ 7.3 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร
มีความต้องการใช้ก๊าซ วันละ 4.1 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร
ทำให้โดยสุทธิแล้ว มาเลเซียเป็นผู้ส่งออกพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ
Cr. National Journal
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผลประกอบการของทั้ง 2 บริษัทพลังงานแห่งชาติเป็นอย่างไร?
ปตท.
ปี 2017 รายได้ 2.0 ล้านล้านบาท กำไร 1.3 แสนล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 2.3 ล้านล้านบาท กำไร 1.2 แสนล้านบาท
ปิโตรนาส
ปี 2017 รายได้ 1.7 ล้านล้านบาท กำไร 3.4 แสนล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 1.9 ล้านล้านบาท กำไร 4.1 แสนล้านบาท
จะเห็นได้ว่า ปตท. มีรายได้สูงกว่า
แต่ปิโตรนาส กลับมีกำไรที่สูงกว่าหลายเท่า
สาเหตุหลักมาจาก 2 บริษัทนี้มีโครงสร้างรายได้ และความสามารถในการทำกำไรที่แตกต่างกัน
ประเทศไทยบริโภคพลังงานมากกว่า จึงมีฐานยอดขายที่สูงกว่า
แต่ผลิตเองไม่พอใช้ เลยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีกำไรน้อย
สัดส่วนรายได้ของ ปตท. ปี 2018
34% มาจาก ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ
31% มาจาก ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น
16% มาจาก ธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีก
13% มาจาก ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
5% มาจาก ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม
Cr. PTT International Trading
นอกจากนี้ เจ้าของแหล่งปิโตรเลียมในไทย เป็นสิทธิ์ของรัฐบาล ซึ่งเปิดให้เอกชนแข่งกันยื่นขอสัมปทาน และต้องแบ่งผลประโยชน์ให้รัฐตามที่ตกลงกัน
โดย ปตท.สผ. บริษัทลูกของ ปตท. เป็นแค่หนึ่งในผู้รับสัมปทาน มีกำลังผลิตราว 34% ของทั้งหมด
ในขณะที่มาเลเซีย มีทรัพยากรมากกว่า สามารถผลิตเพื่อส่งออกได้ และสิทธิ์ในแหล่งปิโตรเลียมทั้งหมดยังเป็นของปิโตรนาสที่เป็นรัฐวิสาหกิจ จึงทำให้มีส่วนต่างกำไรค่อนข้างมาก
สัดส่วนรายได้ของ ปิโตรนาส ปี 2018
45% มาจาก ธุรกิจต้นน้ำ (เช่น สำรวจและผลิต)
49% มาจาก ธุรกิจปลายน้ำ (เช่น ปิโตรเคมี, สถานีบริการ)
โดยที่การส่งออกของปิโตรนาส คิดเป็น 39% ของรายได้ มากกว่าการขายในประเทศที่อยู่ที่ 29%
Cr. KwikNews
ด้วยเหตุผลทั้งหมด แม้ ปตท. จะมีรายได้มากกว่า แต่ถ้าเทียบกันที่มูลค่าบริษัท จริงๆ แล้ว ปิโตรนาส มีขนาดใหญ่กว่ามาก
มูลค่าทรัพย์สินบริษัท ณ สิ้นปี 2018
ปตท. อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท
ปิโตรนาส อยู่ที่ 4.7 ล้านล้านบาท
มูลค่าตลาดของบริษัท (Market Cap)
ปตท. อยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท
ส่วนปิโตรนาสบริษัทแม่ ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ได้นำบริษัทลูก 3 ราย เข้ามาระดมทุน ได้แก่
Petronas Chemicals Group มูลค่า 4.4 แสนล้านบาท
Petronas Gas มูลค่า 2.4 แสนล้านบาท
Petronas Dagangan มูลค่า 1.7 แสนล้านบาท
รวมแล้วบริษัทลูกปิโตรนาสในตลาดหุ้น จะมีมูลค่า 8.5 แสนล้านบาท
แต่ด้วยกำไรทั้งหมดของกลุ่มปิโตรนาส ถ้าอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และซื้อขายกันด้วย P/E อย่างน้อย 10 เท่า ก็น่าจะมีมูลค่าเกิน 4 ล้านล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่า ปตท. อย่างน้อย 3 เท่า
เรื่องนี้สรุปได้ว่า
ถ้าเทียบกันที่รายได้ ปตท. จะใหญ่กว่า ปิโตรนาส
ถ้าเทียบกันที่มูลค่าบริษัท ปิโตรนาส จะใหญ่กว่า ปตท.
แต่เรื่องที่สำคัญกว่าคือ จากจุดเริ่มต้นมาถึงปัจจุบัน ทั้งคู่ได้พัฒนาขึ้นเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำเหมือนๆ กัน
ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์ที่สุด คือประชาชนในประเทศ
ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
ถ้า 2 ประเทศนี้ไม่ตั้งบริษัทพลังงานขึ้นมา
ในวันนี้ก็คงต้องพึ่งพาต่างชาติ และคงมีอุปสรรคในเรื่องพลังงานกว่าตอนนี้..
----------------------
Blockdit แอปที่เป็นเหมือน คลังความรู้ขนาดใหญ่ อ่านฟรี
โหลดเลย Blockdit.com/download
----------------------
References
-Annual Report ปี 2018 ปตท.
-Annual Report ปี 2018 ปิโตรนาส
-https://www.petronas.com/ws/sites/default/files/downloads/Financial%20Report%20Financial%20Year%20Ended%2031%20December%202018%20%28FY2018%29.pdf
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Petronas
-https://www.bp.com/content/dam/bp/business-sites/en/global/corporate/pdfs/energy-economics/statistical-review/bp-stats-review-2019-full-report.pdf
-https://www.pttep.com/th/Investorrelations/Eventsandpresentations/download.aspx?File=642&Event=4120
-http://www.pttplc.com/th/Media-Center/ptt-hot-issue/Documents/Corporate%20Issue/ทำไมปิโตรนาสกำไรมากกว่า%20ปตท.%20แต่ขายน้ำมันได้ถูกกว่าไทย.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.