ใครเป็นเจ้าของ GET?

ใครเป็นเจ้าของ GET?

27 ส.ค. 2019
ใครเป็นเจ้าของ GET? / โดย ลงทุนแมน
แอปส่งของ ส่งอาหาร
ชื่อที่เรานึกถึงในตอนนี้คือ Grab และ GET
Grab มาจากประเทศมาเลเซีย
และ GET จากประเทศอินโดนีเซีย
ก่อนหน้านี้เรารู้จัก Grab แต่ระยะหลัง GET เพิ่งเริ่มได้ยิน
GET มาจากไหน ใครเป็นเจ้าของ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
รู้หรือไม่ว่า ทั้ง Grab และ GET ก้าวข้ามการเป็นสตาร์ตอัปยูนิคอร์น (มูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
กลายมาเป็น เดเคคอร์น (มูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็คือ 3 แสนล้านบาท มีมูลค่าประมาณธนาคารขนาดใหญ่ในไทย
หลายคนคงคุ้นเคยกับ Grab กันดี
เพราะเป็นแพลตฟอร์มเรียกรถที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยมาแล้วกว่า 7 ปี
ส่วน GET เริ่มเข้ามาเมื่อปีที่แล้ว
จริงๆ GET ในอินโดนีเซียมีชื่อว่า GO-JEK
GO-JEK มาจากคำว่า GO ภาษาอังกฤษ
และ OJEK ภาษาอินโดนีเซีย ที่แปลว่า วินมอเตอร์ไซค์
บริษัท GO-JEK ก่อตั้งโดยคุณ Nadiem Makarim หนุ่มชาวอินโดนีเซียอายุ 35 ปี
Cr. DealStreetAsia
เขาเคยเป็นนักศึกษาที่ Harvard Business School
และเคยทำงานในบริษัท McKinsey & Company
แนวคิดของเขาในการทำแพลตฟอร์มเรียกรถ
เกิดมาจากปัญหาการจราจรในประเทศอินโดนีเซีย
ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ..
คนขับวินมอเตอร์ไซค์ เสียเวลาหาลูกค้า
ส่วนลูกค้าบางคน อยากนั่งวินแต่ก็ไม่สามารถหาได้ในทันที
พอเรื่องเป็นแบบนี้ แพลตฟอร์ม GO-JEK จึงถูกพัฒนามาเป็นตัวกลาง
ในการจับคู่ระหว่าง คนขับ กับ คนเรียก
Cr. Reuters
เมื่อปัญหาถูกแก้ได้ตรงจุด GO-JEK จึงโตระเบิด
รู้ไหมว่า วันแรกบริษัท GO-JEK มีคนขับวินมอเตอร์ไซค์เพียง 20 คน..
ผ่านมา 9 ปี
GO-JEK มีคนขับวินมอเตอร์ไซค์ 1 ล้านคน
มีผู้ใช้งานแพลตฟอร์ม 25 ล้านคน ต่อเดือน
มียอดการใช้งาน 100 ล้านครั้ง ต่อเดือน
และยังต่อยอดไปยังธุรกิจเรียกรถยนต์, ส่งของ, จ่ายเงิน, จ้างแม่บ้าน และอื่นๆ รวม 20 บริการ..
เรื่องนี้จึงทำให้ GO-JEK ได้รับการระดมทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เช่น Google, Tencent, JD.com
ส่งผลให้บริษัทมีทุนในการขยายธุรกิจไปประเทศต่างๆ เช่น
สิงคโปร์ ภายใต้แบรนด์ GO-JEK
เวียดนาม ภายใต้แบรนด์ GO-VIET
ไทย ภายใต้แบรนด์ GET
และที่น่าสนใจคือ กลยุทธ์การเติบโตในตลาดต่างประเทศที่ให้ผู้บริหารเป็นคนท้องถิ่นในประเทศต่างๆ เพราะในแต่ละประเทศ คนท้องถิ่นน่าจะเข้าใจกันเองมากที่สุด
ประเทศสิงคโปร์ เริ่มรุกตลาดแพลตฟอร์มเรียกรถยนต์
Cr. Nikkei Asian Review
ในขณะที่ ประเทศเวียดนาม และประเทศไทย เริ่มต้นจากแพลตฟอร์มเรียกวินมอเตอร์ไซค์
สำหรับผู้บริหาร GET ในประเทศไทยนำโดย
คุณภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ อดีตผู้บริหาร LINE MAN
คุณก่อลาภ สุวัชรังกูร อดีตผู้บริหาร LINE MAN
และคุณอดิศร กาญจนวรงค์ อดีตผู้บริหาร LALAMOVE
ปัจจุบัน GO-JEK ได้รับการระดมทุนไปแล้วกว่า 9.5 หมื่นล้านบาท และถูกประเมินมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 3.4 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นยูนิคอร์น และเดเคคอร์นตัวแรกในประเทศอินโดนีเซีย..
ก็น่าสนใจว่า GET ที่เข้ามารุกตลาดในประเทศไทย
หลังจาก Grab ที่อยู่ตลาดนี้มาแล้วหลายปี
GET จะตาม Grab ได้ทันหรือไม่?
Cr. TechCrunch
รวมไปถึงการต่อยอดธุรกิจบริการต่างๆ เช่น บริการส่งของ บริการดิลิเวอรีอาหาร และการให้สินเชื่อดิจิทัล
บริการทั้งหมดนี้ก็น่าจะทำให้คนไทยสะดวกสบายมากขึ้น
ที่น่าเสียดายคือ แพลตฟอร์มเหล่านี้มีมอเตอร์ไซค์ที่เข้าร่วมเป็นคนไทย ผู้ใช้บริการเป็นคนไทย แม้แต่ผู้บริหารแพลตฟอร์มก็เป็นคนไทย
แต่กลับไม่มีบริษัทไหนเลย ที่เป็นของคนไทยจริงๆ..
----------------------
Blockdit แอปที่เป็นเหมือน คลังความรู้ขนาดใหญ่ อ่านฟรี
โหลดเลย Blockdit.com/download
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.