วิธีทำให้ ขสมก. กลับมามีกำไร

วิธีทำให้ ขสมก. กลับมามีกำไร

3 ต.ค. 2019
วิธีทำให้ ขสมก. กลับมามีกำไร / โดย ลงทุนแมน
ขสมก. อาจจะย่อมาจาก.. องค์กรขาดทุนสะสมมากสุดในกรุงเทพฯ
เรามาดูมูลค่าขาดทุนสะสมของ ขสมก.
ปี 2560 ขาดทุนสะสม 110,550 ล้านบาท
ปี 2561 ขาดทุนสะสม 116,725 ล้านบาท
ทั้งๆ ที่ ธุรกิจรถเมล์ ขสมก. ดูเหมือนจะผูกขาด แต่กลับมีมูลค่าการขาดทุนสะสมระดับแสนล้าน และมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี..
แล้วเรื่องนี้จะแก้ไขได้อย่างไร
เมื่อเร็วๆนี้ ขสมก. เริ่มมีระบบไร้เงินสด รับเงินค่าโดยสาร
อะไรคือเหตุผลที่ซ่อนอยู่ของเรื่องนี้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จากมูลค่าการขาดทุนสะสมระดับแสนล้าน..
ก็ต้องบอกว่า เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาเรื้อรังระดับชาติ
ถ้าเป็นธุรกิจทั่วไป เราอาจมองว่าวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ ก็คือ การขึ้นราคาตั๋ว
แต่สำหรับ ขสมก. อาจทำได้ยาก เพราะถือเป็นการเดินทางที่ถูกสุดของคนกรุงเทพฯ
ถ้าขึ้นราคา ก็กระทบกับคนจำนวนมากได้
แล้วตอนนี้สถานการณ์ ขสมก. เป็นอย่างไรบ้าง?
ปี 2561 รายได้ 7,046 ล้านบาท ขาดทุน 6,175 ล้านบาท
คำถามคือ.. ทำไม ขสมก. ขาดทุนหนักขนาดนี้?
สาเหตุของเรื่องนี้ ก็คือ ต้นทุนการเดินรถ และปริมาณหนี้มหาศาล..
ต้นทุนการเดินรถคืออะไร?
สำหรับต้นทุนการเดินรถ ขสมก. มาจาก
อันดับ 1 เงินเดือนและผลประโยชน์พนักงาน 4,402 ล้านบาท
อันดับ 2 ค่าเดินรถโดยตรง 2,730 ล้านบาท
คิดเป็นมูลค่าต้นทุนการเดินรถรวมทั้งหมด 7,132 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ารายได้เสียอีก
จากตัวเลขข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า
ปัจจุบัน ทุกครั้งที่รถเมล์ ขสมก. ออกวิ่ง องค์กรก็เริ่มขาดทุนแล้ว..
นอกจากต้นทุนเดินรถ ขสมก. ยังมีหนี้ที่มีดอกเบี้ย มูลค่ารวมกว่า 103,421 ล้านบาท
ทำให้ปีที่ผ่านมา ขสมก. มีค่าใช้จ่ายต้นทุนทางการเงิน สูงถึง 2,877 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าค่าเดินรถโดยตรง เสียอีก
แล้วจะมีความเป็นไปได้ไหนบ้าง ที่ ขสมก. จะกลับมาทำกำไร?
คำตอบคือ ถ้า ขสมก. ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยขนาดนี้ โอกาสที่ ขสมก. จะมีกำไรสุทธิที่เป็นบวก แทบเป็นไปไม่ได้..
ในกรณีที่ดีที่สุด คือทำให้ EBITDA เป็นบวกให้ได้ก่อน
EBITDA คือ กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย
ปีล่าสุด ขสมก. มี EBITDA ที่ขาดทุน 3,156 ล้านบาท ขสมก. ต้องทำเลขนี้ให้เป็นบวก ซึ่งมันก็พอจะมีหนทางอยู่
เคยสงสัยไหมว่า เวลาเราเดินทางไปประเทศอื่นๆ เราไม่เคยเจอกระเป๋ารถเมล์เลย ส่วนใหญ่รถเมล์จะมีพนักงานขับรถเพียงคนเดียว และติดตั้งระบบเก็บค่าเดินทาง
ซึ่ง ขสมก. ก็คงรู้ตัว และนำคอนเซ็ปต์ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ โดยเริ่มรับค่าโดยสารโดยจ่ายเงินแบบไร้เงินสดแล้ว ซึ่งถ้าสามารถทำได้แบบไม่ต้องใช้พนักงานเก็บค่าโดยสาร เรื่องนี้ก็น่าจะลดค่าใช้จ่ายด้านเงินเดือนและผลประโยชน์พนักงานลง
นอกจากนั้นในปีที่ผ่านมา ขสมก. ยังมีค่าซ่อมบำรุงรถเมล์อีก 1,507 ล้านบาท
ส่วนหนึ่งมาจากรถแต่ละคัน มีอายุการใช้งานเกินกว่า 20 ปีมาแล้ว
ถ้า ขสมก. ยอมลงทุนเปลี่ยนรถคันใหม่ทั้งหมด ก็อาจช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ลงได้
แม้ว่าทั้งหมดนี้ดูยังเป็นเรื่องห่างไกลที่จะทำให้ ขสมก. กลับมามีกำไร
แต่เชื่อว่าคนกรุงเทพฯ ทุกคน ก็อยากเห็นองค์กรนี้ยืนได้ด้วยตนเอง มีรถใหม่ๆ ทันสมัยให้เรานั่งเหมือนในต่างประเทศ และส่วนหนึ่งของปัญหาก็เพราะว่าองค์กรนี้ขาดทุนเรื้อรัง
ถ้าช่วยชุบชีวิตองค์กรนี้ เท่ากับว่าเราจะยกระดับคุณภาพชีวิตคนเป็นล้านคนได้ และใครสามารถทำเรื่องนี้ได้สำเร็จ คนนั้นก็น่าจะเป็นฮีโร่ของคนกรุงเทพฯ
ลงทุนแมนไปมาแล้วหลายประเทศ รถไฟฟ้าบ้านเรา มีความสะอาด ความทันสมัยไม่แพ้ชาติอื่น
แต่รถเมล์บ้านเรานี่สิ อยู่ห่างจากประเทศอื่น ทั้งที่เรามีศักยภาพพอที่จะทำได้
บ่อยครั้งที่เราเห็นรถทัวร์รับนักท่องเที่ยวในประเทศไทยที่ดูใหม่ ทันสมัย แต่รถใหม่ๆ เหล่านั้นกลับไม่ได้มาให้บริการคนส่วนใหญ่ของเมือง ซึ่งมันก็แปลกดี
แต่ทุกอย่างต้องเริ่มจาก จุดเริ่มต้น..
จุดเริ่มต้นแรกของ ขสมก.ในวันนี้
ก็คงต้องเป็นการหาวิธีชำระหนี้ระดับแสนล้าน
และหาคนที่เชี่ยวชาญ และมีความพร้อมจริงๆ มาปรับปรุง นั่นเอง..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดียรูปแบบใหม่
Blockdit.com/download
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.