บริษัทที่มีหนี้สินสูงสุดในจีน Evergrande

บริษัทที่มีหนี้สินสูงสุดในจีน Evergrande

1 ต.ค. 2019
บริษัทที่มีหนี้สินสูงสุดในจีน Evergrande / โดย ลงทุนแมน
เจ้าของบริษัทนี้เป็นบุคคลที่รวยสุดอันดับ 3 ของจีน
เป็นรองเพียง Jack Ma แห่ง Alibaba และ Pony Ma แห่ง Tencent
บริษัทนั้นก็คือ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อ “Evergrande”
ที่ผ่านมา บริษัทนี้เติบโตเป็นเท่าตัว และขยายธุรกิจไปยังหลายพื้นที่
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ เงินที่ใช้ลงทุนไปนั้น ส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืม
ซึ่งมันสะสมเรื่อยมา..
จนตอนนี้ Evergrande ได้กลายเป็นบริษัทที่มีหนี้สินสูงที่สุดในประเทศจีน
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Evergrande เป็นบริษัทสัญชาติจีน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1996
ทำธุรกิจหลักในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย โดยเน้นกลุ่มตลาดระดับกลางขึ้นไป
ปัจจุบันบริษัทถือครองที่ดินในจีนอยู่ 303 ล้านตารางเมตร ซึ่งมากที่สุดในบรรดาผู้ประกอบการ
และได้พัฒนาโครงการถึง 810 แห่ง ใน 280 เมืองทั่วประเทศ
จากการลงทุนดังกล่าว ทำให้ผลประกอบการของ Evergrande เติบโตอย่างรวดเร็ว
ปี 2016 รายได้ 910,000 ล้านบาท กำไร 22,000 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 1,300,000 ล้านบาท กำไร 100,000 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 2,000,000 ล้านบาท กำไร 160,000 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ Evergrande จึงถูกประเมินให้เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดในโลก ที่ราว 500,000 ล้านบาท
รวมทั้งทำให้เจ้าของกิจการ นาย Hui Ka Yan เป็นบุคคลที่ร่ำรวยอันดับสามของจีน รองจาก Jack Ma แห่ง Alibaba และ Pony Ma แห่ง Tencent เพียงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทจะประสบความสำเร็จอย่างมาก
แต่ตอนนี้กลับต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงทางด้านการเงิน
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 รัฐบาลจีนมีนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ด้วยการให้เงินสนับสนุนไปซื้อบ้าน มูลค่ารวมกว่า 30 ล้านล้านบาท ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น

ในโอกาสนี้ Evergrande จึงได้วางกลยุทธ์รีบสะสมที่ดินเอาไว้จำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินกู้มหาศาล โดยเชื่อว่าสุดท้ายจะสามารถพัฒนาและขายโครงการ หากำไรมาชดใช้หนี้ได้
ทุกอย่างดูจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ สะท้อนให้เห็นผ่านผลการดำเนินงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
จนกระทั่งในปลายปี 2018 สถานการณ์พลิกผัน เมื่อรัฐบาลจีนเริ่มลดมาตรการช่วยเหลือ เพื่อป้องกันไม่ให้ตลาดร้อนแรงเกินไปจนฟองสบู่แตก
เมื่อยอดขายซบเซาลง จึงส่งผลให้ครึ่งแรกของปี 2019 กำไรของบริษัทลดลงถึง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า
แต่ทว่า Evergrande ไม่สามารถกลับตัวได้แล้ว
เพราะได้กู้ยืมมาลงทุน จนกลายเป็นบริษัทที่มีหนี้สูงที่สุดของประเทศจีน
ฐานะทางการเงินของ Evergrande
มูลค่าสินทรัพย์ 9,000,000 ล้านบาท
มูลค่าหนี้สิน 7,600,000 ล้านบาท
มูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้น 1,400,000 ล้านบาท
แต่ดูเหมือนว่า บริษัทไม่ได้กังวลอะไร ยังได้เข้าลงทุนเพิ่มในธุรกิจอื่นที่ก็ต้องใช้เงินทุนสูง
ไม่ว่าจะเป็น สวนสนุก โรงพยาบาล หรือทีมฟุตบอล
อีกทั้งล่าสุด ยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยลงทุนสร้างโรงงานด้วยเงิน 670,000 ล้านบาท
มาจนถึงตอนนี้ หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับ Evergrande ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในวงกว้างได้ เพราะบริษัทมีส่วนเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์แทบทั้งประเทศ
ทั้งนี้ หุ้นของ Evergrande ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง
โดยมูลค่าบริษัทเคยพุ่งขึ้นไปสูงสุดที่ 1,600,000 ล้านบาท เมื่อปี 2017
แต่ปัจจุบัน กลับลดลงเกือบครึ่ง เหลือเพียง 930,000 ล้านบาท คิดเป็น P/E Ratio ที่ 5 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลที่นักลงทุนมีต่อภาระหนี้สิน และความท้าทายในอนาคตของบริษัทนี้ได้เป็นอย่างดี
เรื่องนี้อาจเป็นกรณีศึกษาให้เราได้ว่า
การขยายธุรกิจด้วยหนี้สิน แม้จะช่วยเร่งไปสู่การเติบโตที่รวดเร็ว
แต่มันก็ไม่ยั่งยืนเสมอไป..
ในทางตรงกันข้าม ถ้าทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่เราคาด
สิ่งนี้ก็จะเป็นตัวเร่งให้เราถดถอยได้เช่นกัน
ในชีวิตคนเรา การที่จะเริ่มจาก 0 กลายเป็นเศรษฐี อาจมีได้หลายช่องทาง
แต่เศรษฐีที่กลับกลายเป็น 0 ส่วนใหญ่จะมีช่องทางเดียว
นั่นก็คือ การกู้เงินจนเกินตัว..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดียรูปแบบใหม่
Blockdit.com/download
----------------------
References
-https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2019-09-03/china-s-most-indebted-firm-is-too-big-to-fail
-https://www.forbes.com/sites/ywang/2019/07/08/asias-former-richest-man-pursues-debt-fueled-quest-to-take-on-tesla/#3ce250fb3609
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Evergrande_Group
-https://finance.yahoo.com/quote/3333.HK?p=3333.HK
-https://doc.irasia.com/listco/hk/evergrande/annual/2018/ar2018.pdf
-https://www.ft.com/content/3abb46b0-7f72-11e8-bc55-50daf11b720d
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.