การโต้กลับของ ‘ร้านอาหารตึกแถว’

การโต้กลับของ ‘ร้านอาหารตึกแถว’

4 ต.ค. 2019
การโต้กลับของ ‘ร้านอาหารตึกแถว’ / โดย ลงทุนแมน
เคยไหม ที่เราอยากแวะทานอาหารตามร้านที่เป็นตึกแถว
แต่ไม่สามารถหาที่จอดรถได้
เมื่อเจอกับปัญหานี้
หลายคนจึงเลือกเดินทางไปศูนย์การค้าแทน
เนื่องจากศูนย์การค้า ถือเป็นจุดที่เรียกว่า One-stop service
มีทั้งร้านอาหาร ร้านค้า และซูเปอร์มาเก็ตสำหรับซื้อของ ธนาคาร รวมถึงโรงภาพยนตร์
และอีกเหตุผลที่สำคัญคือ ศูนย์การค้า มีที่จอดรถ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ หนึ่งในวิธีขยายธุรกิจของร้านอาหารตึกแถว
จึงเป็นการขยายสาขาเข้าไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า
แน่นอนว่า ฝ่ายห้างศูนย์การค้าเป็นผู้ที่มีอำนาจการต่อรองมากกว่า
ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกอย่างเข้มงวดว่าร้านไหนจะมีสิทธิ์มาตั้ง
ส่วนร้านอาหารที่จะเข้าไปก็ต้องมีทุนหนาพอที่จะตกแต่งร้าน จ่ายค่าเช่า
แต่สิ่งนี้กำลังเริ่มเปลี่ยนไปในปีนี้..
แอปพลิเคชัน Food Delivery สำหรับสั่งอาหาร เริ่มให้บริการอย่างแพร่หลาย
ทำให้เรากินเมนูเด็ดจากร้านอาหารตึกแถวชื่อดังมากมาย โดยไม่ต้องไปเอง
อีกทั้งโปรโมชันค่าส่ง 10 บาท ไปจนถึงค่าส่งฟรี แถมยังมีส่วนลดค่าอาหารอีกด้วย
เรื่องนี้ทำให้ ร้านอาหารตึกแถว บางร้านเหมือนเกิดใหม่
จากร้านที่เคยเงียบเหงา กลายเป็นมีมอเตอร์ไซค์มากมายมาจอดอยู่หน้าร้าน
Food Delivery เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า ทำให้คนสั่งอาหารมากขึ้น
ร้านที่ขายไม่ดี ก็ขายดีขึ้น
ร้านที่ขายดีจนคิวเต็ม คนก็ไม่จำเป็นต้องมาหน้าร้าน แต่ให้คนมาซื้อกลับบ้านได้
แต่เมื่อมีคนได้ประโยชน์ ก็ต้องมีคนเสียประโยชน์
เมื่อก่อนร้านอาหารที่บริการส่งถึงบ้าน
มีแค่อาหารประเภทจานด่วนของเชนร้านอาหารใหญ่ๆ เช่น พิซซ่า หรือไก่ทอด
แต่ตอนนี้เราจะกินอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวมันไก่ ส้มตำ หมูทอด โจ๊ก ก๋วยเตี๋ยว สารพัดเมนู
คนเรามีปากเดียว หนึ่งมื้อกินอาหารได้จำกัด
ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผู้เล่นรายเดิมจะเสียส่วนแบ่งตลาดไป
เมื่อมีการเข้ามาของผู้ให้บริการตัวกลาง Food Delivery ทำให้ตลาดอาหารส่งถึงบ้านในไทยเติบโตขึ้นอย่างมาก
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ตลาด Food Delivery ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 10% และน่าจะมาพีกที่ปีนี้ เพราะมีผู้เล่นในตลาดเข้ามาแข่งขันกันทำโปรโมชัน ยิ่งแข่งกัน ยิ่งขยายตลาดนี้ให้ใหญ่ขึ้น
มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดรวมของธุรกิจนี้ในปี 2562 จะอยู่ที่ประมาณ 33,000 - 35,000 ล้านบาท
โดยรายได้ทุกๆ 100 บาทที่เกิดขึ้น จะเป็นของ
ผู้ให้บริการ Food Delivery 10 บาท
คนขับรถรับจ้างส่งอาหาร 12 บาท
และที่เหลือเป็นของร้านอาหารอีก 78 บาท
ซึ่ง 78 บาทนี้ มีจำนวนไม่น้อยที่ถูกแบ่งมาให้ร้านอาหารขนาดเล็กและกลาง อย่างร้านตามตึกแถวมากขึ้น
ถือเป็นโอกาสการขยายธุรกิจของร้านตึกแถว โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากเท่าสมัยก่อน ไม่ต้องพยายามขยายสาขาเข้าไปในศูนย์การค้า หรือแม้แต่ลงทุนขยายหน้าร้านเพิ่มเติม
เพียงแค่เพิ่มคนทำอาหารหรือขยายครัว เพื่อรองรับออเดอร์ที่เพิ่มขึ้นจากบรรดา Food Delivery
เรื่องนี้อาจเป็นผลดี เพราะทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ธุรกิจรายย่อย ซึ่งไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่เชนร้านอาหารขนาดใหญ่อย่างแต่ก่อน
อาจเรียกได้ว่า ถึงเวลาที่ร้านอาหารตึกแถวเหล่านี้จะโต้กลับ
จากเดิมที่ถูกร้านอาหารในศูนย์การค้าดึงไป
ตอนนี้กำลังดึงกลับ ด้วยแรงของร้านอาหารรายย่อยเป็นพันเป็นหมื่นร้าน
แล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?
การไม่ไปทานอาหารในศูนย์การค้า อาจทำให้ธุรกิจอื่นที่อยู่ในศูนย์การค้าต้องพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
ในขณะที่ทุกอย่างในศูนย์การค้า เราสามารถเริ่มทำได้โดยใช้สมาร์ตโฟนเพียงเครื่องเดียว
E-commerce สำหรับซื้อสินค้า
Mobile Banking สำหรับทำธุรกรรมทางการเงิน
แอปพลิเคชันสตรีมมิง ต่างๆ สำหรับดูภาพยนตร์ หรือซีรีส์
บทสรุปของเรื่องนี้คงต้องติดตามต่อไป
ดูเหมือนว่า ศูนย์การค้า จะไม่ได้มีแค่คู่แข่งที่อยู่ทำเลใกล้เคียง
แต่คู่แข่งที่น่ากลัวกว่า ก็คือ สมาร์ตโฟนในมือของทุกคน ที่กำลังเป็นจุด One-stop service ไม่ต่างจากศูนย์การค้า..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
Reference
ตัวเลขมูลค่าตลาด Food Delivery จากศูนย์วิจัยกสิกรไทย
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.