จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่โรงพยาบาลธงฟ้า

จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่โรงพยาบาลธงฟ้า

7 ต.ค. 2019
จาก 30 บาทรักษาทุกโรค สู่โรงพยาบาลธงฟ้า /โดย ลงทุนแมน
ค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ภาครัฐจึงมีแนวคิดที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลธงฟ้า
แล้วโรงพยาบาลธงฟ้าคืออะไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเราทำความเข้าใจกับภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศกันก่อน
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 750 แห่ง สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
1. โรงพยาบาลที่ให้บริการกลุ่มลูกค้ารายได้สูง เช่น กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติเป็นหลัก
2. โรงพยาบาลที่ให้บริการกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลาง เช่น กลุ่มลูกค้าที่มีประกันสุขภาพ
3. โรงพยาบาลที่ให้บริการกลุ่มลูกค้ารายได้น้อย เช่น กลุ่มที่ใช้ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ดูแบบนี้ น่าจะบอกได้ว่า โรงพยาบาลเอกชนแต่ละระดับก็จะมีการแบ่งแยกลูกค้ากันค่อนข้างชัดเจน
ขณะที่สำหรับสังคมไทยของเรานั้น เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ในปี 2015 จำนวนผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าสัดส่วนดังกล่าวจะเป็นร้อยละ 20 ภายในปี 2021
นั่นหมายความว่า ประเทศไทยกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ
เป็นธรรมดาที่พอคนเราอายุมากขึ้น โรคภัยต่างๆ ก็มักจะเพิ่มขึ้น จึงตามมาด้วยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ปี 2015 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทย 361,070 ล้านบาท
ปี 2018 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทย 388,945 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประชากรในยุค Baby boomer ของไทยหรือคนที่เกิดในปี ค.ศ. 1960 กำลังเข้าช่วงอายุที่เลย 60 ปี ตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่กำลังเพิ่มขึ้นไปอีก
ขณะที่อีก 15 ปีข้างหน้า ข้อมูลจาก TDRI ระบุประเทศไทยอาจมีค่ารักษาพยาบาลประมาณ 2 ล้านล้านบาท ถ้ายังไม่มีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ชัดเจน ซึ่งด้วยตัวเลขดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13% ของ GDP ของประเทศในปัจจุบัน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ มีแนวคิดที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลธงฟ้า ด้วยการเชิญโรงพยาบาลเอกชนที่คิดค่ายาและค่ารักษาพยาบาลไม่แพงมากนัก เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย และได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี ซึ่งแนวคิดนี้ ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติอีกครั้ง
ที่ผ่านมาประเทศไทยเราเอง ก็มีโครงการรักษาพยาบาลเพื่อช่วยเหลือคนรายได้น้อยนั่นคือ โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค หรือบัตรทอง เพื่อช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน โดยเสียค่าใช้จ่ายเพียง 30 บาทต่อครั้ง ซึ่งนับเป็นการปฏิรูประบบสาธารณสุขของประเทศครั้งสำคัญในปี 2002
โดยก่อนหน้านั้น 2 ปี ประเทศไทยมีประชากรประมาณ 62 ล้านคน แต่กว่า 16 ล้านคนกลับไม่มีหลักประกันสุขภาพอะไรเลย ทำให้ไม่สามารถได้รับการรักษาที่ดีเพียงพอเมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
โดยโครงการ 30 บาท ทำให้ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาไม่กี่ประเทศ ที่สามารถจัดให้มีสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชนทุกคนได้ และเมื่อรวมกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ แน่นอนว่า โครงการนี้จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้น
ปี 2002 อายุขัยเฉลี่ยของคนไทย 71 ปี
ปี 2018 อายุขัยเฉลี่ยของคนไทย 77 ปี
แต่ก็มีเรื่องที่หลายคนอาจกังวล นั่นคือ งบประมาณที่ได้รับจัดสรรสำหรับโครงการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากจุดเริ่มต้นในปี 2002 ที่มีงบเท่ากับ 1,202 บาทต่อคน เพิ่มมาเป็น 3,600 บาทต่อคน ภายใต้งบประมาณกว่า 190,000 ล้านบาท
จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องวางแผนและบริการจัดการเรื่องดังกล่าวให้ดี เพื่อสร้างสมดุลระหว่างคุณภาพชีวิตของประชากร และสถานะทางการเงินของประเทศต่อไป
แน่นอนว่า สำหรับพวกเราทุกคนนั้น การมีหลักประกันและมีสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพเป็นสิ่งที่ดี เพื่อดูแลรักษาตัวเองและคนที่เรารักยามเจ็บป่วย
แต่สิ่งที่ดีกว่าก็คือ การดูแลรักษาสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคภัยต่างๆ
ร่างกายคนเราก็คงเปรียบเหมือนแก้ว
ในบางครั้ง แก้วที่แตกไปแล้ว จะแก้ไขอย่างไร มันก็ไม่สมบูรณ์เหมือนดังเดิม
เช่นกัน ในเรื่องของสุขภาพ การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดโรค ก็น่าจะดีกว่า การรักษาโรคที่ได้เกิดขึ้นแล้ว..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.