กรณีศึกษาธุรกิจ พาหมา ไปเดินเล่น

กรณีศึกษาธุรกิจ พาหมา ไปเดินเล่น

15 ต.ค. 2019
กรณีศึกษาธุรกิจ พาหมา ไปเดินเล่น / โดย ลงทุนแมน
เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตได้เชื่อมต่อระหว่าง
กลุ่มคนที่มีสินทรัพย์บางอย่าง และต้องการนำมันมาสร้างมูลค่าเพิ่ม
กับอีกกลุ่มคน ที่ต้องการใช้สินทรัพย์ดังกล่าว ในบางช่วงเวลา
ทำให้ธุรกิจในลักษณะของ Sharing Economy ถือกำเนิดขึ้นมากมาย
ทุกวันนี้..
เราสามารถเข้าไปพักที่บ้านของคนอื่นได้ ผ่าน Airbnb
เราสามารถนั่งรถยนต์ของคนอื่นได้ ผ่าน Uber
และไม่น่าเชื่อว่า ระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันนี้ ได้ขยายไปสู่วงการที่เราอาจจะคาดไม่ถึง
อย่างการดูแลสัตว์เลี้ยง
เรื่องราวนี้น่าสนใจอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
สัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนที่อยู่คู่สังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในชีวิต
ในประเทศสหรัฐอเมริกา การใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดูแลสัตว์เลี้ยง ได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
จาก 1.4 ล้านล้านบาท เมื่อ 10 ปีก่อน มาอยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท ในปัจจุบัน
เนื่องจากว่า คนสมัยนี้ เริ่มมีลูกกันน้อยลง หรือบางคู่ก็ไม่มีลูกเลย
ทำให้การเลี้ยงสัตว์ เป็นอีกทางเลือกของการหาสมาชิกในครอบครัว
โดยผลสำรวจพบว่า 70% ของครัวเรือนชาวอเมริกัน จะเลี้ยงสุนัขหรือแมว
แต่ท่ามกลางโลกยุคใหม่ ที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบนั้น ได้ทำให้เกิดปัญหาบางอย่าง
นั่นคือ คนไม่มีเวลาแม้แต่จะดูแลสัตว์เลี้ยงของตัวเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีผู้ริเริ่มกิจการสตาร์ตอัป ที่ให้บริการดูแลสัตว์เลี้ยงในลักษณะ Sharing Economy ขึ้นมา
บริษัท Rover ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011
ทำธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ให้ผู้ใช้เข้ามาค้นหาและจองสถานที่พักอาศัย สำหรับสัตว์เลี้ยงได้
โดยมีเครือข่ายที่พักกว่า 200,000 แห่ง ใน 14,000 เมือง
ทั้งนี้ เจ้าของที่พักเป็นผู้กำหนดราคาเอง ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1,200 บาทต่อคืน
และ Rover จะหักค่านายหน้าไป 20%
ด้วยรูปแบบบริการที่คล้ายกับ Airbnb นี้ ทำให้ Rover ได้รับฉายาว่าเป็น “Dogbnb”
อีกบริษัทหนึ่งมีชื่อว่า Wag Labs ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2014
ทำธุรกิจแอปพลิเคชัน ที่ผู้ใช้สามารถกดเรียกคน มาพาสุนัขไปเดินเล่นได้
โดยมีเครือข่ายพนักงานกว่า 50,000 คน ใน 110 เมือง
ทั้งนี้ พนักงาน จะต้องผ่านการทดสอบความเชี่ยวชาญในการดูแลสัตว์ รวมทั้งอาจมีอุปกรณ์ส่วนตัวด้วย
ซึ่งค่าบริการจะอยู่ที่ประมาณ 900 บาทต่อชั่วโมง และ Wag Labs จะหักค่านายหน้าไป 40%
ด้วยรูปแบบบริการที่คล้ายกับ Uber นี้ ทำให้ Wag Labs ได้รับฉายาว่าเป็น “Uber for Dog”
แล้ว Rover กับ Wag Labs ใครใหญ่กว่ากัน?
ผลการดำเนินงานของทั้งคู่ กำลังอยู่ในช่วงที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2018
Rover มีรายได้เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อนหน้า
Wag Labs มีรายได้เพิ่มขึ้น 165% จากปีก่อนหน้า
ทำให้ทั้งสองบริษัท ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุน Venture Capital อยู่ไม่น้อย
Rover ถูกประเมินมูลค่าธุรกิจเอาไว้ที่ 2.95 หมื่นล้านบาท
โดยหนึ่งในผู้ลงทุน ก็คือบริษัท T. Rowe Price ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีชื่อเสียงในระดับโลก
ส่วน Wag Labs ถูกประเมินมูลค่าธุรกิจเอาไว้ที่ 1.98 หมื่นล้านบาท
โดยหนึ่งในผู้ลงทุน ก็คือกองทุน Vision Fund ของ SoftBank ซึ่งเป็นผู้นำการลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัป ด้านเทคโนโลยี
ถึงแม้ขณะนี้ Rover จะมีขนาดใหญ่กว่า Wag Labs
แต่ในอนาคต การแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดดูแลสัตว์เลี้ยงที่กำลังเติบโต น่าจะยิ่งเข้มข้นขึ้น
โดย Rover ได้ขยายบริการไปสู่การพาสุนัขเดินเล่น รวมถึงบริการเสริมความงามสัตว์
ในทางกลับกัน Wag Labs ก็ได้เปิดให้บริการที่พักอาศัยสำหรับสัตว์เลี้ยง รวมถึงบริการส่งอาหารสัตว์แบบดิลิเวอรี
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความรักแล้ว ผู้บริโภคก็มักจะยอมจ่ายเงินในราคาที่สูงกว่าปกติ
แต่อย่างไรก็ตาม หากมันมีอะไรผิดพลาด ผลกระทบที่ตามมาก็จะรุนแรงเช่นกัน
ที่ผ่านมา เคยมีกรณีที่สุนัขได้รับบาดเจ็บ หรือสูญหายจากการใช้บริการ
ดังนั้น ทั้งสองบริษัทจึงได้ลงทุนในด้านความปลอดภัยต่างๆ เช่น มีเจ้าหน้าที่คอยประสานงานเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง หรือกระทั่งการใช้หุ่นยนต์โดรนสำหรับปฏิบัติการค้นหา
จากเรื่องราวนี้แสดงให้เห็นว่า
แนวคิดการแบ่งปันทรัพยากร สามารถใช้ได้กับแทบทุกเรื่องในชีวิต
แม้แต่สิ่งที่เราคาดไม่ถึง อย่างการพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่น หรือหาที่พักให้สัตว์เลี้ยง
ในอนาคตก็น่าจะมีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกตามมา
ไม่แน่ว่าต่อไป เราอาจจะเห็นแพลตฟอร์ม “หาคู่” ให้สัตว์เลี้ยงก็เป็นได้..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://www.vox.com/the-goods/2018/9/12/17831948/rover-wag-dog-walking-app
-https://en.wikipedia.org/wiki/Rover.com
-https://en.wikipedia.org/wiki/Wag_(company)
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.