หุ้นแบงก์ไทย กำลังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี

หุ้นแบงก์ไทย กำลังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี

21 ต.ค. 2019
หุ้นแบงก์ไทย กำลังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี / โดย ลงทุนแมน
ถ้าให้ธนาคารกรุงเทพเลิกกิจการในวันนี้
ขายทรัพย์สิน และชดใช้หนี้ทั้งหมดที่คงค้าง
เงินที่เหลือจะตกเป็นของผู้ถือหุ้นนำมาแบ่งกัน
ถ้าให้เงินก้อนนั้น 100 บาท
รู้หรือไม่ว่าในวันนี้ราคาหุ้นในบริษัทซื้อขายกันเพียง 76 บาท
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า..
หุ้นกำลังซื้อขายกันต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (Book Value)
และไม่ใช่แค่ธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารใหญ่ทุกธนาคาร กำลังซื้อขายกันในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี
เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจธนาคาร
ลงทุนแมนจะเล่าเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นนี้ให้ฟัง
ถ้าเรามองข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในตอนนี้
มูลค่าบริษัทเทียบกับมูลค่าทางบัญชี (Price per Book Value) ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2562
SCB 0.99 เท่า
BAY 0.94 เท่า
KBANK 0.93 เท่า
BBL 0.76 เท่า
KTB 0.74 เท่า
ทุกธนาคารยักษ์ใหญ่มีราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี
ถ้าย้อนกลับไป เราจะแปลกใจ เพราะว่าช่วงก่อนหน้านี้ บางธนาคาร เช่น KBANK และ SCB เคยซื้อขายกันสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีถึง 1.6 เท่า..
แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับแบงก์ในประเทศไทย ราคาถึงได้ตกลงอย่างรวดเร็ว?
คำตอบง่ายๆ ก็คือ ตอนนี้นักลงทุนไม่ชอบหุ้นแบงก์ และสาเหตุหลักก็คือความกังวลในอุตสาหกรรมธนาคาร
สถานการณ์ของกลุ่มธนาคาร กำลังโดนคลื่นหลายลูกเข้ามาซัดจนเมาคลื่นไปหมด
คลื่นลูกแรก สภาพเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์ การส่งออก การแข็งค่าของเงินบาท สงครามการค้าสหรัฐ-จีน
เมื่อเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ทำให้สินเชื่อที่ธนาคารปล่อยกู้ เกิดเป็นหนี้เสียมากขึ้น ต้องตั้งสำรองมากขึ้น
คลื่นลูกสอง พฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป
เราเข้าธนาคารครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? แล้วเราเข้าธนาคารน้อยลงกว่าเมื่อก่อนหรือไม่?
สิ่งนี้คือคำตอบสำหรับเรื่องนี้ ในเมื่อทุกวันนี้การฝาก-ถอน-โอน เราไม่ต้องไปที่ธนาคาร ทุกคนสามารถทำได้โดยผ่านสมาร์ตโฟนของตนเอง ดังนั้นโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคารก็ลดลงไปด้วย
แต่อย่าลืมว่า ตอนนี้เราโอนกันในช่องทางดิจิทัลโดยปราศจากค่าธรรมเนียม ซึ่งนั่นหมายความว่าค่าธรรมเนียมที่เมื่อก่อนธนาคารเคยได้ ก็หายไปโดยที่ธนาคารเองก็ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น
และเมื่อคนเข้าธนาคารลดลง แต่ธนาคารยังมีต้นทุนการเปิดสาขา ทั้งค่าเช่า ค่าพนักงาน ค่าไฟ ค่ารักษาความปลอดภัยต่างๆ เหมือนเดิม ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ รายได้ชะลอ แต่ต้นทุนเท่าเดิม
เราจะไม่แปลกใจเลยว่า นับตั้งแต่นี้ต่อไป ธนาคารต่างๆ จะชะลอการขยายสาขา และจะหันไปเปิดสาขาที่มีขนาดเล็กลงแทน รวมไปถึงการทยอยลดพนักงานประจำสาขาต่างๆ ลง
คลื่นลูกที่สาม คู่แข่งที่เกิดใหม่จากอุตสาหกรรมอื่น
ตอนนี้เรามีแอปกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Wallet ต่างๆ มากมายให้เลือกใช้ ทั้ง Rabbit LINE Pay, Lazada Wallet, Grab Pay มากมายไปหมด จนทำให้คิดได้ว่าคู่แข่งธนาคารอาจไม่ใช่ธนาคารเสมอไป แต่เป็นบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นที่ใช้เทคโนโลยีในการรับฝากเงิน
ทั้งหมดนี้จึงทำให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุนว่า
ธนาคารกำลัง “โดน DISRUPT”
ทุกอย่างโกลาหลไปหมด
แล้วธนาคารจะทำอย่างไรดี
ธนาคารกำลังโดน DISRUPT จริงหรือไม่?
ถ้าให้ตอบในวันนี้ก็คงไม่มีใครรู้แม้แต่ผู้บริหารของธนาคารเอง
ถ้าให้ลงทุนแมนตอบ ก็จะตอบว่าเป็นไปได้หลายทาง ขึ้นอยู่กับว่า ธนาคารจะปรับตัวเร็วแค่ไหน
ต้องดูข้อเท็จจริงกันก่อนว่า
ทุกวันนี้ถ้าถามว่าธนาคารลงทุนกับอะไรมากที่สุด คำตอบก็คือ การลงทุนในเทคโนโลยี
ถ้าไปเปิดดูงบลงทุนของธนาคารต่างๆ ก็จะรู้ว่า ธนาคารตั้งงบลงทุนในเทคโนโลยีในระดับ พันล้านบาทไปจนถึงหมื่นล้านบาท
บริษัทในประเทศไทยทั้งหมดไม่มีทางเลยที่จะลงทุนในเทคโนโลยีได้สเกลเท่ากับธนาคาร
คนไทยอาจจะยังไม่รู้ตัวว่า
บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ได้เกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย
นั่นก็คือธนาคาร..
ธนาคารมีข้อได้เปรียบคือ มีฐานลูกค้าเดิมเป็นสิบล้านคนอยู่ในมือ และลูกค้าเหล่านี้มีการเข้าใช้บริการออนไลน์ของธนาคารเกือบทุกวันเป็นประจำอยู่แล้ว
ถ้าธนาคารสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้งานจากการ “เข้าแล้วออก” กลายเป็น “เข้าแล้วอยู่ต่อ” นั่นก็หมายถึงธนาคารสามารถมีช่องทางในการนำเสนอผลิตภัณฑ์มากขึ้น
และอีกเรื่องที่ธนาคารได้เปรียบก็คือ ธนาคารมีความน่าเชื่อถือกว่าบริษัทอื่น
เราจะเห็นภาพด้วยคำถามเดียวคือ
เรากล้าฝากเงิน 1 แสนบาทใน Wallet ของ Rabbit LINE Pay, Lazada Wallet, Grab Pay หรือไม่?
ถ้าคำตอบคือ “ไม่” เราก็พอจะเห็นภาพแล้วว่า e-Wallet เหล่านี้จะยังไม่สามารถมาแทนที่ธนาคารได้ในเร็วๆ นี้
ธนาคารยังมีความได้เปรียบในโมเดลเดิมของธนาคารคือ สามารถกู้เงินคนอื่นได้ถูก (ดอกเบี้ยเงินฝาก 0.5%) แล้วมาปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า และส่วนต่างนั่นก็คือกำไรของธนาคาร
บริษัทอื่นจะมาทำแบบธนาคารไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยความน่าเชื่อถือในการระดมเงินฝาก ความสามารถในการหาลูกค้า รวมไปถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่ควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
สรุปแล้วธนาคารน่าจะไม่ถูก DISRUPT ไปง่ายๆ
ถ้าธนาคารรู้ตัวเอง และปรับตัวให้เป็นบริษัทเทคโนโลยีได้เร็วพอ
แต่ในทางตรงกันข้าม
สำหรับธนาคารที่ไม่สนใจเทคโนโลยี
ราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีในวันนี้ อาจจะยังไม่ได้เป็นราคาที่ต่ำสุดก็เป็นได้
ดังนั้นโจทย์ในตอนนี้ ที่ผู้บริหารธนาคารต้องหาคำตอบก็คือ
ธนาคารจะสามารถเป็นบริษัทเทคโนโลยี “ได้เร็วกว่า”
บริษัทเทคโนโลยีอื่นกลายมาเป็นธนาคาร ได้อย่างไร..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.