IMF ใหญ่แค่ไหน?

IMF ใหญ่แค่ไหน?

28 ต.ค. 2019
IMF ใหญ่แค่ไหน? / โดย ลงทุนแมน
เวลาที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เรามักจะได้ยินข่าวว่า
ประเทศต่างๆ ต้องไปขอความช่วยเหลือ ด้วยการกู้เงินจาก “IMF”
เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า องค์กรนี้เป็นใคร
และเอาเงินจำนวนมหาศาลจากที่ไหน มาปล่อยกู้ให้คนอื่น
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
IMF มีชื่อเต็มว่า International Monetary Fund
เป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ปี 1945 หรือ 74 ปีที่แล้ว
ในขณะนั้น โลกเพิ่งจะเผชิญกับเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) และสงครามโลกครั้งที่ 2
ที่ประชุมสหประชาชาติ จึงได้มีข้อตกลงร่วมกัน ที่จะจัดตั้งกองทุนขึ้นมา เพื่อคอยสนับสนุนการเติบโตและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลก
หน้าที่หลักของ IMF คือการให้ความช่วยเหลือเงินกู้ แก่ประเทศที่กำลังประสบปัญหา
รวมทั้งอาจมีคำแนะนำหรือเงื่อนไขเชิงนโยบาย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจซ้ำอีก
ปัจจุบัน IMF มีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 189 ประเทศ
และเคยมีผลงานที่สำคัญในการปล่อยเงินกู้ให้กับ ประเทศแถบลาตินอเมริกา, ประเทศในทวีปเอเชียช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง และประเทศในสหภาพยุโรปที่มีปัญหาหนี้สาธารณะ
แล้ว IMF เอาเงินจากที่ไหนมาปล่อยกู้?
การเข้าเป็นสมาชิกของ IMF และได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ นั้น
แต่ละประเทศจะต้องจ่ายเงินที่เรียกว่า ค่าโควตา
ซึ่งนี่ถือเป็นแหล่งเงินทุนหลัก ที่องค์กรนำมาใช้สำหรับให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกกันเองในยามฉุกเฉิน
ค่าโควตา จะมีหน่วยเป็นสกุลเงินเสมือนที่ IMF สร้างขึ้น ชื่อว่า SDR (Special Drawing Rights) ซึ่งถือว่าเป็นเงินสำรองของ IMF
มูลค่าของเงิน 1 SDR เท่ากับ 41.7 บาท
โดยมีการคำนวณมาจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของ 5 สกุลเงินหลักของโลก ตามสัดส่วนดังนี้
เงินดอลลาร์สหรัฐ 41.7%
เงินยูโร 30.9%
เงินหยวน 10.9%
เงินเยน 8.3%
เงินปอนด์ 8.1%
โดยสัดส่วนดังกล่าว จะมีการทบทวนทุก 5 ปี เพื่อให้สะท้อนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด
ทั้งนี้ ค่าโควตาของแต่ละประเทศ ถูกกำหนดโดยขนาดและอิทธิพลของเศรษฐกิจ
นั่นคือ ประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่กว่า ต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกสูงกว่า แต่ก็จะมีฐานคะแนนเสียงในที่ประชุมมากกว่าเช่นกัน
ประเทศที่มีสัดส่วนโควตาสูงสุด 5 อันด้บแรก ได้แก่
สหรัฐอเมริกา 17.5%
ญี่ปุ่น 6.5%
จีน 6.4%
เยอรมนี 5.6%
ฝรั่งเศส 4.2%
ในขณะที่ประเทศไทย มีสัดส่วนโควตาอยู่ที่ 0.7%
ซึ่งรวมแล้ว IMF เก็บเงินค่าโควตาจากประเทศสมาชิกรวมทั้งสิ้น 19.9 ล้านล้านบาท
และนอกจากนี้ IMF ยังมีการกู้ยืมจากประเทศที่มีฐานะทางการเงินดีอีกด้วย
ทำให้ตอนนี้กองทุนมีเงินพร้อมสำหรับการปล่อยกู้อยู่ถึง 30.4 ล้านล้านบาท
หากเปรียบ IMF เป็นประเทศหนึ่ง พวกเขาจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 17 ของโลก
สูงกว่าประเทศไทยที่มีมูลค่าเศรษฐกิจอยู่ที่ 15.4 ล้านล้านบาท ถึง 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตอย่างรวดเร็ว กำลังทำให้ IMF ต้องเจอกับความท้าทายที่ไม่เหมือนในอดีต
ปัจจุบัน IMF ได้ปล่อยเงินกู้กว่า 2.8 ล้านล้านบาท ให้กับ 18 ประเทศที่ประสบปัญหาการเงิน
แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหนี้รายเดิมๆ ที่ไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจ หรือปรับโครงสร้างหนี้ให้ดีขึ้นได้
ซึ่งบางประเทศก็ไม่อาจใช้หนี้คืนทันตามกำหนด และต้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติม
ดังกรณีของกรีซ ที่กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วชาติแรกที่ผิดนัดชำระหนี้กับ IMF เมื่อปี 2015 แม้ก่อนหน้านั้นจะได้รับเงินช่วยเหลือจากหลายฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะ
และในอนาคต ผลกระทบของวิกฤติการเงิน จะยิ่งมีมูลค่าสูงกว่าในอดีตมาก
ดังเช่นล่าสุด IMF ได้ปล่อยเงินกู้ก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท ให้กับประเทศอาร์เจนตินา แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่มีทีท่าจะฟื้นตัวในเร็วๆ นี้
รวมทั้งความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจโลกที่ซับซ้อนขึ้น อาจส่งผลให้หลายประเทศล้มตามกันไปได้
ซึ่งหากมันเกิดขึ้นจริง เงินที่ IMF มีอยู่ ก็อาจจะไม่เพียงพอสำหรับช่วยเหลือคนบาดเจ็บทุกราย
ดังนั้นกองทุน IMF ซึ่งเป็นที่พึ่งแหล่งสุดท้ายทางด้านการเงินโลก คงต้องศึกษาแนวทางใหม่ๆ สำหรับแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน และเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงวิกฤติที่จะรุนแรงขึ้นต่อไป
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวของประเทศไทยกับ IMF
ในปี 1997 ประเทศไทยประกาศลดค่าเงินบาท เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
ซึ่งเงินทุนสำรองได้ลดลง และประเทศกำลังขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
ทำให้ประเทศไทยต้องไปกู้เงินช่วยเหลือจาก IMF มูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท
แต่หลังจากนั้นราว 6 ปี เศรษฐกิจไทยก็ได้ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง จนสามารถชำระหนี้ IMF ได้หมดก่อนกำหนด..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/International_Monetary_Fund
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Special_drawing_rights
-https://www.imf.org/en/About/Factsheets/IMF-at-a-Glance
-https://www.imf.org/en/About/Timeline
-https://www.imf.org/external/np/sec/memdir/members.aspx
-https://www.theguardian.com/business/2019/oct/07/imf-accused-of-reckless-lending-to-debt-troubled-states
-https://qz.com/442139/greece-just-joined-somalia-sudan-and-zimbabwe-in-defaulting-on-the-imf/
Tag: IMFSDR
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.