เคล็ดลับสู่ล้าน จากงาน Impact Day

เคล็ดลับสู่ล้าน จากงาน Impact Day

2 ธ.ค. 2019
ผู้สนับสนุน..
เคล็ดลับสู่ล้าน จากงาน Impact Day
“ธุรกิจ” อาจเกิดขึ้นมาได้จากหลายสาเหตุ
ทั้งความจำเป็นทางเศรษฐกิจ หรือความชอบส่วนตัว
แต่บางธุรกิจ ก็เกิดจากความฝันที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น..
งาน Impact Day 2019 ที่ผ่านมา บ้านปูฯ ได้เชิญวิทยากรซึ่งเป็นเจ้าของ 3 กิจการเพื่อสังคม คือ Toolmorrow, Moreloop และ FlowFolk มาบอกเล่าประสบการณ์ แนวคิดและอุดมการณ์ รวมถึงโมเดลทางธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้หลักล้านบาท ไปพร้อมกับการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมได้อย่างยั่งยืน
คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ กับ Toolmorrow ที่สานต่อจากความฝันในการทำสื่อที่อยากเปลี่ยนแปลงความเชื่อและความเข้าใจผิดๆ ของวัยรุ่นในสังคม โดยนำเสนอคลิปไวรัลและดิจิทัลแคมเปญต่างๆ ที่มีเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์สังคมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
จนกลายเป็นเพจที่มีผู้ติดตามกว่า 8 แสนคน เป็นสื่อกลางของพ่อแม่สำหรับการเลี้ยงดูและทำความเข้าใจลูก และเป็นสื่อกลางของวัยรุ่นในการเข้าใจสังคม โดยเป้าหมายใหญ่ของ Toolmorrow คือ การเป็นครีเอทีฟสตูดิโอที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคม และขยายขอบเขตครอบคลุมไปยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน
โดยเคล็ดลับด้านธุรกิจนั้น ในฐานะที่เป็นผู้สร้างคอนเทนต์ ก็ต้องผ่านการลองผิดลองถูกหลายต่อหลายครั้ง พยายามมองหากลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ และมีเป้าหมายเดียวกัน เมื่อเริ่มมีชื่อเสียง มีรายได้มากขึ้น ก็จะต้องรักษาแนวทางของตัวเองให้ชัดเจน เพื่อนำเสนอสิ่งที่ตอบโจทย์ได้ทั้งลูกค้าและสังคมไปพร้อมกัน
ส่วนเคล็ดลับของความสำเร็จที่ทำให้ปัจจุบัน Toolmorrow สามารถสร้างรายได้มากถึง 10 - 20 ล้านบาทต่อปีนั้น ก็คือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากแฟนเพจ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ ทำให้ Toolmorrow สามารถผลิตคลิปที่นำเสนอประเด็นทางสังคมได้ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย และสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นทางสังคมอย่างแท้จริง จนทำให้กลายเป็นคลิปไวรัลในโลกออนไลน์ได้
ส่วน Moreloop เริ่มต้นจากคุณอมรพล หุวะนันทน์ ด้วยความที่อยู่ในอุตสาหกรรมผ้าและเครื่องนุ่งห่ม จึงมองเห็นโอกาสและความสำคัญของการนำของที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะแต่ละปีในประเทศไทย จะมีผ้าเหลือจากโรงงานต่างๆ ปริมาณมหาศาล ซึ่งสามารถนำมาผลิตเป็นเสื้อได้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันผ้าที่เหลือจำนวนมากนี้กลับถูกนำไปทิ้งแทบทั้งหมดอย่างไม่เกิดประโยชน์ Moreloop จึงนำแนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนจากทรัพยากรเหลือใช้ ประกอบกับความชอบด้านงานออกแบบ มาพัฒนาเป็นธุรกิจ โดยทีมงาน Moreloop จะรวบรวมและคัดเลือกผ้าส่วนเกินจากโรงงานต่างๆ เน้นเลือกวัตถุดิบ (ผ้า) ที่มีคุณภาพดี เพื่อนำมาผลิตเป็นเสื้อผ้าคุณภาพดีออกจำหน่าย ถือเป็นการลดปริมาณผ้าเหลือทิ้ง โดยการนำกลับเข้ามาผ่านกระบวนการผลิตใหม่อย่างคุ้มค่า
Moreloop มีการเติบโตทางธุรกิจอย่างชัดเจน จากเดิมที่ปีที่แล้วมีโรงงานในเครือข่ายจำนวน 3 โรงงาน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 50 โรงงานในปีนี้ ด้านกำลังการผลิตของ Moreloop ปี 2018 สามารถนำผ้าเหลือจากโรงงานต่างๆ มาผลิตเป็นเสื้อได้จำนวน 1,000 ตัว แต่ในปี 2019 Moreloop สามารถนำผ้าเหลือจากโรงงานต่างๆ มาผลิตเป็นเสื้อได้มากถึง 20,000 ตัว หรือหากคิดเป็นสัดส่วนรายได้ ก็เพิ่มขึ้นถึง 2,000%
ซึ่งตลอดระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องมองหาจุดสมดุลของการทำธุรกิจกับการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact) และคอยปรับปรุงแนวคิดด้านการออกแบบสินค้าให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าด้วย
คุณนิโลบล ประมาณ จาก FlowFolk ผู้พัฒนาโปรเจกต์ “Happy Field Happy Farm” โดยเริ่มต้นจากการพัฒนาสินค้าทางการเกษตรอย่างข้าวออแกนิก ของจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณนิโลบลเอง และแบรนด์ “ม่วนจอย” ที่เน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในจังหวัดแพร่
เนื่องจากมองเห็นโอกาสว่า สิ่งที่ทำอยู่สามารถพัฒนาและสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรวมได้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การนำสินค้าเกษตรมาแปรรูปขายเพียงอย่างเดียว เพราะจริงๆ แล้ว ภายในจังหวัดแพร่ก็มีของดีอีกมากมายนอกเหนือจากข้าว เช่น ม่อฮ่อม หรือไม้สัก ประกอบกับตัวชุมชนเองก็ไม่ได้มีแค่เกษตรกร แต่ยังมีทั้งช่างไม้ ช่างเย็บผ้าทอผ้า รวมถึงกลุ่มงานฝีมือต่างๆ
จึงใช้พื้นฐานความรู้ที่เรียนจบมาในด้านอุตสาหกรรมเกษตร เกิดเป็นแนวทางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ลองออกแบบสินค้าพื้นเมืองจากทรัพยากรทุกอย่างที่มีอยู่ ไม่ว่าจะไม้สัก เศษไม้ ผ้าทอ ไปจนถึงสมุนไพร มาปรับปรุงภาพลักษณ์ให้ทันสมัย และออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม อย่างเมื่อปีที่ผ่านมา ได้ริเริ่มการนำผ้าม่อฮ่อมมาผลิตเป็นกระเป๋าปักมือ เพื่อช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น
ส่วนสินค้าทางการเกษตรอย่างข้าวออแกนิก ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการขยายการผลิต และสร้างเครือข่ายเกษตรกรในจังหวัดเพิ่มอีก 50 คน บนพื้นที่ 400 ไร่ ซึ่งโมเดลธุรกิจของ FlowFolk สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรและชาวชุมชนในจังหวัดแพร่ ปีละเกือบ 2 ล้านบาท
เคล็ดลับของ FlowFolk อยู่ที่ศักยภาพของคนในชุมชน สินค้าที่สามารถต่อยอดได้และสอดคล้องกับเทรนด์ผู้บริโภค และการเพิ่มมูลค่า (value) ให้กับสินค้าแต่ละชิ้น ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของ FlowFolk ก็คือ การที่วันหนึ่งโมเดลม่วนจอยนี้ จะสามารถนำไปปรับใช้ในการพัฒนาชุมชนที่อื่นๆ ได้ด้วย
เรียกได้ว่า จากจุดเริ่มต้นของทั้ง 3 โครงการ คือ ความฝันเล็กๆ
กลายมาเป็นธุรกิจที่ได้สร้างผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้างให้แก่สังคมไทยได้
ซึ่งแน่นอนว่า คงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และก่อให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อสังคมได้อย่างยั่งยืน
ด้วยความต้องการที่จะสานฝันให้กับกิจการเพื่อสังคมไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจเพื่อสร้าง impact ให้กับสังคมได้อย่างมั่นคง
ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จจากโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ Banpu Champions for Change ซึ่งเป็นความร่วมมือของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจด้านพลังงานแบบครบวงจรแห่งเอเชีย-แปซิฟิก และ ChangeFusion องค์กรไม่แสวงผลกำไร
มุ่งหวังที่จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจประกอบกิจการเพื่อช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ได้เรียนรู้การพัฒนาแผนธุรกิจ การสร้างแบรนด์ รวมถึงรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ และค้นหาคุณค่าของสินค้าและบริการ
จาก SE. School แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้ความรู้ด้านกิจการเพื่อสังคม
ให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ
มาต่อยอดกิจการเพื่อสังคมของตนเองให้มีระบบและชัดเจน
เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีทั้งทางธุรกิจและสังคม
โดยมีการมอบทุนสนับสนุนให้กับทีมที่ได้เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนเงินปีละกว่า 2 ล้านบาท
โครงการนี้ ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 แล้ว มีกิจการที่เข้าร่วม และประสบความสำเร็จมากมาย ซึ่งก็รวมถึง Toolmorrow, Moreloop และ FlowFolk ที่กล่าวมาในข้างต้นด้วย
ส่วนงาน Impact Day 2019 นี้ บ้านปูฯ ได้จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงคนที่มีอุดมการณ์อยากเปลี่ยนแปลงสังคม
ให้ได้พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน
ผ่านกิจกรรมเสวนาและเวิร์กชอปต่างๆ ในงาน
เพื่อเป็นส่วนเล็กๆ ที่สนับสนุนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับสังคมไทย
เพราะบ้านปูฯ เชื่อว่า พลังความรู้ คือ พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา
“การเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา “คน”
ซึ่งจะขับเคลื่อนชุมชน และสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืน ในระยะยาว..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.