บริษัทสายการบิน กำลังขาดทุนทุกราย

บริษัทสายการบิน กำลังขาดทุนทุกราย

15 พ.ย. 2019
บริษัทสายการบิน กำลังขาดทุนทุกราย / โดย ลงทุนแมน
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา.. บริษัทสายการบินหลายแห่ง
รวมตัวกันร้องเรียนกระทรวงการคลังเพื่อให้ลดภาษีน้ำมัน
อุตสาหกรรมสายการบินหลายบริษัท กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต
ผลประกอบการขาดทุนทุกราย
เรื่องนี้มันเกิดขึ้นมาจากอะไร
แล้วมันเป็นปัญหาเรื้อรัง หรือแค่ชั่วคราว
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ตอนนี้ บริษัทสายการบินกำลังขาดทุนหนัก
ตั้งแต่ต้นปี หรือ 9 เดือนแรก ปี 2562
การบินไทย ขาดทุน 11,120 ล้านบาท
นกแอร์ ขาดทุน 1,615 ล้านบาท
ไทยแอร์เอเชีย ขาดทุน 417 ล้านบาท
การบินกรุงเทพ ขาดทุน 132 ล้านบาท
ที่ขาดทุนขนาดนี้ น่าสนใจว่าโมเดลธุรกิจของสายการบินเป็นอย่างไร
ธุรกิจสายการบินดูเหมือนเป็นธุรกิจที่หอมหวาน
เพราะเทรนด์การเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมา
แต่การเติบโตไม่ได้ช่วยอะไร ถ้าเรากำหนดราคาตั๋วเองไม่ได้
เพราะราคาตั๋วของสายการบินทั่วไป
มักจะถูกกดดันจากการแข่งขันของอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินที่ถ้าใครได้เข้ามาแล้ว บอกได้เลยว่าออกจากธุรกิจยาก
จะออกจากธุรกิจอีกทีก็ต้องล้มกันไปข้างหนึ่ง
ทำไมธุรกิจสายการบินถึงออกยาก?
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพโมเดลธุรกิจแบบง่ายๆ ดังนี้
ถ้าเราเป็นเจ้าของสายการบิน A และต้องการซื้อเครื่องบินมาให้บริการ
ส่วนใหญ่ก็จะต้องกู้เงินเพื่อมาซื้อ
ทีนี้เมื่อกู้แล้ว เราก็จะได้เครื่องบินมา
แต่ในระหว่างทาง เราก็ต้องจ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้
ดังนั้น เราก็ต้องมาลุ้นว่าผู้โดยสารจะเต็มเครื่องบินไหม
ถ้าอยู่ในช่วงดี เครื่องเต็ม หรือเกือบเต็ม เงินที่ได้จากผู้โดยสารก็จะเพียงพอที่จะจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย และเหลือเป็นกำไร
แต่ถ้าเครื่องดูโหรงเหรง ไม่มีผู้โดยสาร แน่นอนว่าเราจะเจอปัญหาเงินไม่พอจ่ายเงินกู้ ก็ต้องกู้จากแหล่งอื่นเพิ่มมาโปะหนี้ที่มีอยู่
ถ้าเป็นธุรกิจอื่น เช่น ร้านอาหาร หรือ ธุรกิจรับสินค้ามาขาย ก็อาจจะเลิกขายสินค้านั้น หรือปิดร้านอาหารนั้นไป ซึ่งถือว่าเสียเงินไม่มาก
แต่ผิดกับเครื่องบินที่หนึ่งลำมีมูลค่ามหาศาล เมื่อซื้อมาแล้ว ยากที่จะถอยหลัง
ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่า สายการบินก็ต้องใช้งานเครื่องบินให้มากที่สุด เพื่อให้คุ้มค่ากับที่จ่ายเงินไป
มาถึงตอนนี้ หนทางที่สายการบินจะแก้ปัญหาเครื่องบินผู้โดยสารไม่เต็มลำก็คือ
1. การเปลี่ยนเส้นทางบินให้ผู้โดยสารมากกว่าเดิม
2. การปิดเส้นทาง และขายเครื่องบิน แต่ถ้าขายก็ต้องยอมรับว่า ราคาขายจะต่ำกว่าที่ซื้อมาตอนแรกมาก
3. การลดราคาเพื่อเติมผู้โดยสารให้เต็มลำ
ยกตัวอย่าง ถ้าเรามีผู้โดยสารขึ้นเครื่อง 70% การลดราคาตั๋วในส่วน 30% ที่เหลือ จะทำให้รายได้โดยรวมมากกว่าเดิม โดยที่ต้นทุนไม่ได้เพิ่มมาก เพราะค่าน้ำมันก็เสียเท่าเดิม ค่าพนักงานก็เท่าเดิม ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่จ่ายก็เท่าเดิม
นั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ เราเห็นโปรโมชันตั๋วเครื่องบินราคาถูกออกมาเป็นช่วงๆ ทั้งนี้ก็เพื่อเอาผู้โดยสารมาเติมอีก 30% ให้เต็มเครื่อง อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
แต่เมื่อมีรายหนึ่งออกมาทำโปรโมชัน มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับสายการบินรายอื่น นอกจากนั้นก็ยังมีสายการบินต่างประเทศที่มีจุดหมายบินมาประเทศไทยมาร่วมสงครามนี้อีก
ยิ่งประเทศไทยเป็นฮับสายการบิน การแข่งขันของสายการบินในประเทศไทยยิ่งรุนแรง
สุดท้ายก็เป็น “สงครามทะเลเลือด” ที่ผู้ร่วมสงครามไม่มีวันได้ออก
พอเรื่องเป็นแบบนี้ สายการบินต่างๆ ก็พากันขาดทุน แม้แต่สายการบินต้นทุนต่ำเบอร์หนึ่งอย่างแอร์เอเชียก็ขาดทุนกับเขาด้วยในปีนี้
เรื่องนี้ส่งผลต่อเนื่องไปถึงราคาหุ้นของสายการบินที่ปรับตัวลดลงอย่างหนัก
ลดลงจนต่ำกว่าราคา IPO ในวันแรกเมื่อหลายปีที่แล้วเสียอีก
หุ้นนกแอร์
ราคา IPO 26.00 บาท ที่ปี 2556
ราคาปัจจุบัน 2.10 บาท
ลดลง 92%
หุ้นไทยแอร์เอเชีย
ราคา IPO บาท 3.70 บาท ที่ปี 2555
ราคาปัจจุบัน 2.26 บาท
ลดลง 39%
หุ้นการบินกรุงเทพ
ราคา IPO 25.00 บาท ที่ปี 2557
ราคาปัจจุบัน 7.10 บาท
ลดลง 72%
สรุปแล้วใครที่ซื้อหุ้น IPO สายการบินเหล่านี้มา แล้วยังถืออยู่ถึงตอนนี้ จะไม่มีใครได้กำไร
และอีกบริษัทที่ทุกคนก็รู้ว่ามีปัญหาก็คือ การบินไทย
ตอนนี้การบินไทยมีหนี้กองอยู่ที่บริษัท 245,000 ล้านบาท ในขณะที่เหลือส่วนของผู้ถือหุ้น 12,500 ล้านบาท ถ้าคิดเป็นอัตราส่วนหนี้ต่อทุน หรือ D/E ก็ประมาณ 20 เท่า
และถ้าขาดทุนด้วยอัตราเดียวกับปีนี้
ในปีหน้า ส่วนทุนของการบินไทยก็จะเหลือ 0 และต้องเพิ่มทุนอีกครั้ง
ซึ่งการบินไทยเพิ่มทุนแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง
และคนที่ต้องรับผิดชอบจากการเพิ่มทุนมากที่สุดก็คือ
กระทรวงการคลัง ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดที่ 51%
กระทรวงการคลังเป็นของรัฐบาล
ซึ่งมันก็อาจหมายถึง
“คนไทยทุกคน มีส่วนในการรับผิดชอบการขาดทุนของการบินไทยอยู่ครึ่งหนึ่งนั่นเอง”
ก็ไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร
แต่ตอนนี้บอกได้เลยว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังย่ำแย่ และต้องรอวันที่ผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นจนมากพอ พอที่จะเติมผู้โดยสารให้เต็มเครื่องบินทั้งหมด
และในวันที่ดีมานด์ของผู้โดยสารขึ้นมากพอ มันก็จะวนกลับไปเรื่องเดิมคือ สายการบินต่างๆ ก็จะแห่ไปซื้อเครื่องบินมาเพิ่ม เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น
สุดท้ายก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม เหมือนเป็นคำสาปของธุรกิจนี้
สงครามทะเลเลือด ที่ไม่มีวันจบ
จนกว่าผู้ทำสงครามจะไม่ไหว และหยุดหายใจไปเอง..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.