สรุปกฎหมายเกี่ยวกับ Grab ที่กำลังจะเกิดขึ้น

สรุปกฎหมายเกี่ยวกับ Grab ที่กำลังจะเกิดขึ้น

23 พ.ย. 2019
สรุปกฎหมายเกี่ยวกับ Grab ที่กำลังจะเกิดขึ้น /โดย ลงทุนแมน
การนำรถส่วนบุคคล มารับจ้างโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน
กำลังอยู่ในกระบวนการทำให้ถูกกฎหมาย
ซึ่งเรื่องนี้ถ้าทุกคนจำกันได้ เป็นหนึ่งนโยบายตอนหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย
มาวันนี้เรื่องนี้กำลังจะเกิดขึ้นจริง
โดยล่าสุดมีร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับออกมาจากกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ในการทำประชาพิจารณ์
แล้วร่างกฎกระทรวงนี้ ระบุไว้ว่าอย่างไรบ้าง
ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
┏━━━━━━━━━━━━┓
บทความนี้ของลงทุนแมน โพสต์ล่วงหน้าใน
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
┗━━━━━━━━━━━━┛
ทุกคนรู้ดีว่าตอนนี้ปัญหาที่คนเรียกแท็กซี่เจออยู่บ่อยครั้ง คือ
-เรียกแล้วแท็กซี่ไม่ไป
-ถ้าเป็นชาวต่างชาติ เรียกแล้ว แท็กซี่ไม่กดมิเตอร์
-ถ้าบ้านอยู่ในซอยลึก หรือในหมู่บ้าน ไม่สะดวกออกมาเรียกแท็กซี่
นั่นจึงเป็นสาเหตุของการเกิดขึ้นของแอปพลิเคชันสำหรับการรับจ้างโดยสาร
ถ้าถามว่าในประเทศไทยมีแอปไหนบ้างที่ให้บริการลักษณะนี้
เมื่อก่อนอาจจะมี Uber อยู่ในคำตอบ
แต่ตอนนี้ Grab อาจจะเป็นแอปเดียวที่เรานึกถึง เพราะ Grab ได้ซื้อ Uber ไปแล้ว
เรื่องนี้ทำให้ผู้มีรถส่วนตัวสามารถมีรายได้เสริม
ผู้โดยสารก็ได้ประโยชน์คือ สามารถเรียกรถได้สะดวก ลดปัญหาแท็กซี่ไม่ไป
ด้วยเหตุผลนี้ ทำให้ที่ผ่านมา การใช้บริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ
ในขณะเดียวกันก็มีแท็กซี่บางส่วนไม่พอใจ เพราะ Grab เข้ามาแย่งลูกค้าโดยไม่มีใบอนุญาตแบบถูกกฎหมายเหมือนแท็กซี่
ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนสงสัยคือ เป็นไปได้ไหมว่า Grab จะถูกกฎหมาย?
ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นหลักที่พรรคภูมิใจไทยใช้ตอนหาเสียงว่าจะทำให้ Grab ถูกกฎหมาย
มาวันนี้พรรคภูมิใจไทยได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นกฎหมายเรื่องนี้ถูกผลักดันตามสิ่งที่พรรคได้รับปากไว้
ล่าสุด กรมการขนส่งทางบก มีการเปิดให้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ ผ่านทาง
เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก https://dlt.go.th/th/announce/
เว็บไซต์สำนักงานกฎหมาย กรมการขนส่งทางบก http://elaw.dlt.go.th/
ถ้าเราอ่านจะพบว่า กฎหมายนี้ครอบคลุมเรื่อง หลักเกณฑ์การนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้ในการรับจ้างบรรทุกคนโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน
รวมไปถึง การขอรับใบอนุญาตประกอบการของบริษัท
เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะถ้ากฎกระทรวงนี้ถูกบังคับใช้ เราจะเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคนี้ที่ใช้ Grab ได้ถูกกฎหมาย ตามหลังมาเลเซีย และ สิงคโปร์
แล้วทำไมต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว?
จุดประสงค์ของกฎหมายนี้ระบุว่าปัจจุบันมีผู้นำรถยนต์ส่วนบุคคลมารับจ้างโดยสารเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นการยากที่จะต่อต้าน
และเนื่องจากกระแสความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการใช้รถให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมและกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัย และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับรถยนต์สาธารณะในระบบอีกด้วย
แล้วเนื้อหากฎหมายระบุไว้ว่าอย่างไร?
ลงทุนแมนจะขอสรุปเนื้อหาเบื้องต้นก็คือ
ด้านบุคคล
1. บุคคลที่จะนำรถส่วนตัวมาให้บริการ ต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทย
2. บุคคลนั้นต้องมีสิทธิ์ครอบครองรถนั้น
3. บุคคลนั้นต้องมีใบขับขี่รถยนต์สาธารณะ
4. บุคคลนั้นต้องผ่านการอบรมตามที่กฎหมายกำหนด
ด้านตัวรถ
1. รถต้องมีเครื่องอุปกรณ์ครบถ้วน มีความสะอาดเหมาะสมสำหรับรับคนโดยสาร
2. รถต้องมีอายุไม่เกิน 9 ปี โดยต้องเป็นรถที่ไม่ถูกดัดแปลง หรือซ่อมแซมจากรถที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง
3. รถต้องมีกระจก ต้องมองเห็นชัด กระจกด้านหน้าถ้าติดฟิล์ม ต้องให้แสงผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ในกรณีนี้ใครที่ติดฟิล์มมืดมากๆ จะนำรถมาให้บริการไม่ได้
4. ต้องให้บริการในท้องที่ที่รถนั้นจดทะเบียนเป็นหลัก เช่น รถเชียงใหม่ไปให้บริการในกทม.ไม่ได้ รถกทม.ไปให้บริการในเชียงใหม่ไม่ได้
5. ชั่วโมงการทำงานปกติกับการขับรถให้บริการ ต้องไม่เกิน 12 ชั่วโมง เราจะขับรถหามรุ่งหามค่ำไม่ได้
6. รถที่ให้บริการนี้ต้องติดเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ตามที่กำหนด
ด้านบริษัทที่ขอใบอนุญาต
1. บริษัทต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายไทย
2. บริษัทต้องมีพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม มีโครงสร้างองค์กรที่น่าเชื่อถือ มีระบบเทคโนโลยีเป็นของตนเอง มีหลักเกณฑ์การคิดและแสดงค่าโดยสารตามกฎหมายที่กำหนด
3. มีศูนย์บริการลูกค้าและรับเรื่องร้องเรียน 24 ชั่วโมง และมีระบบจัดการข้อร้องเรียน โดยให้มีการระงับการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที และที่น่าสนใจคือ การบริการลูกค้า ต้องมีภาษาให้บริการอย่างน้อย 3 ภาษา นั่นก็คือ ไทย อังกฤษ และ จีน
เมื่อไปดูข้อมูลของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพที่สำรวจความคิดเห็น มีคนเห็นด้วยมากถึง 95.7% ที่จะให้รถรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันถูกกฎหมาย
เหตุผลหลักที่พวกเขาเห็นด้วยก็คือ
1. บริการประเภทนี้ปลอดภัย เพราะมีข้อมูลผู้ขับ และทะเบียนรถเป็นหลักฐานในแอปพลิเคชัน
2. บริการประเภทนี้ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร เรียกใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง
3. บริการประเภทนี้สะดวก ใช้งานง่าย ทั้งเวลาเรียกรถ เวลาจ่ายเงิน
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ผู้ตอบคำถามอยากให้มีเพิ่มเติม ถ้าเรื่องนี้ถูกกฎหมายแล้วก็คือ
1. เรตอัตราค่าโดยสารต้องยุติธรรม
2. สภาพรถใหม่พร้อมใช้บริการ
3. ควรมีสติกเกอร์หรือสัญลักษณ์บ่งบอกที่ตัวรถที่ให้บริการ
ทั้งหมดนี้น่าสนใจ เพราะดูเหมือนว่าเมื่อก่อน การนำรถส่วนบุคคลมาขับให้บริการจะเป็นอิสระไม่มีใครควบคุม มาวันนี้รัฐเห็นว่าไหนๆ ก็ห้ามไม่ได้ จึงตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นมากำกับและควบคุมให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และมีความปลอดภัยมากขึ้น
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า กฎกระทรวงนี้จะผ่านการประชาพิจารณ์และถูกบังคับใช้เมื่อไร
ต่อไป คนขับ Grab ก็คงไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ
คนใช้บริการ Grab ก็มั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้น
บริษัท Grab ก็ต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด
ส่วนแท็กซี่ในระบบเดิมก็จะได้ปรับตัวถูก และได้รับความเป็นธรรม เพราะ Grab ก็ต้องมาอยู่ในกฎกติกาที่ถูกควบคุมไม่ให้ได้เปรียบแท็กซี่เช่นกัน
และสุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์ที่สุด
ก็น่าจะเป็นประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้ใช้บริการอย่างสะดวกและปลอดภัยมากขึ้นนั่นเอง..
ใครอยากแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎกระทรวงนี้ลองเข้าไปที่ลิงก์
เว็บไซต์กรมขนส่งทางบก https://dlt.go.th/th/announce/
เว็บไซต์ สำนักงานกฎหมายกรมขนส่งทางบก http://elaw.dlt.go.th/
รัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562
----------------------
บทความนี้ของลงทุนแมน โพสต์ล่วงหน้าใน
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.