ฟิลิปปินส์ ประเทศที่ “เคยรวยกว่า” ไทย

ฟิลิปปินส์ ประเทศที่ “เคยรวยกว่า” ไทย

25 พ.ย. 2019
ฟิลิปปินส์ ประเทศที่ “เคยรวยกว่า” ไทย /โดย ลงทุนแมน
เมื่อ 60 ปีที่แล้ว คนฟิลิปปินส์เคยมีรายได้ต่อหัวมากกว่าคนไทย 2.5 เท่า
ปี 1960 คนฟิลิปปินส์มีรายได้ต่อปี 5,450 บาท
ในขณะที่คนไทยมีรายได้ต่อปีเพียง 2,140 บาท
แต่พอถึงปี 2018 กลับกลายเป็นคนไทยที่มีรายได้ต่อหัวมากกว่าคนฟิลิปปินส์ 2 เท่า
โดยคนไทยมีรายได้ต่อปี 216,900 บาท
คนฟิลิปปินส์มีรายได้ต่อปี 93,680 บาท
ครั้งหนึ่งฟิลิปปินส์เคยเป็นประเทศที่รุ่งเรือง มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี
กรุงมะนิลาเป็นเมืองหลวงแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีระบบรถไฟฟ้า
ระบบการศึกษาของฟิลิปปินส์มีชื่อเสียงมากในภูมิภาค
คนไทยที่มีฐานะจำนวนไม่น้อย ส่งลูกหลานไปศึกษาต่อยังประเทศฟิลิปปินส์
เกิดอะไรขึ้นกับประเทศหมู่เกาะที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มาวันนี้กลับไม่ได้เป็นอย่างที่เคยเป็น
ยินดีต้อนรับเข้าสู่ ซีรีส์บทความ ประเทศที่ “เคยรวยกว่า” ไทย ตอน ฟิลิปปินส์
┏━━━━━━━━━━━━┓
บทความนี้ของลงทุนแมน โพสต์ล่วงหน้าใน
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
┗━━━━━━━━━━━━┛
คำตอบสำหรับคำถามนี้ อาจประกอบไปด้วยปัจจัยหลายประการด้วยกัน
ประการแรกอาจจะเป็นเหตุผลที่หลายคนคิดไม่ถึง
นั่นก็คือ สภาพทางภูมิศาสตร์..
หมู่เกาะฟิลิปปินส์ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางมหาสมุทร
ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่มากกว่า 7,600 เกาะ
การมีเกาะจำนวนมากทำให้การคมนาคม การสื่อสาร และการติดต่อค้าขาย
เป็นไปด้วยความยากลำบาก
อีกทั้งทำเลที่ตั้งยังอยู่ในเขตวงแหวนแห่งไฟ และใกล้เส้นศูนย์สูตร
ฟิลิปปินส์จึงประสบภัยธรรมชาติบ่อยครั้ง ทั้งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และพายุไต้ฝุ่น
ภัยพิบัติเหล่านี้ล้วนสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมหาศาลในทุกๆ ปี
และด้วยการที่ภูมิประเทศส่วนใหญ่ยังเป็นภูเขา ทำให้พื้นที่เพาะปลูกมีน้อย
เมื่อรวมกับปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้บ่อยครั้ง ผลผลิตทางการเกษตรมีไม่เพียงพอต่อความต้องการอาหารในประเทศ
เนื่องจากฟิลิปปินส์มีปัญหาประการต่อมา ก็คือ
จำนวนประชากร..
ในปี 1960 ไทยมีประชากร 27.4 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประชากรฟิลิปปินส์ที่มีอยู่ 26.3 ล้านคน
แต่เมื่อถึงปี 2018 ไทยมีประชากร 69 ล้านคน
ในขณะที่ประชากรฟิลิปปินส์พุ่งสูงถึง 106.7 ล้านคน
ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ล้มเหลวในการคุมกำเนิดประชากร
สาเหตุหลักมาจากความเชื่อทางศาสนาที่ไม่สนับสนุนการคุมกำเนิด
ประชากรฟิลิปปินส์จึงเพิ่มขึ้นในอัตรา 1.72% ต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่พื้นที่มีเพียง 300,000 ตารางกิโลเมตร
ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ
ผลผลิตจากการเพาะปลูกภายในประเทศไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูประชากร
ฟิลิปปินส์จำเป็นต้องนำเข้าอาหารหลักโดยเฉพาะข้าว จากต่างประเทศ
คิดเป็นมูลค่าถึง 22,000 ล้านบาท ในปี 2017
ยังไม่รวมสินค้านำเข้าประเภทอื่นๆ ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม ยานยนต์ และเชื้อเพลิง
ทำให้ฟิลิปปินส์ประสบปัญหาการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา
เมื่อประชากรมาก แต่แหล่งงานในประเทศมีจำกัด ทำให้เกิดการว่างงานสูง
คนฟิลิปปินส์กว่า 10 ล้านคน จึงต้องอพยพไปทำงานยังต่างประเทศ
และนั่นทำให้ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกแรงงานมากที่สุดในโลก
รองจากอินเดียและจีน
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีข้อเสียก็มีข้อดี
ผู้อพยพเหล่านี้ส่งเงินกลับบ้านเป็นจำนวนมาก
คิดเป็นมูลค่ากว่า 9.9 แสนล้านบาท ในปี 2017 ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก
การส่งเงินกลับบ้านนี้สามารถช่วยบรรเทาการขาดดุล และภาวะเงินไหลออกได้ระดับหนึ่ง
ซึ่งหากเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์แล้ว
เงินจากผู้อพยพจะคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 10% ของ GDP ประเทศ
ค่านิยมการอพยพไปทำงานในต่างประเทศ กลายเป็นความใฝ่ฝันของชาวฟิลิปปินส์
แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง นี่คือปรากฏการณ์สมองไหลครั้งใหญ่
ผู้อพยพจำนวนไม่น้อยเป็นผู้มีทักษะความรู้ความสามารถ
ทั้งในด้านวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล หรือนักกฎหมาย
เมื่อทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ทยอยออกจากประเทศมากขึ้นทุกปี
ฟิลิปปินส์จึงขาดบุคลากรที่ดีมาช่วยกันพัฒนาประเทศ
แต่จากปัญหา 2 ประการข้างต้น
ทั้งปัจจัยภูมิศาสตร์ และประชากร
ก็คงเทียบไม่ได้เลยกับปัญหาที่หนักหนาที่สุด
ปัญหาที่ฝังรากลึกลงมานาน
ปัญหานั้นก็คือ
คอร์รัปชัน..
ฟิลิปปินส์เต็มไปด้วยระบบการเมืองแบบเส้นสาย
อำนาจรัฐในฟิลิปปินส์จำเป็นต้องพึ่งพิงการสนับสนุนจากกลุ่มอำนาจอิทธิพลท้องถิ่น
จุดเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญจนนำฟิลิปปินส์มาสู่การเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ
เริ่มต้นจากการเมืองยุคของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos)
ในช่วงปี 1965 - 1986 ซึ่งกินระยะเวลายาวนานกว่า 21 ปี
มาร์กอสได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีครั้งแรกในปี 1965
ในสมัยแรกของมาร์กอส เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ยังคงเจริญรุ่งเรือง
ส่วนหนึ่งมาจากการช่วยเหลือทางการเงินของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น
แต่ในการเลือกตั้งสมัยต่อมา
มาร์กอสได้ใช้เงินซื้อเสียงจำนวนมากจนได้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง
คราวนี้มาร์กอสบริหารประเทศโดยดำเนินนโยบายที่เอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเอง และพวกพ้องอย่างมหาศาล ทั้งตำแหน่งทางการเมือง และโครงการก่อสร้างต่างๆ
อีกทั้งยังกุมอำนาจผูกขาดทั้งภาคเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม
แต่งตั้งคนที่ไว้ใจเข้าไปคุมในกระทรวง และรัฐวิสาหกิจทั้งหมด
พร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จากเดิมที่ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งครั้งละ 4 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ให้เป็น 20 ปี
ท้ายที่สุด เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ..
ระบบเศรษฐกิจเกิดวิกฤติเนื่องมาจากการขาดประสิทธิภาพในการจัดการ
จนรัฐบาลต้องขอกู้เงินจาก IMF
หนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1962
เป็น 26,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1985
หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 73 เท่า
นอกจากนั้น มาร์กอสยังใช้อำนาจในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรง
โดยใช้ทหารและตำรวจเข้าจัดการ
แต่ที่พีกที่สุดก็คือ การลอบสังหารผู้นำฝ่ายค้าน เบนิกโน อากีโน จูเนียร์ เสียชีวิตคาสนามบิน
เรื่องนี้เป็นตัวจุดชนวนให้ประชาชนทนไม่ไหว
ต่างรวมตัวกันออกมาขับไล่มาร์กอสให้พ้นจากตำแหน่งในปี 1986
ภรรยาของผู้นำฝ่ายค้านที่เสียชีวิตคือ คอราซอน อากีโน ได้ก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกหลังจากนั้น
แม้รัฐบาลของอากีโน จะเริ่มต้นด้วยความปรารถนาดีพร้อมเสียงสนับสนุนจากประชาชน
แต่โครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยวไปแล้ว และผู้นำก็หนีไม่พ้นจากการกอบโกยผลประโยชน์สู่ตนเองและครอบครัว ก็นำมาสู่การต่อต้านจากประชาชนอีกครั้ง
ความสิ้นหวังในนักการเมือง ทำให้ประชาชนหันไปเลือกดาราภาพยนตร์ ที่ชื่อว่า โจเซฟ เอสตราดา
มาเป็นประธานาธิบดีในปี 1998
แล้วดาราผู้ไม่มีความสามารถในการบริหาร ก็ซ้ำเติมประเทศด้วยการทุจริตไม่ต่างกัน
เอสตราดาถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่ง ในปี 2001
และถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตด้วยข้อหาคอร์รัปชัน
แต่เอสตราดากลับไม่ติดคุก
เพราะได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดีสมัยต่อมาก็คือ กลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ซึ่งเคยเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยเอสตราดา
ที่น่าสนใจคือ อาร์โรโย เองก็ถูกจับด้วยข้อหาทุจริตเลือกตั้งในเวลาต่อมา..
จะเห็นได้ว่า การเมืองฟิลิปปินส์ที่ผ่านมาวนเวียนอยู่กับปัญหาคอร์รัปชันของผู้นำประเทศมานานหลายสิบปี
ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้นำไปแล้วกี่คน
คนใหม่มา ก็ยังเกิดปัญหาเดิม จนประชาชนในประเทศเริ่มหมดหวัง
สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่ร่ำรวยกว่าไทยอยู่ 2.5 เท่า
มาวันนี้ประเทศฟิลิปปินส์กลับตามหลังไทยอยู่ 2 เท่า
เรื่องนี้น่าจะเป็นบทเรียนให้กับประเทศเราได้เป็นอย่างดี
ถ้าผู้นำยังคงวนเวียนอยู่กับการคอร์รัปชัน
ไม่ว่าเราจะมีทำเลทางภูมิศาสตร์ดีอย่างไร
หรือเราจะมีประชากรที่มีความสามารถแค่ไหน
สุดท้ายผู้นำที่แย่ สามารถนำประเทศไปสู่จุดหายนะได้เสมอ
และปัญหาเดียวกัน กำลังเกิดขึ้นกับอีกประเทศในอีกซีกโลกหนึ่ง
แต่ความรุนแรงของประเทศนี้กลับมากกว่าฟิลิปปินส์
ทั้งๆ ที่ประเทศนี้มีทรัพยากรมหาศาล
ผู้คนในประเทศเคยรวยกว่าไทยถึง 11 เท่า
มาในวันนี้กลับแย่ลง จนแทบจะเป็นศูนย์
ประเทศนี้มีชื่อว่า “เวเนซุเอลา”..
ติดตาม ซีรีส์ ประเทศที่ “เคยรวยกว่า” ไทย ตอนต่อไปได้ในสัปดาห์หน้า
โหลดแอป Blockdit เพื่ออ่านซีรีส์ตอนก่อนหน้านี้ ได้ที่ Blockdit.com/download
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.