สรุปเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของ “ทุนธนชาต”

สรุปเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของ “ทุนธนชาต”

26 พ.ย. 2019
ผู้สนับสนุน..
สรุปเส้นทางการเปลี่ยนแปลงของ “ทุนธนชาต” / โดย ลงทุนแมน
เหตุการณ์ที่น่าจับตามอง ในแวดวงการเงิน ซึ่งมองข้ามไม่ได้เลยในรอบปี
คือ การรวมกิจการระหว่าง ธนาคารธนชาต และธนาคารทหารไทย
ซึ่งธนาคารใหม่นี้ จะมีสินทรัพย์รวมกันประมาณ 2 ล้านล้านบาท และมีลูกค้าที่ให้บริการกว่า 10 ล้านราย
ปัจจุบัน ธนาคารธนชาต เป็นผู้นำด้านสินเชื่อรถยนต์ของประเทศ
และเป็นบริษัทย่อยของ ทุนธนชาต หรือ TCAP
แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ ทุนธนชาต ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้ง
และจุดเริ่มต้นของการเดินทางนี้ เกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
คุณบันเทิง ตันติวิท และคุณศุภเดช พูนพิพัฒน์ ได้เข้าไปฟื้นฟู แคปปิตอลทรัสต์
ซึ่งเติบโตมาจาก ลี กวง มิ้ง บริษัทส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่มีพนักงานเพียงไม่กี่คน
และต่อมาปี พ.ศ. 2523 ก็ได้เปลี่ยนเป็นบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ
ด้วยความทุ่มเทของพวกเขา ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างมาก
จนกลายเป็นบริษัทเงินทุนอันดับต้นๆ ของประเทศ ในเวลานั้น
แต่เมื่อมียามที่ท้องฟ้าแจ่มใส ก็ต้องมียามฝนพรำ
อย่างที่เรารู้กัน วิกฤตต้มยำกุ้งปี พ.ศ. 2540
ทำให้บริษัทที่ทำธุรกิจด้านการเงิน และเงินทุนต่างล้มกันเป็นโดมิโน
เหลือเพียงไม่กี่บริษัทที่เหลือรอดมาได้ ซึ่งธนชาต ก็เป็นหนึ่งในนั้น
หลังจากธนชาตก้าวข้ามผ่าน บททดสอบนั้นมาได้
ทำให้ธุรกิจมีภูมิคุ้มกัน และความแข็งแกร่งมากขึ้น
ซึ่งประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้คุณบันเทิง และคุณศุภเดช เลือกใช้กลยุทธ์ขยายธุรกิจ ที่ควบคู่กับการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น
โดยเริ่มตั้งแต่ แยกบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ออกจากกัน เป็นบริษัทเงินทุน, บริษัทหลักทรัพย์ ตามมาด้วยการเปิดบริษัทประกันภัย, ประกันชีวิต, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน, บริษัทบริหารสินทรัพย์ รวมถึงธุรกิจอื่นๆ เพื่อขยายอาณาจักรทางการเงิน และที่ยิ่งใหญ่สุด คือ การเปิดธนาคารธนชาต ในปี 2545 ซึ่งต่อมากลายเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อันดับ 6 ของระบบ พร้อมๆ กับการเป็นธนาคารผู้นำในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ของประเทศ
และเพื่อสนองนโยบายสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ (One Presence Policy) ของรัฐบาลในปี 2549 บริษัทเงินทุน ธนชาติ ได้คืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุน และเปลี่ยนชื่อเป็น ทุนธนชาต ซึ่งมีสถานะเป็น Holding Company เพื่อถือหุ้นในบริษัทลูก และบริษัทอื่นๆ
นี่ก็เป็นเรื่องราวที่ทำให้บริษัท ทุนธนชาต เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีธุรกิจทางการเงินหลากหลาย และครบวงจรมากที่สุดในประเทศไทย
ซึ่งนอกจากธนาคารพาณิชย์ที่เป็นธุรกิจหลักแล้ว
บริษัทลูกทั้งหลายของบริษัท ก็มีศักยภาพทางธุรกิจ และอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และความยั่งยืนให้กับบริษัท
นอกจากนี้ ทุนธนชาต ยังได้กระจายการลงทุน ไปยังธุรกิจอื่นนอกเหนือจากการเงิน
เช่น บริษัท เอ็ม บี เค หรือ MBK ที่ถืออยู่เกือบ 20%
ซึ่ง MBK ดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ตั้งแต่ ศูนย์การค้า, โรงแรม, อาหาร, การเงิน, อสังหาริมทรัพย์
แต่ที่น่าสนใจคือ MBK มีการถือหุ้นใน บริษัทสยามพิวรรธน์ ที่เป็นเจ้าของศูนย์การค้าชื่อดังอย่าง ไอคอนสยาม, สยามพารากอน, สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี ประมาณ 48% อีกด้วย
แต่ถ้าพูดถึงในช่วงนี้ การขยับตัวอีกครั้งของทุนธนชาต ในเรื่องการรวมกิจการธนาคาร
ได้สร้างความสั่นสะเทือนต่อวงการ จนทุกคนต้องหันมามอง..
แล้วทำไม ธนาคารธนชาต ต้องเข้ารวมกิจการกับธนาคารทหารไทย?
เพราะทุนธนชาต เล็งโอกาสการเติบโตและทำกำไรที่มากขึ้นในอนาคต
การนำจุดแข็งจากทั้งสองธนาคาร มาเสริมซึ่งกันและกัน จะช่วยให้ธุรกิจไปได้ไกลกว่า
ฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น เพราะทั้งสองธนาคารมีลูกค้าซ้อนทับกันเพียงไม่เกิน 10%
ขนาดกิจการที่ใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการประหยัดต่อขนาด
รวมถึงผนึกความเชี่ยวชาญแก่กัน โดยธนาคารธนชาต เป็นผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์
ส่วนธนาคารทหารไทย ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญในการระดมเงินฝาก
ซึ่งธนาคารใหม่ภายหลังการควบรวมกิจการ จะมีทุนธนชาต ถือหุ้น 20.4%, ING ถือหุ้น 21.3%, กระทรวงการคลัง 18.4%, สโกเทียแบงก์ 5.6% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 34.3%
ภายหลังทุนธนชาตปรับโครงสร้างธุรกิจและซื้อหุ้นเพิ่มทุนธนาคารทหารไทย ก็มีกลยุทธ์การเก็บเงินสดไว้เป็นกระสุน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสทางการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในท่ามกลางยุค Digital Disruption นี้
จะเห็นได้ว่า ทุนธนชาตมีการปรับตัวมาตลอดตั้งแต่เจอวิกฤต และปรับตัวมาแล้วหลายครั้งโดยครั้งล่าสุดก็คือ การเข้าซื้อธนาคารนครหลวงไทย แล้วนำมารวมกิจการกับธนาคารธนชาต ซึ่งก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี
ก็น่าติดตามว่าต่อไป กลยุทธ์ครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพ และสร้างการเติบของทุนธนชาต ให้ไปได้ไกลกว่าที่ผ่านมาขนาดไหน..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.