สายการบินได้อะไร เมื่อออกโปรโมชันตั๋วเครื่องบิน 0 บาท

สายการบินได้อะไร เมื่อออกโปรโมชันตั๋วเครื่องบิน 0 บาท

27 พ.ย. 2019
สายการบินได้อะไร เมื่อออกโปรโมชันตั๋วเครื่องบิน 0 บาท / โดย ลงทุนแมน
การแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินเพิ่มสูงขึ้น
สายการบินมีโปรโมชันแข่งขันกันมากมาย
หนึ่งในโปรโมชันที่สายการบินบางแห่งนำมาใช้
คือ ตั๋วเครื่องบิน 0 บาท
เราเคยสงสัยไหมว่า
โปรโมชันดังกล่าว สายการบินจะได้อะไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
┏━━━━━━━━━━━━┓
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
Blockdit.com/download
┗━━━━━━━━━━━━┛
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า
โดยปกตินั้นสายการบินจะมีการกำหนดราคาไม่เหมือนกัน
ถึงแม้ว่าจะเป็นจุดหมายเดียวกัน เดินทางเวลาเดียวกัน
เราก็อาจได้ราคาไม่เหมือนกัน
สิ่งสำคัญก็คือ กลยุทธ์ในการสร้างรายได้รวมสูงสุดในแต่ละเที่ยวบิน
ซึ่งกลยุทธ์ตั๋วเครื่องบิน 0 บาท คือหนึ่งในนั้น
โดย ตั๋วเครื่องบิน 0 บาท จะมีเฉพาะบางเที่ยวบิน และมีปริมาณที่จำกัดตามที่นั่งทั้งหมดบนเครื่อง
ตั๋วลักษณะนี้มักถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์การตลาด สำหรับเส้นทางการบินที่ได้รับความนิยมน้อย
เพื่อเพิ่มปริมาณผู้โดยสารในเที่ยวบินนั้นๆ ให้มากขึ้น ดีกว่าปล่อยที่นั่งให้เสียไปเปล่าๆ
เพราะต้นทุนหลักของสายการบินคือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และ ค่าพนักงาน
ไม่ว่าจะที่นั่งเต็ม หรือไม่เต็ม ก็มีค่าใช้จ่ายไม่ต่างกันมากนัก
ดังนั้น การทำโปรโมชันมาเติมที่นั่งให้เต็ม ไม่ได้ทำให้สายการบินต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
และในความเป็นจริง ถึงแม้ว่าเราสามารถจองตั๋วเครื่องบิน 0 บาทได้
แต่จะมีค่าบริการเสริมและค่าธรรมเนียมต่างๆ อีก เช่น ภาษีสนามบิน ค่าประกันเดินทาง ค่าเพิ่มน้ำหนักกระเป๋า หรือแม้แต่ค่าอาหารว่างบนเครื่องบิน
อีกสิ่งหนึ่งที่สายการบินจะได้นั่นคือ “การรับเงินค่าโดยสารล่วงหน้า” ก่อนที่ลูกค้าจะมาใช้บริการ เพราะปกตินั้น ตั๋วลักษณะดังกล่าวลูกค้ามักต้องจองล่วงหน้าเป็นช่วงเวลานานพอสมควร
หมายความว่า สายการบินจะมีเงินทุนมาใช้หมุนเวียนก่อน
โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปหาแหล่งเงินทุนที่เสียดอกเบี้ย
เรื่องนี้ก็จะทำให้สายการบินประหยัดต้นทุนทางการเงินได้อีกด้วย
ตัวอย่างเช่น กรณีของสายการบินแอร์เอเชีย ที่เคยออกตั๋วเครื่องบิน 0 บาท จำนวน 5 ล้านที่นั่ง ทั้งเส้นทางบินในประเทศและต่างประเทศเมื่อปี 2018
ในจำนวน 5 ล้านที่นั่ง เมื่อผู้โดยสารต้องจ่ายค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมให้แก่สายการบิน สมมติว่า เฉลี่ยตกคนละ 300 บาท หมายความว่า สายการบินจะได้เงินมาใช้ก่อนถึง 1,500 ล้านบาท โดยที่ไม่มีต้นทุนทางการเงิน
คิดง่ายๆ ว่า ถ้าสายการบินต้องการเงินจำนวนดังกล่าว แล้วไปกู้ยืมธนาคาร โดยธนาคารคิดดอกเบี้ย 5% หมายความว่า กลยุทธ์นี้จะช่วยให้สายการบินสามารถประหยัดดอกเบี้ยได้ถึง 75 ล้านบาท
เรื่องนี้ยังไม่รวม การประชาสัมพันธ์สายการบินไปในตัว
เพราะกลยุทธ์ดังกล่าวเปรียบเสมือนเป็นการโฆษณา ที่ใช้ผู้โดยสารหลายคนช่วยทำหน้าที่แทน เพราะตั๋วที่ราคาถูก ทำให้คนส่วนใหญ่มักบอกกันปากต่อปาก เป็นการสร้าง Brand awareness โดยที่สายการบินแทบไม่ต้องไปจ่ายค่าโฆษณาให้เปลืองงบประมาณ
สรุปแล้ว เมื่อพิจารณาปัจจัยหลายๆ ข้อ
เราจะเห็นว่า การออกตั๋วเครื่องบิน 0 บาท ที่ดูเหมือนสายการบินจะไม่ได้ประโยชน์อะไร
สุดท้ายแล้ว สายการบินอาจได้ประโยชน์มากกว่าที่เราคิดไว้ตั้งแต่แรก
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ในปี 2018 มีสายการบินโลว์คอสต์ที่ให้บริการในประเทศไทยทั้งหมด 6 ราย ซึ่งมีจำนวนเครื่องบินให้บริการทั้งหมด 136 ลำ เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าในระยะเวลาเพียง 6 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่สูง
โดยบรรดาสนามบินที่ AOT บริหารทั้งหมด 6 แห่งคือ สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง สนามบินเชียงใหม่ สนามบินหาดใหญ่ สนามบินภูเก็ต และสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงรายนั้น เกือบ 50% ของสายการบินที่มาใช้บริการเป็นสายการบินโลว์คอสต์
และรู้หรือไม่ว่า
สนามบินดอนเมืองเป็นสนามบินสำหรับสายการบินโลว์คอสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ซึ่งในปี 2018 มีผู้โดยสารมาใช้บริการสนามบินดอนเมืองถึงกว่า 40.5 ล้านคน
ขณะที่ปัจจุบัน ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่สนามบินดอนเมืองสูงสุดอยู่ที่ 30 ล้านคน เท่านั้นเอง..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-แบบฟอร์ม 56-1 บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)
-https://www.digitalbusinessconsult.asia/view/668/
-https://newsroom-airasia.squarespace.com/news/?offset=1535782404026&category=Thailand
-https://centreforaviation.com/analysis/reports/thailand-low-cost-airlines-rapid-growth-as-fleet-triples-in-5-years-407712
-https://centreforaviation.com/analysis/reports/bangkok-don-mueang-airport-worlds-largest-lcc-airport-to-surpass-40-million-passengers-in-2018-397645
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.