แพลทินัม กำลังเจอความท้าทาย

แพลทินัม กำลังเจอความท้าทาย

29 พ.ย. 2019
แพลทินัม กำลังเจอความท้าทาย / โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ ศูนย์การค้า เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์
มีค่าเช่าอย่างน้อยประมาณเดือนละ 3,000 บาทต่อตารางเมตร
ซึ่งถือเป็นหนึ่งในพื้นที่เช่าที่แพงสุดในประเทศไทยไม่แพ้ห้างหรูขนาดใหญ่
วันนี้กำลังเจอความท้าทาย
รู้ไหมว่าบริษัทนี้เคยมีอัตรากำไรสุทธิ 37%
ซึ่งก็ถือว่าสูงสุดในบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในอดีต
อาจไม่ได้บ่งบอกถึงความสำเร็จในอนาคต..
เพราะตอนนี้ราคาหุ้นของแพลทินัม กำลังอยู่ในจุดต่ำสุด
ตั้งแต่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2558
เกิดอะไรขึ้นกับแพลทินัม? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
┏━━━━━━━━━━━━┓
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
┗━━━━━━━━━━━━┛
จริงๆ แล้ว เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ เป็นเพียงหนึ่งในธุรกิจของบริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบัน เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป มีรายได้มาจาก 3 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่
1. ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เช่า ประกอบด้วย
โครงการ เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์
โครงการ เดอะ วอร์ฟ สมุย
โครงการ เดอะ นีออน ไนท์ บาซาร์
โครงการ เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก
2. ธุรกิจโรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ
3. ธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้า
ซึ่งหากดูผลประกอบการย้อนหลังแล้ว
จะพบว่า เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป เติบโตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
ปี 2559 รายได้ 1,863 ล้านบาท กำไร 704 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 2,059 ล้านบาท กำไร 772 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 2,117 ล้านบาท กำไร 785 ล้านบาท
โดยรายได้ของ เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ทุกๆ 100 บาทจะมาจาก
การให้เช่าและบริการ 65 บาท
การประกอบกิจการโรงแรม 19 บาท
การขายอาหารและเครื่องดื่ม 10 บาท
และรายได้อื่นอีก 6 บาท
จะเห็นว่ารายได้หลักของ เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป มาจากการให้เช่าและบริการ
ข้อดีของเรื่องนี้ก็คือ ถ้าโครงการของเราอยู่ในทำเลที่ดีมีคนเดินพลุกพล่าน
เราจะสามารถมีรายได้จากการให้เช่าไปเรื่อยๆ
ถึงแม้ว่ามีบางคนที่สู้ค่าเช่าไม่ไหว แต่ก็จะมีคนอื่นมารอต่อคิวเช่าพื้นที่อยู่ตลอดเวลา
และที่สำคัญคือ ไม่ต้องคอยลุ้นว่าเราจะขายได้หรือไม่ เพราะมีสัญญาเช่ารองรับไว้แล้วว่าผู้เช่าจะจ่ายเงินให้เราอย่างสม่ำเสมอ
“ทำเล” จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญของการลงทุนกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แต่ละแห่ง
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจไม่เป็นจริงเสมอไป..
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ได้เปิดตัวโครงการใหม่ ชื่อ เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ซึ่งตั้งอยู่ข้างบิ๊กซี ราชดำริ ตรงข้ามกับเซ็นทรัลเวิลด์
ทั้งที่ทำเลบริเวณนั้นก็มีคนเดินพลุกพล่าน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติ
แต่ภายในศูนย์การค้ากลับค่อนข้างเงียบเหงา
ซึ่งหากเทียบกับสามย่าน มิตรทาวน์ ที่เปิดตัวหลังจาก เดอะ มาร์เก็ต ไม่นาน
ก็จะพบว่าสามย่าน มิตรทาวน์ ได้รับเสียงตอบรับที่ดีกว่ามาก
ทั้งที่ 2 โครงการนี้มีขนาดไล่เลี่ยกัน และตั้งอยู่ในบริเวณใจกลางเมืองเช่นเดียวกัน
ความแตกต่างระหว่าง เดอะ มาร์เก็ต และ สามย่าน มิตรทาวน์
น่าจะเป็นเรื่องการวางคอนเซ็ปต์ของโครงการ
สามย่าน มิตรทาวน์ เน้นกลุ่มลูกค้านักศึกษา จึงสร้างโซนร้านอาหารให้หลากหลาย และมี Co-working Space ที่เปิด 24 ชั่วโมง
ในขณะที่ร้านค้าและร้านอาหารภายใน เดอะ มาร์เก็ต ยังไม่มีจุดเด่นที่ชัดเจนนัก
ซึ่งถ้า เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ยังไม่สามารถทำให้ เดอะ มาร์เก็ต มีจำนวนคนเข้ามาใช้บริการได้มากกว่านี้ แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้เช่าในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ความท้าท้ายของ เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ยังไม่จบเพียงเท่านี้..
ปัจจุบันพื้นที่ให้เช่ากำลังเปลี่ยนจากพื้นที่จริงในโลกจริง สู่พื้นที่เสมือนบนโลกออนไลน์
ทุกวันนี้ธุรกิจหลายๆ ประเภทไม่จำเป็นต้องอาศัยหน้าร้านแล้ว
เพราะสามารถขายผ่านช่องทางออนไลน์ได้
เรื่องนี้อาจดูเหมือนไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแพลทินัมที่เป็นศูนย์ค้าส่งทางแฟชั่น
ซึ่งจับกลุ่มลูกค้าที่มารับเสื้อผ้าไปขายต่ออีกที
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีและการขนส่งพัฒนาขึ้น
ทำให้บทบาทของตัวกลางที่ทำหน้าที่ขายส่งสินค้าค่อยๆ ลดความสำคัญลง
เพราะผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าจากผู้ผลิตได้โดยตรง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ ทุกวันนี้เราสามารถสั่งสินค้าโดยตรงจากโรงงานจีน ได้ทั้ง Alibaba หรือบางคนก็บินไปสั่งสินค้าเองที่งานแฟร์ในประเทศจีน เมื่อเราสั่งเองได้จากผู้ผลิต ความจำเป็นในการเดินเลือกซื้อสินค้าจากคนในประเทศเพื่อมาขายต่อก็น่าจะลดลงด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าร้านตาม Instagram ต่างๆ ในทุกวันนี้ล้วนแต่สั่งโดยตรงมาจากจีนหรือเกาหลีเกือบทั้งหมด คนไทยที่จะไปซื้อจากแพลทินัมเพื่อมาขายต่อก็จะน้อยลง
เรื่องนี้ก็จะกระทบต่อผู้ขายสินค้าในแพลทินัม
ซึ่งน่าจะส่งผลต่อรายได้ค่าเช่าของแพลทินัมในที่สุด
ผู้ขายสินค้าในแพลทินัมจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนมาขายสินค้าให้นักท่องเที่ยว หรือผู้ซื้อสินค้าเหมาจากต่างชาติมากขึ้น แทนที่จะขายให้กับคนในประเทศ
แล้วรายได้ค่าเช่าของ เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ตอนนี้เป็นอย่างไร?
รายได้ค่าเช่าและค่าบริการปี 2562
ไตรมาสที่ 1 รายได้ 407 ล้านบาท กำไรขั้นต้น 256 ล้านบาท
คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 63%
ไตรมาสที่ 2 รายได้ 455 ล้านบาท กำไรขั้นต้น 253 ล้านบาท
คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 56%
ไตรมาสที่ 3 รายได้ 395 ล้านบาท กำไรขั้นต้น 196 ล้านบาท
คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 50%
อัตรากำไรขั้นต้นในส่วนของค่าเช่าและบริการลดลงมาอย่างต่อเนื่อง
แปลว่าตอนนี้ บริษัทกำลังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ที่ไม่โต
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับการทำธุรกิจ
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี
ในบางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทเราได้โดยไม่รู้ตัว
ซึ่งก็น่าติดตามว่าแพลทินัมจะรับมือกับความท้าทายนี้อย่างไร
เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่แพลทินัม
แต่กำลังจะเกิดกับพื้นที่ค้าปลีกทุกแห่งทั่วประเทศ
ในวันที่สายตาเราจ้องเสื้อผ้าในมือถือ มากกว่าในร้านเสื้อผ้า
แล้วทำไมเราต้องจ่ายค่าเช่าร้าน? ในเมื่อบนมือถือสามารถเปิดร้านได้ฟรี
คำถามนี้น่าจะเป็นคำตอบของเรื่องนี้ได้ดีที่สุด..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
Reference
-ผลการดำเนินงาน บริษัท เดอะ แพลทินัม กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.