ซิมบับเว ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย

ซิมบับเว ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย

9 ธ.ค. 2019
ซิมบับเว ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย / โดย ลงทุนแมน
เมื่อ 60 ปีที่แล้ว คนซิมบับเวมีรายได้ต่อหัวมากกว่าคนไทย 3 เท่า
ปี 1960 ขณะที่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ คนซิมบับเวมีรายได้ต่อหัวต่อปี 5,960 บาท
ในขณะที่คนไทยมีรายได้ต่อหัวต่อปีเพียง 2,140 บาท
ในเวลานั้น ดินแดนซิมบับเว ใช้ชื่อว่า “Southern Rhodesia”
เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา
สินค้าส่งออกหลักคือ สินค้าเกษตร คิดเป็นร้อยละ 40
อีกทั้งยังมีแหล่งแร่ธาตุสำคัญ ทั้งทองคำ เพชร และโครเมียม
ทำให้ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศในทวีปแอฟริกา
แต่การเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทำให้รายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของชนกลุ่มน้อยชาวยุโรป ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ครอบครองที่ดินกว่าร้อยละ 70 ของประเทศ
ในขณะที่ชาวผิวดำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ กลับไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง
ความเหลื่อมล้ำนำมาสู่การพยายามต่อสู้เพื่อเอกราชของคนผิวดำ
จนในปี 1980 ประเทศนี้ก็ประกาศเอกราชจากอังกฤษ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ซิมบับเว
โดยมีประธานาธิบดีคนแรกคือ “โรเบิร์ต มูกาเบ”
บุคคลผู้นี้คือจุดเริ่มต้นสำคัญ
ที่จะนำพาซิมบับเว ดำดิ่ง สู่ประเทศที่มีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าไทย 4 เท่าในปัจจุบัน..
ยินดีต้อนรับเข้าสู่ ซีรีส์บทความ ประเทศที่ “เคยรวยกว่า” ไทย ตอน ซิมบับเว
┏━━━━━━━━━━━━┓
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
┗━━━━━━━━━━━━┛
ในช่วงแรกของการเป็นเอกราช เศรษฐกิจของซิมบับเวยังคงเจริญเติบโตได้ดี
รัฐบาลประธานาธิบดีมูกาเบ มีความพยายามที่จะลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของประชาชน
ด้วยการสร้างโรงเรียน ให้ระบบการศึกษาฟรี และขยายบริการสาธารณสุขให้ครอบคลุม
แต่ในปี 1998 รัฐบาลก็เริ่มประสบปัญหาทางการเงิน
จากการที่ต้องจ่ายเงินชดเชยให้ทหารผ่านศึกในสงครามประกาศเอกราช
ซึ่งคิดเป็นมูลค่าถึง 3% ของ GDP
ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการทำสงครามคองโกครั้งที่ 2 (Second Congo War) ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งในประเทศคองโก แต่บานปลายจนหลายประเทศในทวีปแอฟริกาต้องเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้
ปัญหาทางการเงินที่รุมเร้าทำให้รัฐบาลตัดสินใจกู้เงินจาก IMF
หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในปี 1998 นั่นคือ ภัยแล้ง ที่ทำให้ประชาชนกว่า 5 ล้านคน คิดเป็นเกือบ 50% ของทั้งประเทศ ประสบภาวะขาดแคลนอาหาร
สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แล้วด้านการครอบครองที่ดินการเกษตรของคนผิวขาว แต่คนผิวขาวส่วนใหญ่กลับเลือกที่จะเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ เช่น ยาสูบ, ฝ้าย มากกว่าพืชอาหาร
ในปี 2000
รัฐบาลประธานาธิบดีมูกาเบจึงตัดสินใจดำเนินนโยบายที่เรียกว่า “การปฏิรูปที่ดิน” (Land Reform)
ใช้วิธีออกกฎหมายยึดคืนที่ดินจากคนผิวขาวโดยไม่จ่ายค่าชดเชย
โดยอ้างว่าชาวอังกฤษได้ยึดครองที่ดินโดยมิชอบตั้งแต่สมัยเป็นอาณานิคม
แม้จะประสบความสำเร็จในการยึดครองที่ดินจากคนผิวขาว
แต่นโยบายนี้กลับนำมาสู่ความล้มเหลวหลายประการ
ประการที่ 1
การใช้วิธียึดคืนโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ทำให้ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปต่างรุมต่อต้านการกระทำในครั้งนี้ นำมาสู่การคว่ำบาตรและลดความช่วยเหลือด้านอาหารแก่ซิมบับเว
ประการที่ 2
ด้วยปัญหาคอร์รัปชันที่มีสูง ทำให้รัฐบาลขาดการจัดสรรงบประมาณในการซื้อปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ และเครื่องมือทางการเกษตรแจกจ่ายแก่ประชาชน ชาวผิวดำผู้ได้ครอบครองที่ดิน จึงครอบครองแต่ผืนดินเปล่า แต่ขาดปัจจัยที่จะมาทำให้ผลผลิตงอกเงยบนผืนดินนั้น
ชาวผิวดำหลายคนซึ่งเดิมเคยแต่รับจ้างทำงานในไร่มาก่อน ยังขาดทักษะในการบริหารจัดการ
ซ้ำร้ายเมื่อนายจ้างที่เป็นคนผิวขาวถูกขับไล่ ทำให้ลูกจ้างเดิมตกงาน
ประเทศซิมบับเวจึงมีอัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมาก
ประการที่ 3
จากเดิมที่สินค้าภาคเกษตรมีความสำคัญต่อการส่งออก แต่เมื่อเจ้าของกิจการที่เป็นคนผิวขาวถูกขับไล่
จึงทำให้การผลิตหยุดชะงัก ส่งออกสินค้าได้น้อยลง
ผลผลิตทางการเกษตรในปี 2008 ลดลงจากปี 2000 ถึงร้อยละ 60
และซิมบับเวขาดดุลการค้าต่อเนื่องทุกปีมาตั้งแต่ปี 2002
เมื่อเงินตราต่างประเทศที่เคยได้ลดลง
รัฐบาลซึ่งขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอยู่แล้ว จึงยิ่งขาดแคลนหนัก
ทำให้ไม่สามารถซื้อสินค้านำเข้าได้เพียงพอ
เมื่อสินค้านำเข้าขาดแคลน จึงดันให้ราคาสินค้าสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
รัฐบาลจึงต้องการกู้เงินจาก IMF เพิ่มเติม
แต่เนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ในครั้งก่อน ทำให้รัฐบาลประธานาธิบดีมูกาเบไม่สามารถกู้เพิ่มได้อีกแล้ว
เพื่อที่จะใช้หนี้ IMF เก่า
รัฐบาลจึงคิดวิธีเพื่อแก้ปัญหา
จนกลายเป็นชนวนสำคัญของการล่มสลายทางเศรษฐกิจ
นั่นก็คือ การพิมพ์เงิน..
การพิมพ์เงินเพื่อใช้หนี้ต่างประเทศนั้น ทำให้เกิดเงินเฟ้อได้อย่างไร?
จากเดิม อัตราแลกเปลี่ยน 1.59 ดอลลาร์ซิมบับเว = 1 ดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อรัฐบาลต้องการใช้หนี้ IMF จึงพิมพ์เงินออกมาในสกุลเงินซิมบับเวจำนวนเท่ากับที่เป็นหนี้
รัฐบาลได้ไปขอร้องตัวกลาง ซึ่งเป็นสถาบันการเงินท้องถิ่นในทวีปแอฟริกา ให้รับแลกเงินที่พิมพ์ขึ้นมาเป็นดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อได้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐมา จึงนำมาใช้หนี้ IMF เพียงเท่านี้ก็ดูเหมือนว่าจะใช้หนี้ได้หมด
แต่ต้องไม่ลืมว่า บนโลกนี้ สถานที่ที่รองรับการใช้สกุลเงินดอลลาร์ซิมบับเวมีที่เดียว นั่นก็คือประเทศซิมบับเว
ดังนั้น เงื่อนไขที่รัฐบาลซิมบับเวได้ทำกับสถาบันการเงินเหล่านั้น ก็คือรัฐบาลต้องซื้อเงินที่พิมพ์ขึ้นใหม่กลับคืนมา โดยนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น ทองคำ เพชร แร่โครเมียม ไปค้ำประกัน ซึ่งเรียกว่า Mineral-backed loan
แต่เมื่อได้เงินดอลลาร์ซิมบับเวกลับคืนมา เงินในระบบก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
สิ่งที่เกิดตามมา คือ ภาวะเงินเฟ้ออย่างยิ่งยวด หรือ Hyperinflation
ปี 2001 อัตราเงินเฟ้อของซิมบับเวอยู่ที่ 112.1%
ปี 2007 อัตราเงินเฟ้อของซิมบับเวอยู่ที่ 66,212.3%
แต่แทนที่จะยุติปัญหาจากเงินเฟ้อ รัฐบาลกลับพิมพ์เงินเพิ่มเข้าไปในระบบ เพื่อให้ข้าราชการมีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่าย แต่กลายเป็นยิ่งกระตุ้นให้เกิดเงินเฟ้อยิ่งกว่าเดิม
ปลายปี 2008 อัตราเงินเฟ้อของซิมบับเวอยู่ที่ 79,600,000,000%
จนต้องมีธนบัตรที่มีมูลค่า 100,000,000,000,000 ดอลลาร์ซิมบับเว (อ่านว่า หนึ่งร้อยล้านล้าน)
ประชาชนชาวซิมบับเวจำนวนมากจึงออกมาประท้วงต่อต้านรัฐบาล
จนท้ายที่สุดในปี 2009 รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกการใช้เงินสกุลดอลลาร์ซิมบับเวในประเทศ
และยอมรับการใช้เงินสกุลอื่นในประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ และแรนด์แอฟริกาใต้ จึงช่วยบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อในประเทศได้บ้าง
และจนถึงปัจจุบันนี้ ซิมบับเวก็ยังไม่มีวี่แววที่จะกลับไปใช้เงินสกุลเดิม
แม้จะมีความพยายามล้างอำนาจจากฝ่ายตรงข้าม แต่โรเบิร์ต มูกาเบ ก็ครองอำนาจในฐานะประธานาธิบดีติดต่อกันเป็นเวลา 37 ปี จนในที่สุดเขาก็ได้ถูกรัฐประหารในปี 2017 และถึงแก่กรรมในปี 2019
ทิ้งให้ประชาชนซิมบับเวอยู่ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ล่มสลายของประเทศ
เรื่องราวทั้งหมดคือบทเรียนของประเทศ ซึ่งครั้งหนึ่งเคย “รวย” กว่าไทย ถึง 3 เท่า
มีทรัพยากรมากมาย
แต่ในวันนี้กลับกลายเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของทวีปแอฟริกา
ด้วยการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผิดพลาด
และไม่ไกลจากซิมบับเว ทวีปแอฟริกายังมีอีกประเทศหนึ่ง
ที่มีทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล เคยร่ำรวยกว่าไทยถึง 4 เท่า
แต่ในวันนี้ผู้คนกลับยากจนกว่าคนไทย
เกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้
“สาธารณรัฐแอฟริกาใต้”..
ติดตาม ซีรีส์ ประเทศที่ “เคยรวยกว่า” ไทย ตอนต่อไปได้ในสัปดาห์หน้า
โหลดแอป Blockdit เพื่ออ่านซีรีส์ตอนก่อนหน้านี้ ได้ที่ http://www.blockdit.com
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-รศ.เสรี ลีลาลัย, เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน
-https://www.weforum.org/agenda/2016/11/do-you-have-change-for-a-billion-the-mad-world-of-zimbabwe-s-currency/
-https://countryeconomy.com/demography/population/zimbabwe?year=1998
-https://www.ft.com/content/5fe10fea-cd13-11e7-b781-794ce08b24dc
-https://www.reuters.com/article/zimbabwe-economy-imf/zimbabwes-mineral-backed-loans-may-complicate-talks-with-creditors-imf-says-idUSL8N23A1JV
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.