วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ Helicopter Money

วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ Helicopter Money

10 ธ.ค. 2019
วิธีกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ Helicopter Money / โดย ลงทุนแมน
“วิธีที่ง่ายในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกวิธีหนึ่ง ก็คือใช้เฮลิคอปเตอร์บินขึ้นไปบนฟ้า และโปรยเงินลงมาเพื่อให้ประชาชนนำเงินไปจับจ่ายใช้สอย”
นี่คือ คำนิยามของทฤษฎี Helicopter money ที่ถูกคิดค้นโดย Milton Friedman นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันในปี 1969
ทฤษฎีนี้คืออะไร
แล้วจริงๆ มันจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้หรือไม่
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
โดยทั่วไปนั้น นโยบายที่ทุกประเทศใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมี 2 วิธีหลัก
1. การใช้นโยบายการเงินโดยธนาคารกลาง ผ่านกลไกของอัตราดอกเบี้ย เช่น ถ้าต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโต ธนาคารกลางก็ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ในทางตรงข้าม ถ้าต้องการลดความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจ ธนาคารกลางก็เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
2. การใช้นโยบายการคลัง เกี่ยวกับวิธีที่รัฐบาลจัดหารายได้และรายจ่าย ผ่านการจัดเก็บภาษีซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ลดการจัดเก็บภาษีลงแล้วใช้จ่ายมากขึ้น หรือที่เราเรียกว่า การใช้งบประมาณขาดดุล
ในทางตรงข้าม ถ้าต้องการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ก็ต้องจัดเก็บภาษีมากขึ้นแล้วลดการใช้จ่ายของรัฐบาลลง หรือที่เราเรียกว่า การใช้งบประมาณเกินดุล
แน่นอนว่า หลายปีมานี้เศรษฐกิจทั่วโลกนั้นอยู่ในภาวะชะลอตัว มาตรการที่หลายประเทศนำมาใช้จึงเป็นการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง และการใช้งบประมาณขาดดุลของรัฐบาล
สหรัฐอเมริกา อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.75% ซึ่งเป็นการลดลงถึง 3 ครั้งในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2019
ประเทศไทย อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.25% อยู่ในช่วงที่ต่ำสุดในประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้าเคยอยู่ในระดับนี้มาตอนปี 2008 ในช่วงวิกฤติซับไพรม์
สหภาพยุโรป อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0% มาตั้งแต่ปี 2016
ญี่ปุ่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ -0.1% มาตั้งแต่ปี 2016
นอกจากการลดดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ธนาคารกลางยังมีวิธีแปลกใหม่โดยการอัดฉีดปริมาณเงินเข้ามาในระบบ (Quantitative Easing) ผ่านการซื้อพันธบัตร ทำให้ราคาของตราสารเหล่านั้นสูงขึ้น และทำให้ผลตอบแทนของตราสารนั้นลดลง ซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรที่อายุสั้นและยาวที่อยู่ในตลาดอยู่ในระดับต่ำ
และเมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำลง ธนาคารกลางเชื่อว่าจะนำไปสู่การลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริง ก่อให้เกิดการจ้างงานและการลงทุนในระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แทนที่จะไปลงทุนภาคเศรษฐกิจจริง นักลงทุนจำนวนไม่น้อยกลับนำเงินไปลงทุนในตลาดการเงิน เราจึงเห็นตลาดหุ้นหลายแห่งนั้นปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา
ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นจาก 866 จุด มาสู่ 3,110 จุด เพิ่มขึ้นกว่า 259%
ตลาดหุ้นไทยที่ SET index เพิ่มขึ้นจาก 449 จุด มาสู่ 1,598 จุด เพิ่มขึ้นกว่า 256%
แม้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นจะสร้างความมั่งคั่งให้แก่นักลงทุนมากขึ้น แต่ผลประโยชน์นั้นกลับตกอยู่กับกลุ่มคนจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ซึ่งถือว่ามีบทบาทต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากกว่า
ยังไม่รวมในกรณีที่ผู้บริโภคมีภาระหนี้สินอยู่ในระดับสูง หรือแม้แต่ภาคธุรกิจขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคต พวกเขาจึงปฏิเสธการกู้เงินเพื่อมาบริโภคหรือลงทุนเพิ่มขึ้น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ก็ตาม
พอเรื่องเป็นแบบนี้ วิธีการต่างๆ ที่รัฐบาลและธนาคารกลางหลายประเทศใช้กันอยู่นั้น จึงไม่ได้ทำให้ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้นเติบโตมากนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ที่สำคัญ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านั้นเป็นมาตรการส่งผ่านทั้งหมด ไม่มีวิธีไหนที่เป็นการอัดฉีดเงินเข้าระบบแล้วไปถึงมือประชาชนโดยตรงในทันที
จึงทำให้มีการพูดถึงทฤษฎี Helicopter money โดยการนำเงินที่ธนาคารกลางพิมพ์แล้วนำไปให้ประชาชนโดยตรงเพื่อใช้จ่ายหรือทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพราะเชื่อกันว่า วิธีนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น เปรียบเสมือนการใช้เฮลิคอปเตอร์มาบินอยู่เหนือท้องฟ้า แล้วโปรยเงินลงมาแจกประชาชน
ในอดีตที่ผ่านมานั้น หลายประเทศที่ใช้ทฤษฎี Helicopter money มีทั้งประสบความสำเร็จ อย่างกรณีของแคนาดาในช่วงระหว่างปี 1935-1975 ที่ใช้วิธีแจกเงินให้แก่ประชาชนควบคู่ไปกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ
แต่ก็มีบางประเทศ ที่ใช้วิธีการแจกเงินให้ประชาชนเพื่อสร้างความนิยมให้แก่รัฐบาล เมื่อรวมกับการใช้จ่ายของภาครัฐที่ขาดประสิทธิภาพ ทำให้สุดท้ายมูลค่าเงินของประเทศนั้นลดลง พร้อมทั้งปัญหาเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง เช่น กรณีของซิมบับเวในปี 1997 หรืออาร์เจนตินาในปี 2007-2015
สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น เราคงคุ้นเคยกับหลายโครงการที่มีลักษณะคล้ายๆ กับทฤษฎี Helicopter money ซึ่งวัตถุประสงค์ก็เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายและการบริโภคของประชาชน ซึ่งหลายฝ่ายตั้งความหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้
แต่ต้องยอมรับว่า การบริโภคนั้นสามารถช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งอาจไม่มีประโยชน์ต่อการเติบโตระยะยาว
การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวนั้น ต้องมาจากการลงทุนซึ่งถือเป็นปัจจัยที่สร้างความมั่งคั่งและเติบโตอย่างแท้จริง
ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ผ่านระบบการศึกษา
หรือการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพื่อต่อยอดไปสร้างสินค้าและบริการใหม่ๆ ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น โจทย์สำคัญของ Helicopter money ก็คือ หลังจากขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปโปรยเงินแล้ว จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้ โดยไม่ต้องรอเฮลิคอปเตอร์ลำต่อไป..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.