สรุปภาษี และ การลดหย่อนภาษีปี 2562

สรุปภาษี และ การลดหย่อนภาษีปี 2562

27 ธ.ค. 2019
สรุปภาษี และ การลดหย่อนภาษีปี 2562 /โดย ลงทุนแมน
เมื่อสิ้นปีมาเยือน สิ่งที่เราควรศึกษา นอกจากสถานที่ฉลองปีใหม่ ก็คือ เรื่องภาษี
วันนี้ลงทุนแมนจะมาสรุปเรื่องภาษี และมีอะไรบ้างที่สามารถลดหย่อนภาษีได้มาส่งท้ายปี เป็นของขวัญต้อนรับปีใหม่
การคำนวณอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรมสรรพากรกำหนดให้คำนวณเป็นขั้นบันได
ตัวอย่างคือ ถ้าทั้งปีเรามีรายได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาท เราจะได้รับการยกเว้นภาษี หรือก็คือไม่ต้องเสียภาษีเลย แต่ก็ต้องยื่นแบบฟอร์มให้สรรพากรรับทราบ ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม ของปีหน้า
ซึ่งถ้าเรามีรายได้สุทธิมากกว่า 150,000 บาท
ในส่วนที่เกิน 150,000 บาท เราจะเริ่มเสียภาษีในอัตรา 5%
เช่น เรามีรายได้สุทธิทั้งปี 200,000 บาท ก็เสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน
ก็คือ 50,000 บาท ในอัตราที่ 5% = 2,500 บาท
และอัตราภาษีก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แปรผันตามฐานรายได้สุทธิของเรา
ยิ่งมีรายได้สุทธิมาก ยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราภาษีที่มากขึ้น
ส่วนที่เกิน 300,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 10%
ส่วนที่เกิน 500,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 15%
ส่วนที่เกิน 750,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 20%
ส่วนที่เกิน 1,000,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 25%
ส่วนที่เกิน 2,000,000 บาท เราจะเสียภาษีในอัตรา 30%
และสุดท้าย ส่วนที่เกิน 5,000,000 บาทขึ้นไป เราจะเสียภาษีในอัตรา 35%
หมายความว่าถ้าเราเป็นมหาเศรษฐีของประเทศไทย มีเงินได้ปีละหลายสิบล้านบาท
ในส่วนที่เกิน 5 ล้านบาทเราจะต้องเสียภาษีมากถึง 35%
ซึ่งพอดูหลักการนี้แล้ว ก็พอจะเดาได้ว่าสรรพากรตั้งใจเก็บภาษีจากคนรวยในอัตราที่สูง
ส่วนคนที่มีรายได้ไม่มากเท่าไร ก็จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า
ทั้งนี้ก็อาจเป็นเพราะต้องการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม..
แล้วรายได้หรือเงินได้สุทธิของเราคืออะไร ?
เงินได้สุทธิ คำนวณจาก เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่ามีอะไรบ้างที่ถือว่าเป็นเงินได้ของเรา และหักค่าใช้จ่ายกันอย่างไร
ซึ่งเงินได้ สามารถแบ่งออกเป็น 8 ประเภท และเงินได้แต่ละประเภท ก็จะหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เหมือนกัน ได้แก่
1) เงินเดือน และผลประโยชน์พนักงานอื่น
2) ค่าจ้างทั่วไป
โดยเงินได้ประเภทที่ 1) และ 2) หักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท
3) ค่าลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา หักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักตามจริง
4) ดอกเบี้ย เงินปันผล และกำไรจาก Cryptocurrency หักค่าใช้จ่ายไม่ได้
5) ค่าเช่า หักค่าใช้จ่ายได้ 10-30% หรือหักตามจริง
6) ค่าวิชาชีพอิสระ หักค่าใช้จ่ายได้ 30-60% หรือหักตามจริง
7) ค่ารับเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ หักค่าใช้จ่ายได้ 60% หรือหักตามจริง
8) เงินได้อื่นๆ ที่ไม่เข้าพวก เช่น จากธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การขายอสังหาริมทรัพย์
หักค่าใช้จ่ายได้ 40-60% หรือหักตามจริง
แล้วถ้าเรามีเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในอัตราที่สูง แม้จะหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว
เราจะทำอะไรได้บ้างที่จะเสียภาษีได้น้อยลง?
และนั่นก็เป็นที่มาในการเข้าสู่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ “การลดหย่อนภาษี”
การลดหย่อนภาษีสามารถทำได้ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะสรุปได้ดังนี้
1) ปกติแล้วคนทั่วไปจะมีสิทธิลดหย่อนภาษีส่วนตัวได้สูงสุด 60,000 บาท
2) ถ้าเราแต่งงาน และคู่สมรสไม่มีเงินได้ เราสามารถ ลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท
3) ถ้าเรามีลูก เราสามารถลดหย่อนภาษีได้คนละ 30,000 บาท แต่ถ้ามีลูกคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นอีกคนละ 60,000 บาท
4) ถ้าเราตั้งครรภ์ ค่าใช้จ่ายฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 60,000 บาท
5) ถ้าพ่อแม่เราอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และพ่อแม่มีเงินได้ปีละไม่เกิน 30,000 บาท เราสามารถลดหย่อนภาษีค่าอุปการะได้ คนละ 30,000 บาท
6) ถ้าเรามีการเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ เราสามารถลดหย่อนภาษีค่าอุปการะได้คนละ 60,000 บาท
7) สำหรับคนอยู่ในระบบประกันสังคมก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 9,000 บาท
8) ถ้าเรามีทำประกันชีวิตที่มีอายุกรมธรรม์ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท
9) ถ้าเรามีทำประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป เราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ 15% ของรายได้ที่เสียภาษี และสูงสุดที่ 200,000 บาท
10) ตอนนี้เบี้ยประกันสุขภาพที่เรามีก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท แต่รวมกับเบี้ยประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 บาท
11) ถ้าเราซื้อประกันสุขภาพให้กับพ่อแม่ของเรา ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้เหมือนกัน สูงสุด 15,000 บาท
12) กองทุน LTF ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งปีนี้เป็นปีสุดท้าย ลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง โดยมีเกณฑ์ว่าเราสามารถซื้อได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ หรือ 500,000 บาท
13) กองทุน RMF, กบข., กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนสงเคราะห์โรงเรียนครูเอกชน มีเกณฑ์อยู่ว่าเราสามารถซื้อได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ หรือ 500,000 บาท
14) ถ้าเรามีจ่ายเงินให้กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 13,200 บาท
โดยข้อ 9,13,14 จะต้องรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
15) ถ้าเรามีกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนของดอกเบี้ยที่จ่ายจริง สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท

16) ถ้าเราบริจาคเพื่อการศึกษา, กีฬา, พัฒนาสังคม และสถานพยาบาลของรัฐ จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ก็จะไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว
17) เงินบริจาคทั่วไปก็ลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่บริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว
18) ถ้าเราบริจาคเงินให้พรรคการเมือง สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่บริจาคจริงสูงสุด 10,000 บาท
19) เราสามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท ถ้าเรามีการลงทุนในธุรกิจ Startup ที่จดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 จนถึง 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท และรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท
หรือ ธุรกิจที่มีรายได้ 80% จากการประกอบธุรกิจที่อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของ สวทช.
20) ถ้าเรามีการประกอบธุรกิจประเภทที่ 5-8 คือ ค่าเช่า วิชาชีพอิสระ รับเหมา และธุรกิจอื่นๆ ที่มีการจ่ายธรรมเนียมจากการรับชำระเงินด้วยบัตรเดบิต ในช่วง 1 พ.ย. 2559 - 31 ธ.ค. 2564 สามารถนำค่าธรรมเนียมมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของเงินที่จ่ายจริง โดยเงินได้ต้องไม่เกิน 30 ล้านบาท
21) นโยบายท่องเที่ยว โดยค่าท่องเที่ยวเมืองหลัก อย่างค่าทัวร์ ค่าที่พักโรงแรม ค่าแพ็กเกจท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2562 - 30 มิถุนายน 2562 ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท และค่าท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ลดหย่อนได้สูงสุด 20,000 บาท ซึ่งค่าลดหย่อนทั้งสองประเภทรวมกันต้องไม่เกิน 20,000 บาท
22) ถ้าเราซื้อสินค้า OTOP ที่ได้ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน - 30 มิถุนายน 2562 สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท
23) ซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬาที่เป็นไปตามเงื่อนไขกำหนด ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2562 สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท
24) ซื้อหนังสือ หรืออีบุ๊ก ตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2562
ซึ่งค่าลดหย่อนภาษีตัวนี้ เมื่อรวมกับรายการค่าลดหย่อนช็อปช่วยชาติ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท
25) ซื้อบ้านหรือคอนโดหลังแรก มูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ช่วง 30 เมษายน - 31 ธันวาคม 2562 สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 200,000 บาท
การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของพลเมืองชาวไทย และทั่วโลกทุกคน
เพื่อให้รัฐมีเงินและงบประมาณไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จัดสรรสวัสดิการ และประเทศชาติต่อไป
แม้เราจะไม่แน่ใจว่า รัฐบาลจะนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่าย จัดสรรได้มีประสิทธิภาพอย่างไร
แต่อย่างน้อย เราก็รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำตามกฎหมาย ทำหน้าที่ของพลเมือง..
References
-กรมสรรพากร
-iTAX
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.