อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย กำลังเจอความท้าทาย

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย กำลังเจอความท้าทาย

3 ม.ค. 2020
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทย กำลังเจอความท้าทาย / โดย ลงทุนแมน
หนึ่งในหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง และการเกิดขึ้นของสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน คือ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
ทำไมบริษัทเหล่านี้จึงได้รับผลกระทบ
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
┏━━━━━━━━━━━━┓
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
┗━━━━━━━━━━━━┛
ในปี 2018 มูลค่าการส่งออกของประเทศไทยเท่ากับ 7.6 ล้านล้านบาท
หรือประมาณ 50% ของ GDP
โดยอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท
หรือประมาณ 16% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
ประเทศไทยมีจำนวนบริษัทในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 573 ราย และมีการจ้างงานจำนวนเกือบ 400,000 คน
พอเห็นตัวเลขแบบนี้ก็ต้องบอกว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศเราพอสมควร
โดยตลาดสำหรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แบ่งออกเป็น
1. ตลาดในประเทศ โดยเป็นส่วนประกอบในเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นปลายชนิดต่างๆ
2. ตลาดต่างประเทศ ซึ่งไทยนั้นเปรียบเสมือนฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ในการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ
อย่างที่หลายคนรู้ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกอย่าง Hard Disk Drives รวมทั้งแผงวงจร Integrated Circuit, Microchip ซึ่งถูกนำไปเป็นส่วนประกอบในเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายอย่าง เช่น คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก โทรทัศน์
โดยเฉพาะ Hard Disk Drives และแผงวงจร Integrated Circuit เป็นสินค้าที่มีสัดส่วนกว่า 70% ของมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย
แล้วตลาดส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยอยู่ที่ไหนบ้าง?
1. สหรัฐอเมริกา 21%
2. อาเซียน 16%
3. ยุโรป 15%
4. จีน 10%
5. อื่นๆ 38%
ประเด็นของเรื่องนี้ก็คือ เมื่อรวมตลาดส่งออกของไทยที่ส่งไปยังสหรัฐอเมริกาและจีน จะมีสัดส่วนรวมกันถึง 31% หรือประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
แน่นอนว่า เมื่อเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ทำให้เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบ
เนื่องจากไทย ถือเป็นฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของจีน
เมื่อสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของจีนถูกสหรัฐอเมริกาตั้งกำแพงภาษี จึงทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากจีนบางส่วนจะส่งออกไปสหรัฐอเมริกาได้น้อย
เมื่อส่งออกได้น้อย จีนก็จำเป็นต้องลดคำสั่งซื้อจากผู้ผลิตชิ้นส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากไทย
อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า จึงทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยแพงขึ้นในสายตาประเทศผู้นำเข้า ซึ่งในปี 2019 ค่าเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นมาประมาณ 7%
พูดอีกด้านก็คือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยนั้นแพงขึ้นประมาณ 7% จึงทำให้ความต้องการจากลูกค้านั้นลดลง
แล้วผลประกอบการของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่อยู่ในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างไร?
บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA
ไตรมาส 3 ปี 2018 รายได้ 13,950 ล้านบาท กำไร 1,680 ล้านบาท
ไตรมาส 3 ปี 2019 รายได้ 12,562 ล้านบาท กำไร 618 ล้านบาท
บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI
ไตรมาส 3 ปี 2018 รายได้ 4,197 ล้านบาท กำไร 258 ล้านบาท
ไตรมาส 3 ปี 2019 รายได้ 3,843 ล้านบาท กำไร 110 ล้านบาท
บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA
ไตรมาส 3 ปี 2018 รายได้ 6,196 ล้านบาท กำไร 905 ล้านบาท
ไตรมาส 3 ปี 2019 รายได้ 5,317 ล้านบาท กำไร 407 ล้านบาท
บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE
ไตรมาส 3 ปี 2018 รายได้ 3,764 ล้านบาท กำไร 560 ล้านบาท
ไตรมาส 3 ปี 2019 รายได้ 3,149 ล้านบาท กำไร 255 ล้านบาท
ดูแบบนี้ต้องบอกว่า ผลประกอบการของบริษัทในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กำลังมีปัญหากันถ้วนหน้า
ซึ่งหลายคนก็ได้แต่หวังว่าเมื่อสงครามการค้าเริ่มคลี่คลาย
เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง
คงช่วยให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเริ่มมองเห็นแสงสว่างบ้าง
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.