ซีเรีย ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย

ซีเรีย ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย

13 ม.ค. 2020
ซีเรีย ประเทศที่เคย “รวย” กว่าไทย / โดย ลงทุนแมน
บ้านเมืองพังทลาย
ผู้คน 450,000 คนเสียชีวิต
1 ใน 4 ของประชากรซีเรีย 21 ล้านคน ต้องอพยพออกนอกประเทศ
ผู้อพยพแทบทุกคนล้วนสูญเสีย พ่อ แม่ ลูก คนรัก ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง
และเด็กๆ กว่า 500,000 คน กลายเป็นเด็กกำพร้า
สิ่งเหล่านี้ คือความจริงที่เกิดขึ้นกับซีเรียในวันนี้
แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า
ครั้งหนึ่งประเทศนี้ เคย “รวย” กว่าไทย..
เมื่อ 60 ปีที่แล้ว คนซีเรียมีรายได้ต่อหัวมากกว่าคนไทยเกือบ 2 เท่า
ปี ค.ศ. 1960 คนซีเรีย มีรายได้ต่อปี 3,160 บาท
ในขณะที่คนไทยมีรายได้ต่อปีเพียง 2,140 บาท
หลายคนคงพอจะทราบ
ว่าสาเหตุของการล่มสลายทางเศรษฐกิจซีเรีย เกิดจากสงครามกลางเมือง
สงครามที่เกิดจากความขัดแย้งภายในประเทศ
แล้วบานปลาย ดึงให้ต่างชาติเข้ามาวุ่นวายเต็มไปหมด
เรื่องราวทั้งหมดมีที่มาที่ไปอย่างไร?
ยินดีต้อนรับเข้าสู่ ซีรีส์บทความ ประเทศที่ “เคยรวยกว่า” ไทย ตอน ซีเรีย
┏━━━━━━━━━━━━┓
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
แหล่งรวมความรู้มากมาย
http://www.blockdit.com
┗━━━━━━━━━━━━┛
ทำเลที่ตั้งของซีเรีย คือ จุดภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญของโลก
พูดง่ายๆ ก็คือ จุดที่รวมความขัดแย้งเอาไว้ด้วยกัน ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และดุลของมหาอำนาจ
ซีเรียตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในขณะที่อิรักเพื่อนบ้านทางตะวันออก ตกเป็นดินแดนของอังกฤษ
ฝรั่งเศสและอังกฤษ แบ่งเขตแดนซีเรียกับอิรัก โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติหรือศาสนาใดๆ
ทำให้ดินแดนแห่งนี้ เป็นที่รวมความหลากหลายของผู้คนเอาไว้ด้วยกัน
ทั้งชาวมุสลิมที่นับถือนิกายซุนนี ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่
ชาวมุสลิมที่นับถือนิกายชีอะห์ และชาวเคิร์ดซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย
หากความหลากหลายนั้นส่งผลดีก็แล้วไป แต่ไม่ใช่กับซีเรีย..
หากมองจากแผนที่ ทุกด้านของชายแดนซีเรียล้วนแต่เต็มไปด้วยปัญหา
ทิศเหนือของซีเรีย ติดกับตุรกี มีปัญหาในเรื่องชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด
ทิศตะวันออก ติดกับอิรัก มีปัญหาความขัดแย้งกับชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ และกลุ่ม ISIS
ทิศใต้ ติดกับอิสราเอล มีปัญหาเรื้อรังมานานในเรื่องความขัดแย้งระหว่างชาวยิวกับชาวมุสลิม
ส่วนทิศตะวันตก ติดกับเลบานอน มีความขัดแย้งกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ พรรคการเมืองนิกายชีอะห์ของเลบานอน
ปัญหาความขัดแย้งทั้งหมดล้วนถูกสะสมเอาไว้ ไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลา..
หลังจากได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1946 ซีเรียถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหารหลายต่อหลายครั้ง จนในปี ค.ศ. 1971 พันเอกฮาเฟซ อัล-อัสซาด ได้ก่อรัฐประหาร แล้วก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี
รัฐบาลของอัสซาดครองตำแหน่งต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลา 30 ปี จนเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2000
และ บาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้เป็นลูก ขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากพ่อในปีเดียวกัน
ที่น่าสนใจคือ ฝ่ายรัฐบาล เป็นชาวมุสลิมนิกายชีอะห์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่าน
ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ 76% ของซีเรีย นับถือนิกายซุนนี ซึ่งเป็นนิกายเดียวกับชาวอาหรับส่วนใหญ่ในตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย คูเวต จอร์แดน
ความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนทั้ง 2 นิกายนี้ดำเนินมาเรื่อยๆ ตั้งแต่สมัยอัล-อัสซาดผู้พ่อ
และเริ่มรุนแรงขึ้นเมื่อมาถึงสมัยลูก บาชาร์ อัล-อัสซาด
ในระหว่างช่วงเวลายาวนานของพ่อลูก อัล-อัสซาด
เศรษฐกิจของซีเรีย มีรายได้หลักมาจากการส่งออกน้ำมัน และสินค้าเกษตรกรรม
แม้แหล่งน้ำมันในซีเรีย จะมีน้ำมันสำรองน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง
แต่ก็เป็นสินค้าส่งออกหลักที่สร้างรายได้ให้รัฐบาลซีเรียกว่า 25%
ส่วนสินค้าเกษตรกรรม ซีเรียส่งออกข้าวสาลี ฝ้าย ผลไม้ตระกูลส้ม และน้ำมันมะกอก
โดยมีลุ่มแม่น้ำยูเฟรตีสอันอุดมสมบูรณ์ทางตะวันออก เป็นแหล่งเพาะปลูกฝ้ายกับข้าวสาลี
และชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางตะวันตก เป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้ตระกูลส้ม และมะกอกชั้นดี
แต่ภัยแล้งอย่างหนักในปี ค.ศ. 2008 ก็ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของซีเรียลดลง
โดยเฉพาะข้าวสาลีที่ลดลงเกือบ 50%
เกษตรกรกว่า 800,000 คนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว และกว่า 200,000 คนต้องทิ้งที่ดินทำกินเพื่อมาหาอาหารและงานในเขตเมือง
ชาวซีเรียผู้อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน พุ่งจาก 20% ในปี ค.ศ. 2007 กลายเป็น 50% ของประชากรทั้งประเทศ ในปี ค.ศ. 2010
ความอดอยากยากแค้นเป็นเหมือนเชื้อเพลิงแห่งความขัดแย้ง
รอแค่เวลาที่จะมีคนมาจุดไฟ
แล้วเหตุการณ์อาหรับสปริงก็เกิดขึ้น..
เหตุการณ์นี้เป็นการเดินขบวนประท้วงในโลกอาหรับ เพื่อโค่นล้มอำนาจของผู้นำเผด็จการ
โดยมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 2010 ในประเทศตูนิเซีย ประเทศเล็กๆ ในแอฟริกาเหนือ
ไล่มาจนถึงการปฏิวัติในลิเบียและอียิปต์ ประชาชนในประเทศเหล่านี้ประสบความสำเร็จในการโค่นล้มอำนาจของผู้นำเผด็จการ
แต่การปฏิวัติในที่ไหนๆ ก็ไม่รุนแรงเท่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในซีเรีย..
ผู้ประท้วงมากมายออกมาเดินตามถนนในกรุงดามัสกัส เมืองอเล็ปโป และเมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรียผู้นับถือนิกายซุนนี
แต่การประท้วงในซีเรียไม่ได้ประสบความสำเร็จเหมือนกลุ่มประเทศอาหรับอื่นๆ
จุดแตกหักระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้าน เมื่อทางรัฐบาลได้มีการยิงใส่ผู้ประท้วง
ที่มาเดินขบวนเรียกร้องให้โค่นล้มอำนาจผู้นำ
กระสุนนัดเดียวที่พาประเทศนี้มาพบกับจุดจบ..
ไม่กี่วันต่อมา เมืองอื่นๆ ทั่วประเทศก็เกิดเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกัน
ผู้ประท้วงมากมาย ทั้งผู้ใหญ่ คนชรา แม้แต่เด็กที่มาร่วมเดินขบวนก็โดนประหารอย่างโหดเหี้ยม
ปลายปี ค.ศ. 2011 เมื่อกลุ่มต่อต้านทนไม่ไหวจึงเกิดเป็นกลุ่ม กองทัพซีเรียเสรี (FSA) เพื่อโค่นล้มรัฐบาล
อย่างที่กล่าวไว้ ทำเลที่ตั้งของซีเรีย คือจุดที่รวมความขัดแย้งเอาไว้ด้วยกัน ทั้งเชื้อชาติ ศาสนา และดุลของมหาอำนาจ
จึงดึงให้ประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเลี่ยงไม่ได้..
ตัวละครที่ 1 อิหร่าน และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน
อิหร่านเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลซีเรียมาอย่างเหนียวแน่น ทั้งในเรื่องของการเมืองและเศรษฐกิจ ผู้นำซีเรียนับถือนิกายชีอะห์เช่นเดียวกับอิหร่าน
ในขณะที่อิหร่านก็ใช้ซีเรียเป็นฐานที่มั่น เพื่อส่งอาวุธไปให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ พรรคการเมืองนิกายชีอะห์ในเลบานอนซึ่งมีกองกำลังเป็นของตัวเอง
หากรัฐบาลของอัล-อัสซาดถูกโค่นล้ม หมายความว่า
อิหร่านจะขาดพันธมิตรที่สำคัญที่สุดในตะวันออกกลาง
ทำให้อิหร่านและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลซีเรียอย่างเต็มที่
ตัวละครที่ 2 ซาอุดีอาระเบีย และกลุ่มประเทศอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซีย
ซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านมีความขัดแย้งกันมายาวนาน ทั้งในเรื่องศาสนาและการปกครอง
ดังนั้นแล้วหากอิหร่านมีอิทธิพลเหนือซีเรียมากเกินไป อาจนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียได้
ดังนั้นเพื่อลดอิทธิพลของอิหร่านในซีเรีย ซาอุดีอาระเบียจึงอาศัยจังหวะนี้เข้าสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ทั้งให้อาวุธและเงินสนับสนุนเพื่อต่อต้านอิหร่าน
ตอนนี้ ไฟแห่งความขัดแย้งในซีเรีย ลุกลามเป็นความขัดแย้งที่ดึงประเทศต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
ฝั่งรัฐบาล ประกอบไปด้วย อิหร่านและกลุ่มฮิซบัลเลาะห์
โดยมีมหาอำนาจอย่างรัสเซียคอยหนุนหลังอีกต่อหนึ่ง
ฝั่งต่อต้านรัฐบาล ประกอบไปด้วย ซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศอาหรับ
โดยมีสหรัฐอเมริกาคอยหนุนหลัง
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า รอบด้านทุกทิศทางของซีเรีย
คือ “ความขัดแย้ง” ที่เป็นเหมือนระเบิดเวลา
เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ทุกอย่างก็ระเบิดออกมา..
ตัวละครที่ 3 ชาวเคิร์ด
ชาวเคิร์ด คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีประเทศเป็นของตัวเอง มีอยู่ประมาณ 30 - 40 ล้านคน
ส่วนมากอาศัยอยู่ในประเทศตุรกี อิรัก และตอนเหนือของซีเรีย
มีชาวเคิร์ดในซีเรีย 2 ล้านคน ซึ่งมีกองกำลังเป็นของตัวเอง
เมื่อซีเรียเกิดความวุ่นวาย ชาวเคิร์ดในซีเรียตั้งกองทัพประชาธิปไตยซีเรีย (SDF)
โดยมีจุดประสงค์เพื่อแบ่งแยกดินแดน
ชาวเคิร์ดดึงให้ตุรกีเข้ามาร่วมด้วย รัฐบาลตุรกีซึ่งกลัวว่า หากชาวเคิร์ดในซีเรียประสบความสำเร็จ จะทำให้ชาวเคิร์ดในตุรกีคิดแบ่งแยกดินแดน
ในช่วงแรก ตุรกีอยู่ฝั่งต่อต้านรัฐบาล เพราะไม่ถูกกับอิหร่าน
แต่เป้าหมายที่แท้จริงของตุรกี คือต้องการจัดการกับกลุ่มชาวเคิร์ด
ตัวละครที่ 4 กลุ่มไอซิส หรือ ISIS (Islamic State of Iraq and Syria)
กลุ่มไอซิส เป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง โดยกลุ่มนี้แยกตัวออกมาจากกลุ่มหัวรุนแรงอัลกออิดะห์ในอิรัก หลังถูกสหรัฐอเมริกาปราบปรามอย่างหนัก
กลุ่มไอซิสก็ได้รวบรวมกำลังพลและฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ในเขตแดนซีเรียกับอิรัก
โดยมีเป้าหมาย คือการจัดตั้งรัฐอิสลาม (Islamic State) ที่ปกครองโดยใช้กฎหมายอิสลาม
ไอซิสเป็นศัตรูกับทุกๆ กลุ่ม ทั้งกลุ่มรัฐบาล กลุ่มต่อต้านรัฐบาล และชาวเคิร์ด
และมีอีกกลุ่มที่สงครามซีเรียลากเข้ามาด้วยก็คือ สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรในยุโรป
สหรัฐอเมริกาเข้ามาร่วมสงครามในซีเรีย เหตุผลหนึ่งก็เพื่อทำลายล้างกลุ่มไอซิส
อีกเหตุผลหนึ่งก็เพื่อตรวจสอบว่า รัฐบาลอัล-อัสซาด มีการใช้อาวุธเคมีต่อสู้กับประชาชนหรือไม่
ความขัดแย้งในซีเรีย บานปลายจนกลายเป็นสงครามตัวแทน
เชื้อเชิญให้ทุกกลุ่มความขัดแย้งเข้ามาร่วมตะลุมบอน
เมืองอเล็ปโปที่ครั้งหนึ่งเคยสวยงามเป็นมรดกโลก ถูกทำลายจนราบคาบ
สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน ทุกอย่างล้วนพังทลาย
ปี 2018 รายได้ต่อหัวของคนซีเรีย เหลือเพียง 25,080 ต่อคนต่อปี หรือเฉลี่ยเดือนละ 2,090 บาท
ซีเรียในวันนี้ ไม่ใช่แค่ประเทศที่จนกว่าไทย 9 เท่า
แต่กลายเป็นประเทศที่ไม่เหลืออะไรแล้ว แม้แต่ “อนาคต”
จนในเวลานี้
ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป
จนยากที่จะสรุปว่าใครเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ
แต่ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ
เขาคนนั้น ก็น่าจะได้ไปแต่
ซากปรักหักพัง..
ความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติและศาสนา ยังคงเป็นปัญหาให้กับอีกหลายๆ ประเทศ
นอกจากซีเรียแล้ว ทวีปเอเชียยังมีอีกประเทศหนึ่ง
ที่ความขัดแย้งทำให้เศรษฐกิจมีปัญหามาจนถึงทุกวันนี้
ทั้งที่มีทำเลที่ดี และครั้งหนึ่งเคย “รวย” กว่าไทย
ประเทศนั้นคือ “สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา”..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
แหล่งรวมความรู้มากมาย
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://www.chathamhouse.org/sites/default/files/field/field_document/20150623SyriaEconomyButter.pdf
-https://www.indexmundi.com/g/g.aspx?c=sy&v=69
-https://www.theatlantic.com/international/archive/2013/12/understanding-syria-from-pre-civil-war-to-post-assad/281989/
-https://www.eia.gov/beta/international/analysis_includes/countries_long/Syria/archive/pdf/syria_2011.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.