สรุปเศรษฐกิจ ประเทศออสเตรเลีย

สรุปเศรษฐกิจ ประเทศออสเตรเลีย

7 ม.ค. 2020
สรุปเศรษฐกิจ ประเทศออสเตรเลีย / โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจทางด้านการเงิน
ประเทศไทย วิกฤตการณ์ ต้มยำกุ้ง ปี 1997
สหรัฐอเมริกา วิกฤตการณ์ แฮมเบอร์เกอร์ ปี 2007
แต่รู้หรือไม่ว่ามีอยู่ประเทศหนึ่ง ที่ตั้งแต่ปี 1991 ก็ไม่เคยประสบกับวิกฤตทางการเงินอีกเลย รวมเป็นระยะเวลากว่า 28 ปี
ประเทศนั้นก็คือ ออสเตรเลีย นั่นเอง
นั่นก็หมายความว่า คนรุ่นใหม่ของประเทศออสเตรเลียยังไม่เคยเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยเลย..
แล้วออสเตรเลียทำได้อย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง..
╔═══════════╗
แอปเขียนบล็อกอันดับ 1
http://www.blockdit.com
╚═══════════╝
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ออสเตรเลียนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการส่งออกของแร่ธาตุที่สำคัญต่างๆเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ ถ่านหิน และ เหล็ก
โดยในปี 2018 มียอดการส่งออกแร่ธาตุทั้งหมดเป็นมูลค่ากว่า 4,906,250 ล้านบาท หรือคิดเป็น 51% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
ประเทศหลักๆ ที่ออสเตรเลียส่งออกไป ก็คือ จีน เกาหลีใต้ อินเดีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
โดยเฉพาะประเทศจีน
ในช่วง 20 ปีมานี้ เศรษฐกิจของประเทศจีนนั้นเติบโตขึ้นอย่างมาก
ส่งผลให้ความต้องการทรัพยากรก็สูงตามไปด้วย
จีนจึงต้องอาศัยการนำเข้า เหล็ก และ ถ่านหิน จากออสเตรเลียเป็นจำนวนมาก
เรามาดูที่ตัวเลขการส่งออกในช่วง 20 ปีที่ผ่านมากัน
ในปี 2001 มูลค่าการส่งออกไปจีนทั้งหมด 275,000 ล้านบาท
ในปี 2011 มูลค่าการส่งออกไปจีนทั้งหมด 2,409,375 ล้านบาท
ในปี 2018 มูลค่าการส่งออกไปจีนทั้งหมด 2,312,500 ล้านบาท
ในจำนวนการส่งออกจากออสเตรเลียไปจีนทั้งหมด มีสัดส่วนการส่งออกแร่ธาตุอยู่ระหว่าง 40-80%
แต่เรื่องนี้อาจแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของออสเตรเลียนั้น พึ่งพาประเทศจีนอยู่มาก
แล้วรัฐบาลจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอย่างไร?
ถ้าย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต่างๆ ที่เข้ามากระทบประเทศออสเตรเลีย
ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงของวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง
คู่ค้าหลักของออสเตรเลียประสบปัญหา ทั้งไทย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย
ส่งผลให้ค่าเงินของออสเตรเลียอ่อนตัวลงตามไปด้วย
แต่แทนที่รัฐบาลจะปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
ทางรัฐบาลกลับมองว่า นี่เป็นโอกาสในการตีตลาดสินค้าส่งออกไปยัง ยุโรป และ สหรัฐอเมริกา
จากการส่งออกที่มากขึ้น ในที่สุด ออสเตรเลียก็สามารถรอดมาจากวิกฤตการณ์ในครั้งนั้นได้
ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างนิวซีแลนด์นั้นกลับรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวได้ไม่ดีพอ ทำให้เกิดวิกฤตเศษฐกิจของประเทศในปี 1998
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งหน้า ออสเตรเลียจะทำอย่างไร การพึ่งพาแค่เพียงการส่งออกแร่ธาตุจะเพียงพอหรือไม่
เรามาดู อุตสาหกรรมใหม่ที่โดดเด่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมากัน
นอกเหนือจากเหมืองแร่ ธุรกิจแรกเลยที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว และได้รับความสนใจอย่างมากนั่นก็คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีนั่นเอง
ถึงแม้จะไม่ได้มีบริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ อย่าง Apple หรือ Google แต่ออสเตรเลียกำลังเติบโตในด้านเทคโนโลยีมากขึ้น
โดยในปี 2017 กว่า 70.3% ของ GDP ทั้งหมดมาจากภาคการบริการ
จึงไม่น่าแปลกใจที่ออสเตรเลียกลายเป็นแหล่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อมาอำนวยความสะดวกให้การบริการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน การเกษตร การแพทย์ และการศึกษา
โดยจากรายงานผลสำรวจ ปี 2019 มีบริษัทที่เกี่ยวกับ Fintech เปิดตัวแล้วกว่า 700 แห่ง และมีถึง 7 บริษัท ที่ติด 100 อันดับสูงสุดของโลก และยังมีบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านอื่นๆ อีกหลายร้อยบริษัทเปิดตัวในปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังหันมาพึ่งพาพลังงานทางเลือกมากขึ้น อย่างเช่น การสร้างฟาร์มโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถูกพัฒนาโดยบริษัทชื่อดังอย่าง Tesla และเปิดให้บริการแล้วในปีนี้
และท้ายที่สุดที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือเรื่องการศึกษา ที่ปัจจุบัน ออสเตรเลียกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่คนสนใจมาศึกษาต่อมากที่สุด และเป็นประเทศที่มีมหาวิทยาลัยติด 100 อันดับของโลก สูงสุดเป็นอันดับ 3 อีกด้วย
จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันนี้ออสเตรเลียถึงแม้จะเป็นประเทศที่ไม่ได้มีประวัติมายาวนาน ตัวเลขทางเศรษฐกิจอาจไม่ได้สูงเมื่อเทียบเท่ากับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ แต่ก็มีการพัฒนาอยู่ตลอด จนสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 28 ปี
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศจะเดินไปได้ บางครั้งต้องอาศัยนโยบายจากภาครัฐที่ดีในการช่วยชี้ทางให้ทุกคนในประเทศ
รู้จุดเด่น จุดด้อย จุดที่ต้องการเสริมเพื่อกระจายความเสี่ยง
ถ้ารัฐสามารถทำได้ ประเทศก็จะไม่ต้องพบกับวิกฤตเศรษฐกิจเป็นรอบๆ เหมือนอย่างประเทศอื่น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองปีที่ผ่านมานั้นดูเหมือนจะเป็นช่วงที่ท้าทายของออสเตรเลีย โดยในปี 2018 และ 2019 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจโตขึ้นเพียง 2.7% และ 1.7% ซึ่งนี่ถือเป็นการเติบโตที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2009 จากเดิมที่โตเฉลี่ยปีละ 3.2%
เหตุผลหนึ่งก็มาจากการหดตัวของเศรษฐกิจโลก
และสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ยังมีปัญหาล่าสุด ก็คือเรื่องของไฟป่าที่ยาวนานและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้กำลังสร้างความเสียหายในวงกว้าง และดูเหมือนจะยังไม่มีท่าทีที่จะเบาลง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
คนออสเตรเลียมักจะเรียกไฟป่าว่า Bushfires ไม่ใช่ Wildfires แบบที่ประเทศอื่นๆ ใช้กัน เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศนั้นเป็นแหล่งพุ่มไม้มากกว่าป่า โดย Bushfires มักเกิดในช่วงฤดูร้อน โดยสามารถเกิดได้ทั้งจากธรรมชาติเช่น ฟ้าผ่า หรือเกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น การเผาพืชไร่สวนเพื่อการเกษตร
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปีนี้ออสเตรเลียมีอุณหภมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส บวกกับกระแสลมแรง ส่งผลให้ไฟป่าในครั้งนี้รุนแรงว่าครั้งอื่นๆ และลามไปในวงกว้าง โดยล่าสุดทางออสเตรเลียได้มีการรายงานว่า มีผู้คนกว่า 1,000 คนไร้ที่อยู่อาศัย และ มีสัตว์กว่า 500 ล้านตัวที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้..
----------------------
แอปเขียนบล็อกอันดับ 1
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://www.bbc.com/news/world-asia-15674351
-https://www.indexmundi.com/australia/economy_profile.html
-https://www.nytimes.com/2019/04/06/upshot/australia-lessons-economic-miracle.html
-https://minerals.org.au/news/australia%E2%80%99s-resources-sector-drives-record-exports-2017-18
-http://www.worldsrichestcountries.com/top_australia_exports.html
-Australia benchmark report
-https://finance.nine.com.au/personal-finance/australian-recession-2019-economy-slowed-to-weakest-level-since-2009-global-financial-crisis/9282fe6c-b394-40d2-ab83-39add2e099d5
-https://www.statista.com/statistics/263602/gross-domestic-product-gdp-growth-rate-in-australia/
-https://metro.co.uk/2020/01/02/australian-bushfires-start-causes-11989633/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.