กรณีศึกษา แอปพลิเคชัน TikTok ทำสมาร์ตโฟนของตัวเอง

กรณีศึกษา แอปพลิเคชัน TikTok ทำสมาร์ตโฟนของตัวเอง

8 ม.ค. 2020
กรณีศึกษา แอปพลิเคชัน TikTok ทำสมาร์ตโฟนของตัวเอง /โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่า แอปพลิเคชันอะไรกำลังมาแรงในช่วงหลัง
หนึ่งในนั้น คงจะเป็น “TikTok”
แอปนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นคนสำคัญในตลาดโซเชียลมีเดีย
และไม่นานมานี้ พวกเขาเริ่มเดินเกมครั้งสำคัญ
ด้วยการประกาศวางขายสมาร์ตโฟน ที่รองรับการใช้งาน TikTok โดยเฉพาะ
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
แอปเขียนบล็อกอันดับ 1
http://www.blockdit.com
╚═══════════╝
TikTok เป็นแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดีย ที่ผู้ใช้สามารถสร้างและรับชมคลิปวิดีโอสั้นได้
โดยจะมีฟีเจอร์เพลงและลูกเล่นให้ตกแต่งคลิปอยู่มากมาย
เจ้าของแพลตฟอร์มนี้คือ ByteDance บริษัทเทคโนโลยีจากประเทศจีน
ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2012 และเพิ่งเปิดให้บริการ TikTok เมื่อ 4 ปีที่แล้ว
จากแนวโน้มของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ที่เปลี่ยนการแชร์เรื่องราวในชีวิต
จากตัวหนังสือและรูปภาพ มาเป็นคลิปวิดีโอสั้นมากขึ้น
ทำให้ TikTok ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว
โดยแอปถูกดาวน์โหลดไปแล้วมากกว่า 1,500 ล้านครั้งทั่วโลก
และมีผู้ใช้งานประจำ (Active Users) อยู่ราว 800 ล้านบัญชีต่อเดือน
รายได้หลักของ TikTok มาจากค่าโฆษณา บนฐานผู้ใช้แอปขนาดใหญ่ จึงทำให้บริษัท ByteDance เติบโตแบบก้าวกระโดด
ปี 2017 รายได้ 76,000 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 217,000 ล้านบาท
ปี 2019 ตั้งเป้ารายได้ 516,000 ล้านบาท
ด้วยเหตุนี้ ในการระดมทุนรอบล่าสุด บริษัทจึงถูกประเมินมูลค่าธุรกิจไว้ที่ 2,356,000 ล้านบาท
ถือเป็นสตาร์ตอัปยูนิคอร์นที่ใหญ่สุดของโลก
จะเห็นได้ว่า ByteDance ประสบความสำเร็จในธุรกิจโซเชียลมีเดียในระยะเวลาอันสั้น
แต่คำถามที่น่าคิดคือ แล้วบริษัทมีแผนจะทำอะไรต่อไป?
ในเดือนพฤศจิกายน 2019 ที่ผ่านมา
พวกเขาตอบคำถามนี้ ด้วยการประกาศเปิดตัวสมาร์ตโฟนรุ่นแรกของตัวเอง
โดย ByteDance ร่วมมือกับ Smartisan บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ
สร้างสมาร์ตโฟนชื่อว่า Smartisan Jianguo Pro 3 ออกวางขายในตลาดประเทศจีน
แต่สิ่งที่พิเศษกว่าสมาร์ตโฟนเครื่องอื่นๆ คือ
จะมีการติดตั้งแอป TikTok เอาไว้ตั้งแต่แรก และเพียงแค่ปัดหน้าจอ เราก็สามารถเข้าแอปได้ทันที
อีกทั้งตัวเครื่อง ยังถูกออกแบบให้รองรับการเล่นโซเชียลมีเดีย ที่เน้นถ่ายรูปและอัดคลิปวิดีโอ ไม่ว่าจะเป็น
หน้าจอขนาด 6.39 นิ้ว
หน่วยความจำเก็บข้อมูล หรือ RAM 8-12 GB
กล้องหลัง 4 ตัว โดยกล้องหลักมีความละเอียด 48 ล้านพิกเซล
กล้องหน้ามีความละเอียด 20 ล้านพิกเซล
แบตเตอรี่ความจุ 4,000 มิลลิแอมป์ชั่วโมง
ลองเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่น เช่น iPhone 11 รุ่น Pro Max
หน้าจอขนาด 6.5 นิ้ว
หน่วยความจำเก็บข้อมูล หรือ RAM 4 GB
กล้องหลัง 3 ตัว และกล้องหน้า มีความละเอียด 12 ล้านพิกเซล
แบตเตอรี่ความจุ 3,969 มิลลิแอมป์ชั่วโมง
และนอกจากคุณภาพที่ดีแล้ว ราคาขายก็ยังถูกอีกด้วย
Jianguo Pro 3 ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 12,500 บาท
iPhone 11 Pro Max ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 39,900 บาท
ซึ่งเหตุผลที่ ByteDance ทำสมาร์ตโฟนเครื่องนี้ออกมา
ก็เพื่อต้องการดึงดูดให้ผู้คนมาใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มตัวเองนานที่สุด
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูกันว่า มันจะเป็นไปตามแผนหรือไม่
เพราะในอดีต เคยมีคนใช้กลยุทธ์นี้ แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า
นั่นคือ Facebook
เมื่อปี 2013 Facebook เคยร่วมมือกับ HTC ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากไต้หวัน
สร้างสมาร์ตโฟนชื่อ HTC First ซึ่งมีชื่อเล่นว่า Facebook Phone
เพราะออกแบบมาเพื่อการใช้งานแอปของ Facebook โดยเฉพาะ
แต่เพียงแค่ 1 เดือน ก็ถูกยกเลิกการผลิต เนื่องจากกระแสตอบรับเรื่องคุณภาพไม่ค่อยดี ขายได้ 15,000 เครื่องเท่านั้น
และเมื่อปี 2014 Amazon ก็เคยวางขายสมาร์ตโฟนชื่อว่า Fire Phone เช่นกัน
แต่ก็ถูกยกเลิกการผลิตหลังผ่านไป 1 ปี

ดูเหมือนว่าขณะนั้น ผู้บริโภคจะอยากใช้สมาร์ตโฟนที่คุณภาพดี แล้วโหลดแอปพลิเคชันต่างๆ มาใช้อย่างหลากหลายมากกว่า
แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่พัฒนาไปจนสามารถผลิตสมาร์ตโฟนคุณภาพดี ในราคาไม่แพง
อาจทำให้ ByteDance เดินเกมได้ถูกเวลาก็เป็นได้
นอกจากนี้ บริษัท ByteDance ยังสร้างแอปแช็ตชื่อว่า FlipChat รวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์ม Streaming เพลงอีกด้วย
คนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นผู้นำตลาดโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ที่จะถูกแย่งเวลาบนหน้าจอมือถือไป
ซึ่งในขณะเดียวกันทาง Facebook ก็ได้แก้เกมด้วยการขยายฟีเจอร์ MUSIC ในลักษณะคล้ายกับ TikTok ออกมาเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้
การแข่งขันกันระหว่าง 2 บริษัทนี้ น่าติดตามว่าจะทำให้โซเชียลมีเดียในยุคหน้า เปลี่ยนไปในรูปแบบไหน
รูปแบบใหม่อาจทำให้ผู้คนสามารถสร้างสรรค์ผลงานตามจินตนาการได้อย่างไร้ขีดจำกัด
รูปแบบใหม่อาจทำให้โซเชียลมีเดียในยุคนี้กลายเป็นดูล้าสมัย
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.