เงินเฟ้อ 3% อาจไม่มีอีกแล้ว

เงินเฟ้อ 3% อาจไม่มีอีกแล้ว

18 ม.ค. 2020
เงินเฟ้อ 3% อาจไม่มีอีกแล้ว /โดย ลงทุนแมน
คนที่เคยเรียนวิชาการเงิน หรือเศรษฐศาสตร์ จะถูกสอนมาเสมอว่า ให้กำหนดสมมติฐาน อัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 3% ต่อปี
แต่ในระยะหลังดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะขัดแย้งกับความเชื่อในอดีต
อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำมาหลายปี จนธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาปรับเป้าหมายเงินเฟ้อใหม่
เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แอปเขียนบล็อกอันดับ 1
http://www.blockdit.com
╚═══════════╝
รู้ไหมว่า หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยก็คือ “การดูแลรักษาเสถียรภาพด้านราคา”
หรือพูดง่ายๆ ก็คือพยายามรักษาอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมาย และไม่มีความผันผวนมากเกินไป
ในปี 2015 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 2.5% โดยมีกรอบในช่วง ±1.5%
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวในกรอบ 1% ถึง 4% จะเป็นระดับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถยอมรับได้
แล้วหลังจากปี 2015 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยของไทยนั้นเป็นอย่างไร
ปี 2016 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 1.13%
ปี 2017 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.78%
ปี 2018 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.36%
ปี 2019 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.87%
ดูเหมือนว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยนั้นมีแนวโน้มลดลง จนอยู่ต่ำกว่ากรอบล่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ 1% มา 3 ปีแล้ว
ที่สำคัญไม่ใช่แค่ประเทศไทย กรณีของประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกานั้น อัตราเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน
ปี 1999 - 2008 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของสหรัฐอเมริกาเท่ากับ 2.8%
ปี 2009 - 2018 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของสหรัฐอเมริกาเท่ากับ 1.6%
เงินเฟ้อที่ลดลงเป็นผลมาจาก การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งมี 3 สาเหตุหลักคือ
1. ต้นทุนในการผลิตสินค้าของผู้ประกอบการนั้นลดลง จากเทคโนโลยีการผลิตที่ก้าวหน้ามากขึ้น ที่สำคัญราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญภาคการผลิต มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับอดีต เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น
2. การขยายตัวของธุรกิจ E-commerce นอกจากจะทำให้ต้นทุนของธุรกิจลดลงแล้ว ยังทำให้เกิดการแข่งขันสูง ส่งผลให้ราคาสินค้าไม่สามารถปรับขึ้นได้มาก ซึ่งปี 2018 ธุรกิจ E-commerce ในไทยมีมูลค่ากว่า 3.2 ล้านล้านบาท เติบโตเกือบ 4 เท่าจากปี 2008
3. สัดส่วนจำนวนประชากรของไทยผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการมีแนวโน้มลดลง โดยไทยเริ่มเข้าใกล้สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2005 ซึ่งมีสัดส่วนประชากรที่อายุเลย 60 ปี ไม่ต่ำกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด และในปี 2021 คาดว่าไทยจะเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัยแบบสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่อายุเกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง ทำการกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปใหม่ให้อยู่ในช่วง 1% ถึง 3% ในปี 2020 ขณะที่เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเดิมที่ 1% ถึง 4% จะถูกใช้เป็นเป้าหมายระยะกลางแทน
ทั้งนี้ กรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่มีความชัดเจนและสะท้อนสภาวะปัจจุบัน ไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ
ยังจะช่วยให้ประชาชนสามารถวางแผนการใช้จ่ายเงินและการออม หรือแม้แต่ภาคการผลิตก็จะสามารถวางแผนการลงทุนและการจ้างงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กรณีของประชาชนนั้น ตัวเลขเงินเฟ้อมักถูกใช้ตอนวางแผนด้านการเงิน การลงทุน เพื่อเป็นฐานในการกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำจากการลงทุนที่จะชนะเงินเฟ้อ
ดังนั้น ถ้าประชาชนมีการคาดการณ์เงินเฟ้อผิด อาจทำให้มีการวางแผนการออม และการใช้จ่ายผิดพลาดไปด้วย
หรือแม้แต่กรณีการกำหนดราคาสินค้า หลายครั้งภาคธุรกิจก็มักจะเอาเงินเฟ้อมาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการคำนวณราคาขายสินค้า
ซึ่งจะพบว่า ถ้าคาดการณ์เงินเฟ้อผิด ก็อาจส่งผลทำให้การปรับต้นทุนค่าแรง และการปรับราคาขายสินค้าของภาคธุรกิจไม่สะท้อนกับความจริง จนส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจนั่นเอง
หน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยในการดูแลรักษาเสถียรภาพด้านราคา จึงเป็นงานที่ท้าทาย เพราะจะกระทบกับหลายฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนและภาคธุรกิจ ที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
กรณีของภาคธุรกิจนั้น หลายครั้งการขึ้นค่าตอบแทนให้แก่พนักงานมักอิงจากอัตราเงินเฟ้อ เช่น ถ้าเงินเฟ้อขึ้น 3% ผลตอบแทนอาจปรับเพิ่มอย่างน้อย 3% เพื่อทำให้อำนาจซื้อของลูกจ้างไม่ลดลงจากราคาสินค้าและบริการที่แพงขึ้น
นั่นหมายความว่า ถ้าเงินเฟ้อต่ำ เงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานในประเทศ ก็น่าจะเพิ่มน้อยกว่าในอดีตเช่นกัน..
----------------------
Blockdit แอปเขียนบล็อกอันดับ 1
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ..คืออะไร ทำไมต้องมี ทำไมต้องปรับใหม่?, วรินทิพย์ วรศักดิ์ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย-https://www.bot.or.th/Thai/BOTStoryTelling/Pages/MonetaryPolicy_StoryTelling_PublicAndStudent.aspx
-http://www.price.moc.go.th/price/cpi/index_new.asp
-https://www.stlouisfed.org/publications/regional-economist/april-2016/inflation-expectations-are-important-to-central-bankers-too
-https://inflationdata.com/Inflation/Inflation_Rate/HistoricalInflation.aspx
-https://il.mahidol.ac.th/th/i-Learning-Clinic/general-articles/ประเทศไทยกับสังคมผู้สู/?fbclid=IwAR03nffrMoSlLtfEVsMTSwMtSqoog5f2UuQXl-aLFfMOgUcCUKa2HS7ZFF4
-https://www.amusingplanet.com/2018/08/hungarys-hyperinflation-worst-case-of.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.