อีคอมเมิร์ซ “แปรผกผัน” กับอัตราเงินเฟ้อ

อีคอมเมิร์ซ “แปรผกผัน” กับอัตราเงินเฟ้อ

31 ม.ค. 2020
อีคอมเมิร์ซ “แปรผกผัน” กับอัตราเงินเฟ้อ /โดย ลงทุนแมน
หนึ่งในเทคโนโลยีที่เติบโตไวสุดทั่วทุกมุมโลก ก็คือ อีคอมเมิร์ซ
ปี 2014 ยอดขายบนอีคอมเมิร์ซทั่วโลก มีมูลค่า 40 ล้านล้านบาท
ปี 2019 ยอดขายบนอีคอมเมิร์ซทั่วโลก มีมูลค่า 107 ล้านล้านบาท
ยอดขายโตระเบิด คิดเป็น 2.7 เท่าใน 5 ปี..
ช่วงแรก เราก็อาจมองว่าอีคอมเมิร์ซ
น่าจะเข้ามาช่วยให้เราสะดวกขึ้น และกระตุ้นให้เราใช้จ่ายมากขึ้น
เมื่อเกิดการใช้จ่ายมากขึ้น
ปริมาณเงินในระบบมากขึ้น
เศรษฐกิจดีขึ้น
ก็น่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตอนนี้กลับไม่ได้เป็นแบบนั้น
เพราะการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ
กำลังทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกลดลง
ทำไมการเติบโตของอีคอมเมิร์ซกำลัง “แปรผกผัน” กับอัตราเงินเฟ้อ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
┏━━━━━━━━━━━━┓
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
┗━━━━━━━━━━━━┛
เหตุผลสำคัญก็คือ อีคอมเมิร์ซ กำลังทำให้ราคาสินค้าหลากหลายประเภทถูกลง
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ..
ตอนนี้ คนไทยสามารถเข้าถึง
สินค้าชนิดเดียวกันที่วางอยู่บนห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต
ได้ทาง Lazada และ Shopee ในราคาที่ถูกกว่า
นอกจากจะถูกกว่า ก็ยังสะดวกสบายกว่าด้วย
เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ มีบริการส่งฟรีถึงหน้าบ้าน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ผลกระทบของตลาดที่อีคอมเมิร์ซจุดติดแล้วจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ด้าน
ด้านผู้ซื้อ นั่นก็คือ ผู้บริโภค..
จะมีช่องทางในการเลือกสินค้ามากขึ้น
จะมีข้อมูลเปรียบเทียบราคาสินค้ามากขึ้น
ด้านผู้ขาย นั่นก็คือ ร้านค้า..
จะมีผู้เล่นมากขึ้น
จะเกิดการแข่งขันสูงขึ้น
ทั้งแข่งกันเองทางหน้าร้านปกติ
แถมยังต้องแข่งกับร้านช่องทางออนไลน์
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ “ผู้ขายขึ้นราคาสินค้าได้ยาก”
ดังนั้น อีคอมเมิร์ซจึงมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกต่ำลง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา..
สำหรับประเทศที่อีคอมเมิร์ซเพิ่งเริ่มเติบโต
ยังไม่มีผู้ชนะบนช่องทางออนไลน์ เช่น Lazada และ Shopee ในประเทศไทย
อีคอมเมิร์ซก็มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบมากขึ้นไปอีก
เพราะแต่ละแพลตฟอร์มเต็มใจที่จะขาดทุนมหาศาล
ปี 2561
Shopee ขาดทุน 4,114 ล้านบาท
Lazada ขาดทุน 2,645 ล้านบาท
ซึ่งมูลค่าการขาดทุนส่วนหนึ่งก็มาจากการอุดหนุนขายสินค้าในราคาต่ำกว่าต้นทุน
ทั้งจากการจัดแคมเปญ เช่น FLASH SALE, ส่งฟรี, คืนเงิน ทั้งนี้ก็เพื่อดึงดูดผู้ใช้งานอย่างเรา
แล้วในประเทศที่มีผู้ชนะบนโลกออนไลน์แล้ว
ราคาสินค้าออนไลน์ต่ำกว่าสินค้าจากหน้าร้านตามห้างขนาดไหน?
อีคอมเมิร์ซประเทศสหรัฐอเมริกาที่มี Amazon เป็นผู้ชนะ
ราคาสินค้าออนไลน์ต่ำกว่าหน้าร้านตามห้าง 1-2.5%
ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า อีคอมเมิร์ซ มีส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง..
และหนึ่งในบทวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปได้ว่า
หากผู้ใช้งานอีคอมเมิร์ซทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1% เงินเฟ้อจะลดลง 0.022%
เมื่อรวมกับวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น ระบบอัตโนมัติที่กำลังทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ต้องการแรงงานน้อยลง
ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อยุคต่อไปน่าจะอยู่ในระดับที่ชะลอตัวลง ไม่ได้สูงเหมือนเมื่อก่อน
เรื่องนี้ก็น่าจะเป็นการสร้างความปกติแบบใหม่ (New Normal)
ที่เมื่อเกิดขึ้นช่วงแรกก็อาจทำให้เรากังวลใจ
แต่เมื่อผ่านไปมันก็จะกลายเป็นเรื่องธรรมดา
สำหรับคนไทย ที่คุ้นเคยกับอัตราเงินเฟ้อ ระดับ 3% ต่อปี
ก็อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะเราอาจจะไม่ได้เห็นตัวเลขนี้ ไปอีกนาน..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://www.ecb.europa.eu/pub/pdf/other/eb201502_focus06.en.pdf?40b9693396690995f6c7b5d7364c2755
-https://pdfs.semanticscholar.org/f92f/752fdffa77d73c89f83bacf2a2d362ee6809.pdf
-https://www.nytimes.com/2018/06/11/business/economy/inflation-internet.html
-Effects of the Internet on inflation: an overview of the literature and empirical analyses Jérôme Coffinet and Simon Perillaud
-https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/FAQ/FAQ_162.pdf
-https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ArticleAndResearch/FAQ/FAQ_150.pdf
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.