ประเทศที่พึ่งพาแต่การท่องเที่ยว ดีหรือไม่

ประเทศที่พึ่งพาแต่การท่องเที่ยว ดีหรือไม่

1 ก.พ. 2020
ประเทศที่พึ่งพาแต่การท่องเที่ยว ดีหรือไม่ /โดย ลงทุนแมน
ประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติเป็นรายได้หลักช่องทางเดียว มักจะถูกเรียกว่าเป็นประเทศที่โดน “คำสาปทรัพยากร” (Resource Curse)
เพราะรายได้จากทรัพยากรที่ได้มาแบบง่ายๆ จะทำให้ประเทศไม่สนใจที่จะพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น เกษตรกรรม หรืออุตสาหกรรมการผลิต
และเมื่อทรัพยากรนั้นราคาตก ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต้องพบกับปัญหา
ตัวอย่างของประเทศเหล่านี้ เช่น เวเนซุเอลา ไนจีเรีย แองโกลา
แต่สิ่งที่น่าสนใจต่อมาก็คือ
นักเศรษฐศาสตร์บางคนกล่าวว่า ประเทศที่พึ่งพาแต่การท่องเที่ยว
ก็อาจเรียกว่าถูกคำสาปทรัพยากรเช่นกัน..
เรื่องราวนี้เป็นจริงหรือไม่
แล้วประเทศที่มีการท่องเที่ยวเป็น “ลมหายใจ” อย่างประเทศไทย จะทำอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
┏━━━━━━━━━━━━┓
ไม่พลาดวิดีโอสาระน่ารู้จาก ลงทุนแมน
กดติดตามที่ http://www.youtube.com/longtunman
┗━━━━━━━━━━━━┛
จริงๆ แล้ว ภาคการท่องเที่ยวอาจไม่ใช่ “คำสาปทรัพยากร” เสียทีเดียว
เพราะทรัพยากรจากการท่องเที่ยว หากดูแลรักษาให้ดี ก็ไม่ใช่ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เหมือนทรัพยากรอย่างน้ำมัน หรือแร่ธาตุ
และรายได้จากการท่องเที่ยว ไม่ได้มีแค่ภาคบริการโดยตรง เช่น โรงแรม สนามบิน หรือบริษัททัวร์เท่านั้น
แต่นักท่องเที่ยวยังต้องเข้าร้านอาหาร ซึ่งหากใช้วัตถุดิบในประเทศ
ก็จะเกิดการกระจายรายได้ไปยังภาคเกษตรกรรม
ส่วนนักท่องเที่ยวที่ชอปปิงเสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องสำอาง
สิ่งเหล่านี้ก็เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ
ยังรวมไปถึงงานบริการอื่นๆ ที่จะได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยว เช่น การขนส่ง โรงพยาบาล ร้านขายยา ร้านขายเสื้อผ้า ธุรกิจบันเทิง
ดังนั้น ผลของการท่องเที่ยวจึงกระจายไปยังเศรษฐกิจหลายส่วน
และมีส่วนในการพัฒนาประเทศได้มากกว่าที่คิด
สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (WTTC) ได้คำนวณสัดส่วนของภาคการท่องเที่ยว ต่อ GDP โดยรวม
ทั้งรายได้ทางตรง เช่น รายได้จากธุรกิจโรงแรม สนามบิน สายการบิน ธุรกิจทัวร์
และคาดการณ์รายได้ทางอ้อม เช่น รายได้จากร้านอาหาร เสื้อผ้า ของที่ระลึก ธุรกิจบันเทิงต่างๆ
หลายประเทศถึงแม้จะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และหลากหลาย ก็ยังมีภาคการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ฝรั่งเศส ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุดในโลก
การท่องเที่ยวมีสัดส่วน 9.5% ของ GDP
สหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุดในโลก
การท่องเที่ยวมีสัดส่วน 7.8% ของ GDP
แล้วประเทศไหนที่การท่องเที่ยวมีสัดส่วนต่อ GDP มากที่สุด?
ประเทศที่การท่องเที่ยวมีสัดส่วนต่อ GDP มากที่สุด 3 อันดับแรก ก็คือ
1. เซเชลส์ ประเทศหมู่เกาะในทวีปแอฟริกา มีสัดส่วน 67.1%
2. มัลดีฟส์ ประเทศหมู่เกาะทางตอนใต้ของอินเดีย มีสัดส่วน 66.4%
3. เซนต์คิตส์และเนวิส ประเทศหมู่เกาะในทะเลแคริบเบียน มีสัดส่วน 62.7%
โดยประเทศที่มีสัดส่วนจากการท่องเที่ยวสูงกว่า 40% ของ GDP
ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรไม่ถึง 400,000 คน
ความหลากหลายของเศรษฐกิจจึงมีน้อย และพึ่งพาการท่องเที่ยว
โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ
แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ ไม่นับประเทศเล็กๆ และโฟกัสกับประเทศที่มีประชากรมากกว่า 20 ล้านคน และมีสัดส่วนของการท่องเที่ยวต่อ GDP มากที่สุด 3 อันดับแรก
ผลที่ได้น่าสนใจ..
1. ฟิลิปปินส์ มีสัดส่วน 24.7%
2. ไทย มีสัดส่วน 21.6%
3. โมร็อกโก มีสัดส่วน 19%
ฟิลิปปินส์มีแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดชาวต่างชาติ คือ ชายหาดและแหล่งดำน้ำ
โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 3 อันดับแรก มาจากเกาหลีใต้ จีน และสหรัฐอเมริกา
แม้สินค้าส่งออกหลักของฟิลิปปินส์จะมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ฟิลิปปินส์มีประชากรมากถึง 100 ล้านคน การท่องเที่ยวซึ่งสร้างงานได้หลากหลายกว่าจึงกลายเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจที่สำคัญ
โมร็อกโก ประเทศตอนเหนือของทวีปแอฟริกา อยู่ติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ใกล้กับทวีปยุโรป และเต็มไปด้วยสถาปัตยกรรมอาหรับยุคกลาง นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงมาจากยุโรป โดย 3 อันดับแรก มาจากสเปน เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์
โมร็อกโกมีสินค้าส่งออกหลักคือ แร่ฟอสเฟต และผลผลิตทางการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมยังไม่หลากหลาย การท่องเที่ยวจึงกลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของโมร็อกโก
ส่วนประเทศไทย ถึงแม้จะมีระบบเศรษฐกิจที่หลากหลายกว่า 2 ประเทศที่กล่าวมา สินค้าส่งออกมีตั้งแต่สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และสินค้าเกษตร
แต่ด้วยความที่เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่สำคัญ
ไทยจึงเป็นประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงเป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2018
และทำให้ภาคการท่องเที่ยวเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถึงแม้การท่องเที่ยวจะช่วยกระจายรายได้ไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นๆได้มากกว่าการพึ่งพาแต่เพียงทรัพยากรธรรมชาติ
แต่การท่องเที่ยวก็มีจุดอ่อน และมีความเปราะบางต่อสถานการณ์ต่างๆ
โดยเฉพาะสถานการณ์อย่างโรคระบาด ความไม่มั่นคงทางการเมือง ภัยธรรมชาติ
การก่อการร้าย หรือแม้แต่สงคราม
การพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไปจึงอาจไม่ใช่คำตอบที่ดี..
สำหรับเศรษฐกิจของประเทศไทย
เป็นสิ่งที่ทำให้ต้องคิดกันต่อไปว่า หากเราไม่อยากพึ่งพาแต่ “การท่องเที่ยว”
เราจะพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความหลากหลายได้อย่างไร..
----------------------
ไม่พลาดวิดีโอสาระน่ารู้จาก ลงทุนแมน
กดติดตามที่ http://www.youtube.com/longtunman
----------------------
References
-https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_22May2018.pdf
-https://knoema.com/atlas/topics/Tourism/Travel-and-Tourism-Total-Contribution-to-GDP/Contribution-of-travel-and-tourism-to-GDP-percent-of-GDP?type=maps
-https://www.wttc.org/-/media/files/reports/economic-impact-research/regions-2019/world2019.pdf
-https://www.moroccoworldnews.com/2019/09/282872/tourists-morocco-tourism-2/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.