โอลิมปิกโตเกียว กำลังเจอความเสี่ยง

โอลิมปิกโตเกียว กำลังเจอความเสี่ยง

15 ก.พ. 2020
โอลิมปิกโตเกียว กำลังเจอความเสี่ยง /โดย ลงทุนแมน
56 ปี หลังจากมหกรรมโตเกียวโอลิมปิก ปี 1964..
ภาวะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่หดตัวมานานกว่า 3 ทศวรรษ
ถูกซ้ำเติมด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้การบริโภคภายในประเทศหดตัวอย่างหนัก
โตเกียวโอลิมปิก 2020 จึงเป็นความหวังของชาวญี่ปุ่น ที่จะได้นำเสนอนวัตกรรมแห่งอนาคต อวดเทคโนโลยีสู่สายตาชาวโลก ใช้เป็นแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่บอบช้ำ
แต่ความหวังครั้งนี้ กลับมีความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้น
เรื่องราวเป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit ที่สุดของแอปมีสาระ
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไปยังมหกรรมโตเกียวโอลิมปิก ปี 1964
หลังจากพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 และแทบสิ้นเนื้อประดาตัว
ชาวญี่ปุ่นฟื้นฟูประเทศอย่างรวดเร็ว และใช้มหกรรมกีฬาครั้งนั้นเผยโฉม “ญี่ปุ่นยุคใหม่”
สู่สายตาชาวโลก
แม้จะต้องทุ่มเทงบประมาณอย่างมหาศาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
แต่การจัดโอลิมปิกครั้งแรกของทวีปเอเชียก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม
ความก้าวหน้าของญี่ปุ่น
ทั้งรถไฟชินกันเซ็ง โทรทัศน์สี ยานยนต์ ไปจนถึงนาฬิกาจับเวลา Seiko
ได้เผยโฉมสู่ชาวโลก
ภายหลังสิ่งเหล่านี้สร้างรายได้ให้ญี่ปุ่นมหาศาล
จนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก
56 ปีผ่านไป..
810,000 ล้านบาท คือจำนวนเงินที่คาดว่าจะถูกรัฐบาลญี่ปุ่นใช้จ่ายไปกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติในปี 2020
ซึ่งมากกว่างบประมาณที่ใช้จัดโอลิมปิกที่ริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล
เกือบ 200,000 ล้านบาท
ถึงแม้ว่ากรุงโตเกียวจะมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมอยู่แล้ว แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้เงินปรับปรุง และเตรียมพร้อมในเรื่องต่างๆ เพื่อรองรับการแข่งขันในครั้งนี้
โดยเฉพาะความต้องการนำเสนอนวัตกรรมแห่งอนาคต
กระแสไฟฟ้าที่ใช้ในการจัดการแข่งขันจะมาจากพลังงานทดแทน 100%
วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดงาน โดยเฉพาะเหรียญรางวัล ล้วนมาจากการรีไซเคิล
รวมทั้งหุ่นยนต์แปลภาษา ซึ่งจะคอยให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวทั่วโลกตั้งแต่ที่สนามบิน
โดยรัฐบาลญี่ปุ่นคาดหวังว่า นวัตกรรมเหล่านี้ จะทำให้ชาวโลกได้สัมผัสกับเทคโนโลยีสุดล้ำของญี่ปุ่น เมื่อรวมกับวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง
สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า จะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ถึง 40 ล้านคนภายในปี 2020 นี้
เมื่อการบริโภคภายในประเทศถึงจุดอิ่มตัว เนื่องจากเศรษฐกิจที่ซบเซามานาน
พ่วงด้วยสัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ประเทศญี่ปุ่นจึงหวังพึ่งพาการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติมาเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยสัดส่วนของภาคการท่องเที่ยวต่อ GDP ประเทศญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ปี 2014 การท่องเที่ยวมีสัดส่วน 6.5% ของ GDP
ปี 2016 การท่องเที่ยวมีสัดส่วน 7.1% ของ GDP
ปี 2018 การท่องเที่ยวมีสัดส่วน 7.4% ของ GDP
ในปี 2019 ญี่ปุ่นมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพียง 31.9 ล้านคน
โดยสัดส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนพฤศจิกายน 2019 ประกอบไปด้วย
จีนแผ่นดินใหญ่ 29%
ไต้หวัน 14%
ฮ่องกง 10%
เกาหลีใต้ 10%
ไทย 7%
เพียงแค่ 5 ดินแดนในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ก็คิดเป็นสัดส่วน 70%
ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดแล้ว
ซึ่งหมายความว่า ในปี 2020 หากต้องการบรรลุเป้าหมาย นักท่องเที่ยว 40 ล้านคน
ญี่ปุ่นจะต้องมีนักท่องเที่ยวเติบโตจากปี 2019 ในอัตราไม่ต่ำกว่า 25%
แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น..
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีต้นกำเนิดจากเมืองอู่ฮั่น
ทำให้ทางการจีนสั่งปิดเมืองหลายแห่ง รวมถึงควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ
นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นสัดส่วนหลักของการท่องเที่ยวญี่ปุ่นจึงมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก
และถ้าสังเกตให้ดี ดินแดนทั้ง 5 ก็ล้วนเป็นเขตที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงระดับต้นๆ ของโลก
ประเทศญี่ปุ่นเองก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่น้อย ซ้ำร้ายยังเป็นที่จอดของเรือสำราญไดมอนด์ปรินเซส
ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสในเรือเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ผู้ติดเชื้อบนเรือลำนี้มีจำนวนมากกว่าผู้ติดเชื้อในทุกประเทศนอกจีนเสียอีก
นอกจากนั้นตอนนี้ยังพบผู้ป่วยญี่ปุ่นที่ติดเชื้อจากคนสู่คนในท้องถิ่น (Local Transmission) ซึ่งคนเหล่านั้นไม่เคยไปประเทศจีน หรือสัมผัสกับคนจีนมาก่อน จึงเป็นประเด็นที่น่าจับตาว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นเองจะแพร่ขยายไปได้ไกลแค่ไหน
ตอนนี้ภาคเอกชนญี่ปุ่นบางส่วนจึงคาดการณ์ว่า
โตเกียวโอลิมปิกซึ่งมีกำหนดการแข่งขันในวันที่ 24 กรกฎาคม ถึงวันที่ 9 สิงหาคม
ครั้งนี้อาจจะต้องมีการเลื่อนจัดออกไป
แต่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลแห่งญี่ปุ่น ยืนยันว่าไม่มีการเลื่อนจัดอย่างแน่นอน
ถึงแม้เวลานั้น การระบาดของโรคอาจจะลดลงแล้ว
แต่ต้องไม่ลืมว่า สนามแข่งขันซึ่งสามารถรองรับผู้ชมได้ถึง 68,000 คน
นักกีฬาที่ต้องมีทั้งการฝึกซ้อมร่วมกัน แข่งขันร่วมกัน
ผู้คนมากมายจากทั่วโลกล้วนเป็นปัจจัยชั้นดีในการแพร่ระบาดของโรค
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการที่พร้อมและเพียงพอ
ทั้งการควบคุมโรค การป้องกันการระบาด จำนวนทีมแพทย์และโรงพยาบาล
ผลกระทบจากโรคระบาดย่อมส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวและผู้เข้าชมน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
การลงทุนมหาศาลครั้งนี้ อาจจะไม่ได้ให้ผลดีเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 56 ปีที่แล้ว..
ยิ่งหากคำนึงถึงสัดส่วนหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นซึ่งสูงถึง 201% ของ GDP
เศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เปราะบางอยู่แล้ว
จึงอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง
ทั่วโลกจึงคาดหวังว่าสถานการณ์ของการระบาดจากไวรัสโควิด-19 จะดีขึ้นในเร็ววัน..
แต่อย่างไรก็ตาม
ประเทศที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กันคือประเทศไทย
หากญี่ปุ่นที่พึ่งพาการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนเพียง 7.4% ของ GDP
ยังประสบปัญหาหนักขนาดนี้
ประเทศไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยว 21.7% ของ GDP
คงไม่ต้องพูดถึงว่าจะเป็นอย่างไร..
----------------------
Blockdit ที่สุดของแอปมีสาระ
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.latimes.com/sports/olympics/story/2019-12-20/2020-tokyo-olympics-could-cost-japan-more-than-26-billion
-https://www.tourism.jp/en/tourism-database/stats/inbound/
-https://gisanddata.maps.arcgis.com/apps/opsdashboard/index.html?fbclid=IwAR3N4yDgHED_DoRb2Gii32S9dBnxN93fciyUewG6JjcrbwHjwgs2jLg9CWE#/bda7594740fd40299423467b48e9ecf6
-https://bleacherreport.com/articles/2876095-ioc-tokyo-2020-olympics-wont-be-cancelled-or-postponed-due-to-coronavirus
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.