จีน ประเทศที่ "เคยจนกว่า" ไทย

จีน ประเทศที่ "เคยจนกว่า" ไทย

19 ก.พ. 2020
บทความพิเศษ สรุปประเทศจีน ประเทศที่เคยจนกว่าไทย /โดย ลงทุนแมน
เมื่อจีนเริ่มจาม “โลกจะติดหวัด”
เป็นคำเปรียบเปรยว่า
เศรษฐกิจจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากแค่ไหน
แต่หากพูดถึงประเทศจีนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
ไม่ว่าจีนจะจาม หรือจะป่วย ก็คงไม่มีใครสนใจ
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสมัยก่อน
สิ่งที่คนไทยจะนึกถึงจีน ก็คือ สภาพบ้านเมืองสกปรก เต็มไปด้วยผู้คนฐานะยากจน
นักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวไทยยังมีจำนวนน้อย นักธุรกิจยิ่งไม่ต้องพูดถึง
ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นใน 20 ปีให้หลัง
เมืองที่มีถนนหนทางสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย เชื่อมต่อกับเมืองอื่นด้วยรถไฟความเร็วสูง
คนยากจนลดลงเหลือไม่ถึง 1%
จีนเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทยมากที่สุด
มีนักธุรกิจ และนักลงทุนหอบเงินไปลงทุนอยู่ทั่วทุกมุมโลก
จากประเทศที่ยากจนข้นแค้น จีนก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในทุกๆ ด้าน
ทั้งการผลิต การค้า และนวัตกรรม
และเชื่อมโยงโลกทั้งใบเข้าไว้ด้วยกัน
ยินดีต้อนรับเข้าสู่ซีรีส์บทความ ประเทศที่เคยจนกว่าไทย ตอน ประเทศจีน
╔═══════════╗
Blockdit ที่สุดของแอปมีสาระ
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
60 ปีที่แล้ว แผนพัฒนา “ก้าวกระโดดไกล” ของประธานเหมาเจ๋อตง กลับทำให้เศรษฐกิจของจีน กระโดดถอยหลัง
ย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปีที่แล้ว
ปี ค.ศ. 1960 คนจีนมี GDP ต่อหัว 1,900 บาทต่อปี น้อยกว่าคนไทยเล็กน้อย
แต่จุดเปลี่ยนในตอนนั้น ทำให้ คนจีนมี GDP ตกต่ำลงไปอีกหลายทศวรรษ
แม้จนถึงปี ค.ศ. 1990
คนจีนก็ยังมี GDP ต่อหัวเพียง 7,950 บาทต่อปี ซึ่งน้อยกว่า GDP ต่อหัวคนไทยเกือบ 5 เท่า
ในตอนนั้นจีนอยากเพิ่มการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเหล็กกล้าให้ได้ 2 เท่า
แต่วิธีการเกณฑ์แรงงานเกษตรกรมาผลิตเหล็กกล้า
กลับทำร้ายทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรม
แรงงานที่ไม่ชำนาญในการหลอมเหล็กทำให้เหล็กกล้าที่ได้มีคุณภาพต่ำ
ส่วนภาคการเกษตรที่ขาดแรงงาน ถูกซ้ำเติมด้วยภัยธรรมชาติ ผลผลิตตกต่ำ
จนเกิดภาวะอดอยากไปทั่วประเทศ
การปฏิวัติวัฒนธรรมในปี ค.ศ.1966 - ค.ศ.1976 ที่มีการทำลายความคิดทุกฝ่ายที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์
รวมถึงทำลายรากเหง้าวัฒนธรรมจีน ทั้งสถานที่ และความเชื่อ
เหล่านักธุรกิจถ้าไม่ถูกฆ่าก็ต้องอพยพหนีออกนอกประเทศ
ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจจีนย่ำแย่กว่าเดิม
จนเมื่อประธานเหมาจากไป ประเทศจีนถึงได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจครั้งสำคัญ ในปี ค.ศ. 1978 ภายใต้การนำของผู้นำที่ชื่อว่า เติ้ง เสี่ยวผิง
“ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ ก็ถือเป็นแมวที่ดี”
วาทะของเติ้ง เสี่ยวผิง สื่อถึงความต้องการให้ประเทศจีนพัฒนาให้ทันสมัยอย่างรวดเร็วที่สุด
ไม่ว่าจะดำเนินด้วยนโยบายเศรษฐกิจในรูปแบบใด
โดยเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจจากระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ ไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดตามแนวนโยบาย “สี่ทันสมัย” ควบคู่กับการเปิดประเทศ
หัวใจสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจนี้คือ
1.การสร้างภาคเอกชน ด้วยการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป
จากเดิมที่ธุรกิจของจีนไม่มีภาคเอกชนอยู่เลย มีแต่รัฐวิสาหกิจที่เต็มไปด้วยปัญหาขาดทุน
รัฐบาลจีนได้ทำการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาท โดยเฉพาะธุรกิจที่เน้นแรงงาน เช่น โรงงานผลิตสินค้า และภาคบริการต่างๆ
ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ต้องใช้เงินทุนสูง เช่น โรงไฟฟ้า รถไฟ ปิโตรเคมี รถยนต์ จะไม่มีการแปรรูปให้เป็นเอกชน แต่มีการแตกบริษัท เช่น บริษัทรถยนต์ถูกแตกเป็น 4 บริษัท เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันเอง และเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างรายได้
รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน ถ้าไม่ถูกแปรรูปเป็นของเอกชน ก็จะถูกปล่อยให้ล้มละลาย
จึงส่งผลให้ภาครัฐวิสาหกิจมีการจ้างงานที่ลดลง ในขณะที่ผลกำไรของรัฐวิสาหกิจเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
2.การกระจายอำนาจด้านการคลังสู่ท้องถิ่น
เมื่อมีอำนาจทางการคลัง ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นของจีนสามารถเก็บภาษีท้องถิ่นของตัวเองได้
ส่งผลให้แต่ละท้องถิ่น กล้าที่จะดำเนินนโยบายใหม่ๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต
รัฐบาลท้องถิ่นยังมีอำนาจในการอนุมัติการลงทุนจากต่างชาติที่มีมูลค่าไม่เกิน 30,000 ล้านบาท
จึงทำให้รัฐบาลท้องถิ่น ต่างเร่งพัฒนาท้องถิ่นตนเองเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
3.การปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะในระดับมหาวิทยาลัย
มีการกระจายอำนาจจากรัฐบาลกลาง ให้รัฐบาลท้องถิ่นกำกับดูแลมหาวิทยาลัยของรัฐได้
เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหาร
ปล่อยการบริหารงานของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปอย่างอิสระ
โดยภาครัฐสนับสนุนทางการเงินอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
การปฏิรูปการศึกษาเริ่มดำเนินมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1978 โดยการสนับสนุนคู่กันทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาของจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จากสัดส่วนไม่ถึง 1.0% ของ GDP ในปี 2000
เพิ่มมาจนอยู่ที่ 2.2% ของ GDP ในปี 2018 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงแซงหน้าสหภาพยุโรปไปแล้ว
การพัฒนาทำให้เศรษฐกิจจีนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งการพัฒนาด้านการศึกษา และระบบโครงสร้างพื้นฐาน
ยิ่งจีนเข้าร่วมองค์การการค้าโลกในปี ค.ศ. 2001 ก็ยิ่งทำให้บทบาทของจีนเติบโตจนกลายเป็นโรงงานของโลก
GDP ต่อหัวของคนจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ปี 1960 คนจีนมี GDP ต่อหัว 1,900 บาทต่อปี น้อยกว่าคนไทยเล็กน้อย
ปี 1990 คนจีนมี GDP ต่อหัว 7,590 บาทต่อปี น้อยกว่าคนไทยเกือบ 5 เท่า
ปี 2018 คนจีนมี GDP ต่อหัว 304,000 บาทต่อปี ซึ่งมากกว่าคนไทยไปแล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม การก้าวพ้น “กับดักประเทศรายได้ปานกลาง”
เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญมากที่สุด โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การพัฒนานวัตกรรม
เมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ระบบคมนาคมที่เพียบพร้อม ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญ
การพัฒนานวัตกรรมก็ดำเนินต่อไปได้ง่ายขึ้น
ภายใต้การนำของผู้นำ สี จิ้นผิง
ได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ “Made in China 2025”
เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม เพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าจีน
เพื่อพลิกโฉมจากแหล่งผลิตสินค้าราคาถูก ให้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีล้ำหน้าภายในปี ค.ศ. 2025
แต่ประเทศจีนก็ก้าวช้ากว่าประเทศอื่นในเรื่องของเทคโนโลยี
ดังนั้น วิธีที่จะได้เทคโนโลยีมาครอบครองเพื่อพัฒนาต่อยอด จึงประกอบไปด้วย
1. การเทกโอเวอร์บริษัทเทคโนโลยีทั่วโลก แล้วใช้ความเป็นหุ้นส่วนในการดึงองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีออกมา
2. หากบริษัทไฮเทคต่างๆ ของชาวต่างชาติต้องการตั้งฐานการผลิตที่ประเทศจีน จำเป็นที่จะต้องให้บริษัทสัญชาติจีนร่วมทุนด้วย ซึ่งการร่วมทุนก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการดึงเทคโนโลยี
นอกจากภายในประเทศ จีนยังดำเนินยุทธศาสตร์ “Belt and Road Initiative” เพื่อขยายอิทธิพลระหว่างประเทศ โดยมีจุดประสงค์หลักคือ
1.เชื่อมโยงการค้าและธุรกิจของจีน กับประเทศในภูมิภาคเอเชีย ยุโรปและแอฟริกา
2.ส่งออกวัตถุดิบที่จีนมีกำลังการผลิตมากเกิน เช่น เหล็กกล้า เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่อยู่ในเส้นทางของยุทธศาสตร์นี้
พัฒนาโครงการด้านพลังงานในประเทศเหล่านี้ เพื่อนำเข้าพลังงาน
รวมถึงกระจายการลงทุน โดยเฉพาะย้ายโรงงาน ไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าจีน
3.เพื่อยกระดับความสำคัญของสกุลเงินหยวนต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ในระยะยาว
จากประเทศที่ยากจนข้นแค้น จีนใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบปี ก้าวขึ้นมาจนมีบทบาทสำคัญในระดับโลก และบทบาทของประเทศนี้ก็คงจะเพิ่มขึ้นมาอีกมากในอนาคตอันใกล้
หากจะย้อนไปที่คำเปรียบเปรยตั้งต้น “เมื่อจีนเริ่มจาม โลกจะติดหวัด”
ว่าเศรษฐกิจจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกมากแค่ไหน
สถานการณ์ในช่วงเวลาปัจจุบัน
คงจะเป็นข้อพิสูจน์ของคำเปรียบเปรยนี้ได้ดีที่สุด
เพราะทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากจีนไปเป็นวงกว้าง..
ติดตามซีรีส์บทความ ประเทศที่ “เคยจนกว่า” ไทยได้ในสัปดาห์หน้า
กับเรื่องราวของประเทศในตะวันออกกลางที่ถึงแม้จะมีทรัพยากรล้ำค่า
แต่พยายามพัฒนาทุกอย่างเพื่อลดการพึ่งพาทรัพยากรนั้น
ประเทศนั้นชื่อ
“รัฐสุลต่านโอมาน”..
----------------------
Blockdit ที่สุดของแอปมีสาระ
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร,CHINA 5.0 สีจิ้นผิง เศรษฐกิจยุคใหม่ และแผนการใหญ่ AI
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.PCAP.CD?locations=CN-TH
-https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1304806
-http://www.polsci-law.buu.ac.th/journal/document/3-2/3.pdf
-http://www.xinhuanet.com/english/2019-09/07/c_138373248.htm
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.