ธุรกิจเครือเซ็นทรัลเป็นอย่างไรในช่วง COVID-19

ธุรกิจเครือเซ็นทรัลเป็นอย่างไรในช่วง COVID-19

16 เม.ย. 2020
ธุรกิจเครือเซ็นทรัลเป็นอย่างไรในช่วง COVID-19
ลงทุนแมน สัมภาษณ์ คุณ ญนน์ CEO ของ Central Retail
“ไวรัสครั้งนี้เป็นศัตรูของทุกธุรกิจ
ไม่ว่าบริษัทคุณจะใหญ่แค่ไหนก็เจ๊งได้”
เมื่อไม่กี่ชั่วโมงที่ผ่านมาลงทุนแมนมีโอกาสได้พูดคุย
กับคุณ ญนน์ โภคทรัพย์ CEO ของ Central Retail Corporation หรือ CRC
CRC เพิ่งจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย
ระดมทุนไปได้กว่า 70,000 ล้านบาทซึ่งถือเป็นบริษัทที่ระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้มากสุดในประเทศไทย
แต่หลังจากนั้นไม่นาน สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19
ก็ได้เปลี่ยนโลกของธุรกิจค้าปลีกไปเกือบทั้งใบ
และ CRC ก็อยู่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เช่นกัน..
แล้วตอนนี้ สถานการณ์ของ CRC เป็นอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
CRC ประกอบไปด้วย
1. ธุรกิจกลุ่ม Food เช่น ท็อปส์ แฟมิลี่มาร์ท
2. ธุรกิจกลุ่ม Non-Food เช่น ห้างเซ็นทรัล ห้างโรบินสัน ซูเปอร์สปอร์ต เพาเวอร์บาย ไทวัสดุ
จากตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจกลุ่ม Food เพียงกลุ่มเดียวที่ยังพอดำเนินกิจการได้
ในขณะที่ รายได้จากธุรกิจ Non-Food รายได้จะหายไปอย่างมีนัยสำคัญ
จากภาพรวมดังกล่าว คุณญนน์ระบุว่าปัจจุบันธุรกิจแฟชั่นและฮาร์ดไลน์สามารถเปิดดำเนินการได้ไม่ถึง 10%
ตีเป็นตัวเลขกลมๆ ได้ว่า
หากสภาวะปกติธุรกิจกลุ่มนี้รายได้ 100 บาท
ยอดขายกลุ่มนี้ก็น่าจะเหลือเพียง 10 บาท ลดตามสัดส่วนสาขาที่เปิดดำเนินการได้
แต่เอาเข้าจริง ธุรกิจกลุ่มนี้สามารถทำรายได้ 30 บาท หรือ ยอดขายต่อสาขาที่ดำเนินการเพิ่มเป็น 3 เท่า
เคล็ดลับของเรื่องนี้ เป็นเพราะ ลูกค้าสั่งซื้อออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาช่องทาง Omni Channel ของทางบริษัทในปีที่ผ่านมา
และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ Product Mix ที่เปลี่ยนไป
จากเดิมที่ในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต
สินค้าประเภท “ของสด” มีสัดส่วนไม่ถึง 5% ของยอดขาย
ในตอนนี้ ของสด โตขึ้นเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของทั้งหมด
อีกตัวอย่างที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้หญิงทำงานที่อยู่บ้านมากขึ้น หันมาสนใจในการทำอาหาร สินค้าประเภท Ready to Cook ก็เติบโตขึ้น มาแทน Ready to Eat และแบรนด์ไทยก็ได้รับความนิยมมากขึ้นไม่แพ้แบรนด์ต่างประเทศ
แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมัน Painful, Expensive แต่ในขณะเดียวกันก็ Very Cheap
Painful คือ เหตุการณ์นี้สร้างความเจ็บปวดให้แก่ทุกคน
Expensive คือ เหตุการณ์นี้มีความเสียหายมหาศาล
แต่อย่างไรก็ตาม เราสามารถทดลองธุรกิจใหม่ๆ ได้ด้วยต้นทุนถูกมาก (Very Cheap) เพราะผู้บริโภคพร้อมที่จะเข้าร่วมการทดลองในเหตุการณ์นี้
นอกจากธุรกิจในประเทศแล้ว
ผลกระทบถัดมาก็คือ ธุรกิจที่ต่างประเทศ
CRC ทำธุรกิจอยู่ใน 3 ประเทศหลักๆ แบ่งตามโครงสร้างรายได้
ประเทศไทย 74%
ประเทศเวียดนาม 18%
และประเทศอิตาลี 7%
จะเห็นได้ว่าประเทศอิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดมากที่สุดในโลก
นั่นทำให้รายได้ห้างค้าปลีกของ CRC ที่อิตาลีในช่วงนี้จะหายไป อย่างไรก็ตาม CRC ยังสามารถเจรจาขอลดค่าเช่าได้ และเรื่องค่าใช้จ่ายพนักงาน จะมีหน่วยงานรัฐบาลคอยสนับสนุน
คำถามต่อไปก็คือ
อะไรที่ CRC คิดว่าเป็นสิ่งที่สำคัญสุดในช่วงนี้?
คำตอบก็คือ การบริหารกระแสเงินสด และสภาพคล่อง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือ “Next Normal” ที่จะเกิดขึ้นต่อไป
ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร
หากเราบริหารสภาพคล่องได้ไม่ดี
ไม่ว่าธุรกิจเราจะเล็ก จะใหญ่ขนาดไหน
เราก็มีโอกาสล้มละลายได้เท่าๆ กันทั้งหมด
สำหรับบริษัท CRC ที่เพิ่งได้รับเงินระดมทุน 70,000 ล้านบาท แต่เดิมบริษัทมีจุดประสงค์นำเงินที่ได้ไปขยายกิจการ และชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบัน 18,536 - 29,665 ล้านบาท
จากเหตุการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น
ทำให้บริษัทต้องวางแผนการขยายกิจการใหม่
ในขณะที่การชำระคืนเงินกู้ยืมสถาบันยังเป็นไปตามแผนเดิม
นอกเหนือจากผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตัวธุรกิจแล้ว
คุณญนน์ยังได้ให้ความเห็นว่าโรคระบาดรอบนี้
จะเร่งให้เราเข้าสู่โลกดิจิทัลเร็วขึ้นแบบทวีคูณ
สิ่งที่ตามมาก็คือ พฤติกรรมบางอย่างของเราอาจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งคุณญนน์ ใช้คำว่า Next Normal
ยกตัวอย่างเช่น เรากำลังเข้าสู่สังคม Touchless หรือหลีกเลี่ยงที่จะจับต้องสิ่งของมากขึ้น
นั่นเท่ากับว่าบางธุรกิจที่เดิมทีอาศัยการจับต้องสิ่งของ
อาจจะต้องปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ
หรือ ยุคถัดไปของ Sharing Economy จะเป็นอย่างไร เราอาจต้องมาคิดใหม่กับเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันหลายคนไม่อยากแชร์ ไม่อยากใช้ของคนอื่น และไม่อยากเอาของตัวเองให้คนอื่นใช้
หรือ โมเดล Subscription ที่น่าจะมีบทบาทมากขึ้น ในอนาคตเราอาจมีธุรกิจ ดิจิทัลปิ่นโต คือเราไม่ต้องมานั่งเลือกเมนูอาหาร กดสั่งครั้งต่อครั้ง แค่สมัครสมาชิก แล้วอาหารจะเสิร์ฟถึงบ้านเราทุกวันโดยอัตโนมัติ
หากใครปรับตัวได้ทันก็อาจจะกลับมาได้
หากใครปรับตัวไม่ทันก็อาจจะกลับมาได้ยาก
หรือแม้แต่บางธุรกิจที่กลับมาได้
ทุกอย่างก็อาจจะไม่ได้กลับมาเป็นอย่างที่เคย
ทั้งหมดนี้จึงเป็นอีกความท้าทายสำหรับทุกธุรกิจ
ที่กำลังจะเกิดขึ้นทันที หลังจากวิกฤติโรคระบาด
สิ่งที่ควรทำในวิกฤติรอบนี้ก็คือ “การมองไปยังอนาคต”
ไม่ต้องถามว่าตอนนี้เสียหายมากแค่ไหน
คำถามนี้ ทุกคนก็รู้คำตอบอยู่แล้วว่ามันเสียหายกันหมด ไม่ต้องไปกังวลกับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว
สิ่งสำคัญคือตอนนี้จะรอดไปได้อย่างไร บริหารเงินสดให้ดี
เตรียมพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดในอนาคต
และเราต้องมีหลักยึด
ซึ่งการมี “Purpose” ขององค์กรสำคัญมาก
เราต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า
องค์กรของเรา มีอยู่บนโลกนี้ เพื่ออะไร..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.