Mindray บริษัทผลิตเครื่องช่วยหายใจ ที่รับประโยชน์ไปเต็มๆ

Mindray บริษัทผลิตเครื่องช่วยหายใจ ที่รับประโยชน์ไปเต็มๆ

17 เม.ย. 2020
Mindray บริษัทผลิตเครื่องช่วยหายใจ ที่รับประโยชน์ไปเต็มๆ /โดย ลงทุนแมน
ตอนนี้ Covid-19 กำลังกระทบกับการใช้ชีวิตของมนุษย์บนโลกทุกคน
แต่หนึ่งในความจริงที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ “เหรียญมี 2 ด้านเสมอ”
แม้หลายบริษัทกำลังย่ำแย่
แต่บางบริษัทก็กำลังเติบโตอย่างเหลือเชื่อในช่วงเวลาแบบนี้
หนึ่งในนั้นคือ Shenzhen Mindray Bio-Medical Electronics หรือ Mindray
มูลค่ากิจการของ Mindray ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 470,000 ล้านบาท ในระยะเวลาไม่ถึง 4 เดือนแรกของปี 2020
ทำไม Mindray ถึงเติบโตท่ามกลางช่วงเวลาแบบนี้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Mindray ก่อตั้งขึ้นในปี 1991 ในเมืองเซินเจิ้น โดยทำธุรกิจออกแบบและผลิตอุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์
สินค้าของ Mindray นั้นส่งขายไปยัง 190 ประเทศทั่วโลก สินค้ามีตั้งแต่ เครื่องตรวจวัดผู้ป่วย เครื่องให้ยาสลบ เครื่องให้สารเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด
และแน่นอนว่ารวมถึง “เครื่องช่วยหายใจ”
เครื่องช่วยหายใจ ถือว่าเป็นสิ่งที่หลายประเทศกำลังต้องการในช่วงเวลาแบบนี้
รู้ไหมว่า เครื่องช่วยหายใจบนโลกนี้ทุกๆ 100 เครื่อง จะเป็นเครื่องช่วยหายใจของ Mindray จำนวน 10 เครื่อง หรือพูดง่ายๆ ว่า ส่วนแบ่งตลาดเครื่องช่วยหายใจทั้งหมดในโลกเป็นส่วนของ Mindray 10%
นับตั้งแต่ที่ไวรัส Covid-19 เริ่มระบาดในช่วงปลายปี 2019 จนถึงปัจจุบัน มียอดผู้ติดเชื้อกว่า 2 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นคนที่อยู่ระหว่างการรักษากว่า 1 ล้านคน
สหรัฐอเมริกา ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อไวรัส Covid-19 มากที่สุดในโลก มีจำนวนเครื่องช่วยหายใจทั้งประเทศจำนวน 200,000 เครื่อง แต่การระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้คาดว่าตอนนี้ ผู้ป่วยในสหรัฐฯ ยังต้องการเครื่องช่วยหายใจอีกถึง 960,000 เครื่อง
ขณะที่ในฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน และสหราชอาณาจักร ตอนนี้มีความต้องการเครื่องช่วยหายใจมากไม่แพ้กัน
กรณีของอิตาลี ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจาก Covid-19 มากเป็นอันดับ 2 ของโลก ประสบปัญหาการขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจ ทำให้แพทย์ที่อิตาลีต้องเลือกที่จะรักษาผู้ป่วยว่า คนไหนควรจะรักษาต่อ หรือปล่อยให้เสียชีวิต
พอเรื่องเป็นแบบนี้ Mindray จึงบอกว่า ปัจจุบัน ความต้องการเครื่องช่วยหายใจทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่าจากช่วงเวลาปกติ โดยที่ปัจจุบัน Mindray มีกำลังผลิตเครื่องช่วยหายใจจำนวน 3,000 เครื่องต่อเดือน
Mindray กล่าวว่าในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีคำสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะเครื่องช่วยหายใจและเครื่องตรวจวัดอาการผู้ป่วย เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
Mindray เคยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ New York Stock Exchange ในช่วงระหว่างปี 2006-2016 ก่อนที่บริษัทเพิกถอนหุ้นของบริษัทออกไป ปัจจุบัน หุ้นของ Mindray จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้น Shenzhen Stock Exchange
แล้วที่ผ่านมารายได้และกำไรของของบริษัทเป็นอย่างไร
รายได้และกำไรของ Shenzhen Mindray Bio-Medical Electronics
ปี 2017 รายได้ 51,400 ล้านบาท กำไร 11,900 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 63,200 ล้านบาท กำไร 17,100 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 76,150 ล้านบาท กำไร 21,500 ล้านบาท
3 ปีหลังสุด รายได้และกำไรนั้นเติบโตต่อเนื่อง โดยรายได้เติบโต 20% ขณะที่กำไรเติบโต 26%
และเมื่อดูจากความต้องการเครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่กำลังเพิ่มขึ้นในเวลานี้
ปีนี้ Mindray ก็น่าจะมีผลประกอบการที่เติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว
ปัจจุบัน Mindray มีมูลค่าบริษัทเท่ากับ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่ามูลค่าบริษัท ปตท. ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่า นับจากปลายปีจนถึงปัจจุบัน การที่หุ้น Mindray ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น ทำให้ความมั่งคั่งของ Li Xiting ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทนั้นเพิ่มกว่า 118,000 ล้านบาท แต่เขากลับไม่ใช่คนจีน
ปัจจุบัน Li Xiting เป็นคนที่มีความมั่งคั่งมากสุดในสิงคโปร์ โดยมีทรัพย์สินรวมทั้งหมดกว่า 405,000 ล้านบาท..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://finance.yahoo.com/quote/300760.SZ?p=300760.SZ
-https://www.mindray.com/en/about.html
-https://www.worldometers.info/coronavirus/
-https://www.nsmedicaldevices.com/analysis/coronavirus-ventilators-global-demand/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.