ตุรกี ประเทศที่ค่าเงินอ่อนปวกเปียก เป็นรองแค่เวเนซุเอลา

ตุรกี ประเทศที่ค่าเงินอ่อนปวกเปียก เป็นรองแค่เวเนซุเอลา

29 เม.ย. 2020
ตุรกี ประเทศที่ค่าเงินอ่อนปวกเปียก เป็นรองแค่เวเนซุเอลา /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ว่า เมื่อปี 2008 เราต้องใช้เงิน 28.56 บาทในการแลกเงิน 1 ลีราตุรกี
ปี 2018 ที่ตุรกีเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เราจะใช้เงินเพียง 6 บาทในการแลกเงิน 1 ลีราตุรกี
ปัจจุบัน ล่าสุด เราจะใช้เงินเพียง 4.65 บาทในการแลกเงิน 1 ลีราตุรกี..
ถ้าเราแลกเงินบาทเป็นเงินลีราตุรกีเมื่อ 12 ปีที่แล้ว แล้วแลกกลับมาเป็นเงินบาทในปัจจุบัน
เงินเราจะหายไป 84%..
เรื่องนี้เป็นเพราะอะไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไป ปี 2018 ตุรกีประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนักในรอบ 10 ปี
มูลค่า GDP หายไปกว่า 2.7 ล้านล้านบาท
ความเสียหายในครั้งนั้นสร้างความบอบช้ำอย่างหนักต่อตุรกี
ตุรกีเป็นประเทศที่มีพื้นที่ตั้งอยู่ทั้งในทวีปเอเชียและทวีปยุโรป โดยพื้นที่กว่า 97% เป็นพื้นที่ที่อยู่ในทวีปเอเชียและอีก 3% อยู่ในทวีปยุโรป
ตุรกีมีมูลค่า GDP กว่า 24.5 ล้านล้านบาท เป็นอันดับที่ 19 ของโลก และใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ในทวีปยุโรป โดยมี GDP ต่อหัวเท่ากับ 296,000 บาทต่อปี ซึ่งทั้ง GDP ต่อหัว และ GDP ประเทศตุรกีมีมูลค่ามากกว่าประเทศไทย
ก่อนหน้าที่ตุรกีจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2018 ตุรกีนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงมาก โดยในช่วงระหว่างปี 2010-2017 เศรษฐกิจของตุรกีเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.9%
ซึ่งปัจจัยสำคัญเกิดจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านการลงทุนโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ซึ่งเงินจำนวนมากนั้นมาจากการกู้ยืมของรัฐบาล เรื่องนี้ทำให้ตุรกีมีงบประมาณขาดดุลติดต่อกันยาวนานมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก
ตุรกีก็คล้ายๆ กับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายแห่ง เมื่อเศรษฐกิจมีการเติบโตที่รวดเร็ว จึงเกิดการบริโภคและการลงทุนในระดับสูง แต่การออมในประเทศยังอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้ต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ เรื่องนี้จึงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของตุรกีติดลบมาตลอด
รู้ไหมว่าก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤตในปี 2018
ในช่วงระหว่างปี 2010-2017 ตุรกีขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรวมกันถึง 12.8 ล้านล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 1.6 ล้านล้านบาท
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดคือ สัญญาณอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางสำหรับเศรษฐกิจของตุรกี
นอกจากนี้ ตรุกีเป็นประเทศที่ยังคงพึ่งพาการส่งออกในระดับสูง โดยการส่งออกของประเทศมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของมูลค่า GDP
แต่แล้วความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และตุรกีที่มีปัญหา ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรตุรกีด้วยการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากตุรกีเป็น 50% และ 20% ในปี 2018
ซึ่งสินค้าทั้ง 2 อย่างนี้เป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศตุรกี..
โดยเฉพาะเหล็กนั้น ตุรกี คือหนึ่งในประเทศที่ส่งออกเหล็กแท่งรายใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งในโลก การขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในครั้งนี้ จึงส่งผลอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของตุรกีไปด้วย
เมื่อรวมกับความพยายามที่จะก่อรัฐประหารของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลภายในประเทศเมื่อปี 2016 ทำให้เศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว เริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ เงินลงทุนต่างชาติ จึงเริ่มไหลออกจนทำให้ค่าเงินลีราของตุรกีเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงถึง 40% ในปี 2018
วิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น ส่งผลให้อัตราการว่างงานของตุรกีเร่งตัวขึ้น จนกลายมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป
ปี 2018 อัตราการว่างงานของตุรกี 12.8% จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ
ปี 2018 GDP ของตุรกีเติบโต 2.8%
ปี 2019 GDP ของตุรกีเติบโต 0.9%
และในตอนนี้ เศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วของตุรกีก็มาเจอความท้าทายอีกครั้ง เหมือนที่หลายประเทศทั่วโลกเจอนั่นคือ การระบาดของ COVID-19
แน่นอนว่า COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาคบริการของประเทศ ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนกว่า 55% ของ GDP ประเทศตุรกี
และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ย่อมหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมานั้นเติบโตอย่างมาก ถึงขนาดทำให้ในปี 2014 ตุรกีเคยเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก
โดยในปี 2019 จำนวนนักท่องเที่ยวมาตุรกี 51.9 ล้านคน มีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศตุรกีอีกด้วย
วันนี้การระบาดของ COVID-19 ได้กระทบกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของตุรกีอย่างหนักหน่วง
และยิ่งไปกว่านั้น ตุรกีเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน ทุนสำรองของธนาคารกลางของตุรกีอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท เทียบกับจุดสูงสุดในปี 2013 ที่ 3.7 ล้านล้านบาท แน่นอนว่า ทุนสำรองที่เหลือน้อย ทำให้ความสามารถของธนาคารกลางในการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินลีราในอนาคตนั้น ลดลงไปด้วย
ความเสี่ยงของตุรกีตอนนี้ก็คือ เงินทุนต่างชาติอาจไหลออกอย่างรวดเร็ว และอาจทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด และวิกฤติครั้งนี้ของตุรกีน่าจะรุนแรงมากกว่าที่ประเทศอื่นเผชิญอยู่หลายเท่า..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Turkish_currency_and_debt_crisis,_2018
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.CD?locations=TR
-https://ahvalnews.com/turkey-economy/turkeys-fragile-economy-poorly-placed-weather-covid-19-cnbc
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)_per_capita
-https://www.aa.com.tr/en/economy/-turkeys-tourism-revenues-hit-345b-high-in-2019/1719889
-https://countryeconomy.com/unemployment/turkey?dr=2019-10
-https://www.ceicdata.com/en/indicator/turkey/foreign-exchange-reserves
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.