Kongō Gumi บริษัทที่สร้างปราสาทโอซากะ

Kongō Gumi บริษัทที่สร้างปราสาทโอซากะ

3 พ.ค. 2020
Kongō Gumi บริษัทที่สร้างปราสาทโอซากะ /โดย ลงทุนแมน
ในประเทศไทย บริษัทที่มีอายุมากที่สุดคือ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)
ซึ่งดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า
ก่อตั้งปี พ.ศ. 2421 มีอายุ 142 ปี
และถ้าให้เดาว่า บริษัทที่มีอายุมากที่สุดในโลก จะมีอายุกี่ปี?
300 ปี 500 ปี หรือ 1,000 ปี
คำตอบคือ 1,442 ปี..
นั่นคือบริษัท “Kongō Gumi”
และถ้าถามอีกว่า บริษัทนี้ดำเนินธุรกิจอะไร
ทำไมถึงอยู่ยงคงกระพัน อยู่นับพันปีได้
คำตอบที่ได้ อาจทำให้หลายคนคาดไม่ถึง
ไม่ใช่ธุรกิจอาหาร ธุรกิจปรุงยา หรือค้าขาย
แต่เป็นธุรกิจก่อสร้างที่ไม่ใช่ก่อสร้างธรรมดา แต่เป็นการสร้าง “วัด”
ทำไมบริษัทนี้ถึงอยู่ได้นานขนาดนี้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ผู้สร้างตำนานบริษัทนี้คือคุณ Shigemitsu Kongō
ผู้อพยพชาวเกาหลีใต้ ที่อาศัยในญี่ปุ่น และมีอาชีพเป็นช่างไม้
วันหนึ่งเขาได้ถูกเจ้าชายโชโตกุ และราชสำนัก
ว่าจ้างให้สร้างวัดทางพุทธศาสนาขึ้น
เพราะสมัยนั้น ญี่ปุ่นยังไม่เคยมีวัดพุทธเลยสักแห่ง
คนญี่ปุ่นจึงไม่มีความชำนาญในด้านนี้
ซึ่งคุณ Shigemitsu Kongō ก็ได้สร้างวัดพุทธแห่งแรกขึ้นในญี่ปุ่น
“Shitenno-ji” หรือวัดชิเทนโนจิ ที่ตั้งอยู่ในเมืองโอซากะ
ผลงานนี้ เป็นที่ยกย่องชื่นชมจากผู้คนอย่างมาก
และประจักษ์ให้เห็นถึงความสามารถของคุณ Shigemitsu Kongō
จากกระแสตอบรับ และเขาก็เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในการสร้างวัดต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น
คุณ Shigemitsu Kongō จึงได้ก่อตั้งบริษัท Kongō Gumi ขึ้นในปี พ.ศ. 1121
เพื่อดำเนินธุรกิจรับสร้างวัดอย่างเต็มตัว
นอกจากนี้ ยังมีอานิสงส์จากการที่เจ้าชายโชโตกุ
ได้เริ่มส่งเสริมพุทธศาสนาให้แพร่หลายในญี่ปุ่น
กิจการของบริษัทจึงเติบโตเรื่อยมา พร้อมกับความศรัทธาของผู้คน
ซึ่งวัดชื่อดังหลายแห่งก็มาจากผลงานของบริษัท
Kongō Gumi นอกจากได้สร้างวัดพุทธจำนวนมากในญี่ปุ่นแล้ว
บริษัทยังได้สร้าง ศาลเจ้า ประตู ตึก รวมถึงปราสาทต่างๆ
และหนึ่งในผลงาน อันเป็นระดับตำนานในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ก็คือ “ปราสาทโอซากะ”
นอกจากนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ความต้องการสร้างวัดได้หายไป
บริษัทก็ได้ผันตัว ไปทำหีบศพขาย เพื่อรองรับความต้องการ
ในสภาวะสงครามที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
โดยหลังสงครามสิ้นสุด บริษัทก็กลับมาบูรณะวัดและศาลเจ้า
ที่ถูกทำลายไปในสงครามขึ้นมาใหม่
และเริ่มหันมาใช้คอนกรีตเป็นวัสดุก่อสร้างแทนไม้
เนื่องจากเห็นว่า ไม้ไม่ทนทานต่อไฟไหม้ แผ่นดินไหว รวมถึงสงคราม

Kongō Gumi ดำเนินกิจการมาอย่างยาวนาน มีการสืบทอดกิจการจากรุ่นต่อรุ่นถึง 40 รุ่น
โดยเลือกผู้นำธุรกิจ จากลูกหลานที่มีความสามารถ และเหมาะสมที่สุดให้มารับช่วงต่อ
ไม่ว่าจะเป็น ลูกชายคนเล็ก คนโต ผู้ชาย หรือผู้หญิง
แต่ชีวิตคนเราย่อมมีอายุขัย ธุรกิจก็เช่นกัน

ในช่วง พ.ศ. 2523 บริษัทได้กู้เงินจำนวนมาก มาลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
ซึ่งดันโชคร้าย เกิดวิกฤติฟองสบู่แตก
ราคาสินทรัพย์ที่บริษัทได้ลงทุนไป ร่วงลงมหาศาล
จนบริษัทเหลือเพียงหนี้สินไว้กับตัว
นอกจากนี้ รายได้ของบริษัทก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง
จากความต้องการสร้างวัดที่ลดลง
เนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป
พุทธศาสนาในญี่ปุ่นไม่ได้เจริญงอกงามเหมือนสมัยก่อน
ซึ่งรายได้จากการสร้างวัดคิดเป็น 80% ของบริษัท
และในที่สุด บทสุดท้ายของเรื่องก็มาถึง
ปี พ.ศ. 2549 บริษัทก็เข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และขายสินทรัพย์เพื่อมาชำระหนี้..
Takamatsu Construction Group บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในญี่ปุ่น
เข้ามาซื้อกิจการ Kongō Gumi
เพราะต้องการรักษาตำนานกว่า 1,400 ปี นี้ไว้เป็นมรดกสืบไป
สรุปคือปัจจุบัน Kongō Gumi ได้กลายเป็นบริษัทในเครือของ Takamatsu อย่างสมบูรณ์
นับเป็นการปิดตำนานธุรกิจครอบครัวตระกูล Kongō ที่มีอายุกว่า 1,429 ปี..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ ถ้าเอาแผนผังชื่อสมาชิกตระกูล Kongō
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท จนขายกิจการไป นับรวมเป็น 40 รุ่น
แผงผังจะมีความยาวถึง 10 ฟุต หรือประมาณ 3 เมตร..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Kong%C5%8D_Gumi
-https://th.wikipedia.org/wiki/
-https://www.marumura.com/kongo-gumi/
-https://www.m2fnews.com/news/worldnews/16126
-https://www.thansettakij.com/content/business/417165
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.