เอกวาดอร์ ประเทศที่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด

เอกวาดอร์ ประเทศที่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด

19 พ.ค. 2020
เอกวาดอร์ ประเทศที่เคราะห์ซ้ำกรรมซัด /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงประเทศที่เศรษฐกิจแย่ในทวีปอเมริกาใต้ หนึ่งในนั้นจะมีเวเนซุเอลา
แต่เรื่องที่น่าสนใจคือ ประเทศที่แย่รองลงมา ก็คือ เอกวาดอร์
หลายคนคงรู้ถึงสาเหตุของการล่มสลายของเศรษฐกิจเวเนซุเอลา
ว่าหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญ มาจากการพึ่งพาทรัพยากรเพียงอย่างเดียว คือ “น้ำมัน”
สิ่งที่เอกวาดอร์ แตกต่างไปจากเวเนซุเอลา
คือ หากเทียบกันแล้ว เอกวาดอร์มีภาคส่วนเศรษฐกิจที่หลากหลายกว่าพอสมควร
แต่เอกวาดอร์ก็มีปัญหาบางอย่างที่เป็นเหมือน “เคราะห์ร้าย” ที่ไม่จางหายไป
แล้วในปี 2020 ก็มี “เคราะห์ร้ายกว่า” ที่เข้ามาซ้ำ
ซึ่งก็คือ การระบาดของโควิด-19
วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2020 ของประเทศนี้เป็นอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักประเทศเอกวาดอร์กันสักนิด
เอกวาดอร์ ตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้
ชื่อประเทศมีที่มาจากชื่อเส้นศูนย์สูตร (Equator) เนื่องจากมีเส้นศูนย์สูตรลากผ่านประเทศ
ในขณะที่จากเหนือลงใต้ ก็มีแนวของเทือกเขาแอนดีสพาดผ่าน แบ่งประเทศออกเป็นสองด้าน
ด้านซ้ายของเทือกเขาเป็นที่ราบชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก
มีการเพาะปลูกพืชผลเขตร้อน โดยเฉพาะกล้วยและอ้อย
เอกวาดอร์ส่งออกพืชผลเหล่านี้ คิดเป็นสัดส่วนราว 16% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด
ในขณะที่มหาสมุทรแปซิฟิกก็เป็นเขตที่มีปลาและสัตว์ทะเลชุกชุม
ทำให้การประมงเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของเอกวาดอร์
อาหารทะเล มีสัดส่วน 19% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด
ส่วนด้านขวาของเทือกเขาเป็นป่าดงดิบ
การที่ประเทศตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตรจึงทำให้มีฝนตกชุก
ฝนจะไหลลงจากเทือกเขาแอนดีสกลายเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแอมะซอน
บริเวณแถบนี้จึงมีผู้คนอาศัยอยู่เบาบาง
ชาวเอกวาดอร์ 17 ล้านคน ถ้าไม่อาศัยอยู่ตามที่ราบชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก
ก็จะอาศัยอยู่ในเขตเทือกเขาแอนดีส
กรุงกีโต เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่สุดของประเทศ
ตั้งอยู่บนเทือกเขาแอนดีส สูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,850 เมตร
ด้วยความที่ตั้งอยู่บนที่สูง และอยู่แถบเส้นศูนย์สูตรพอดี
ทำให้กรุงกีโตเป็นเมืองที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ราว 15 องศาเซลเซียส ตลอดทั้งปี
ความที่มีอุณหภูมิเหมาะสม
เขตเทือกเขาแอนดีสของเอกวาดอร์ จึงกลายเป็นเขตปลูกดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของอเมริกาใต้ โดยเฉพาะดอกกุหลาบ ลิลลี่ และเบญจมาศ
เอกวาดอร์ส่งออกดอกไม้เหล่านี้คิดเป็น 4% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด
โดยมีจุดหมายปลายทางการส่งออกอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งผลไม้ อาหารทะเล และดอกไม้
ก็ยังไม่ใช่สินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของเอกวาดอร์
เพราะสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของประเทศนี้ ที่ครองสัดส่วนกว่า 29% ก็คือ “น้ำมัน”
เอกวาดอร์มีแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่บริเวณที่ราบชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก
และน้ำมันเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศมานานเกือบ 60 ปี
จากข้อมูลคร่าวๆ ดูเหมือนเอกวาดอร์จะมีทรัพยากรที่หลากหลาย
และมีการกระจายภาคส่วนเศรษฐกิจที่ดี
แต่เอกวาดอร์ก็มีเคราะห์ร้ายของตัวเองที่ซ่อนอยู่
ซึ่งก็คือ การเป็นประเทศที่ไม่มีสกุลเงินเป็นของตัวเอง
เพราะใช้เงิน “ดอลลาร์สหรัฐ” เป็นสกุลเงินหลักตั้งแต่ปี 2000
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปราวทศวรรษที่ 1990
รัฐบาลในช่วงนั้นมีการใช้จ่ายเกินตัวจากนโยบายประชานิยมจนถึงขั้นเกือบล้มละลาย
ต้องไปขอกู้เงินจาก IMF
การกู้เงินจาก IMF ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องปรับนโยบายทางเศรษฐกิจ
เช่น ลอยตัวค่าเงิน และลดการตรึงราคาสินค้า
แต่ผลจากการปรับนโยบาย นำมาสู่ “ภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก”

สุดท้ายประชาชนหมดความเชื่อมั่นในสกุลเงิน Sucre ของเอกวาดอร์
รัฐบาลต้องหันไปใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแทน
วิกฤติเงินเฟ้อครั้งนี้ ยังทำให้ชาวเอกวาดอร์กว่า 1 ล้านคน
อพยพไปทำงานยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป
เนื่องจากชาวเอกวาดอร์พูดภาษาสเปนเป็นหลัก
สเปนจึงเป็นจุดหมายปลายทางของแรงงานชาวเอกวาดอร์กว่า 400,000 คน
ตามมาด้วยอิตาลี ราว 100,000 คน
คนที่ทำงานต่างประเทศเหล่านี้ต่างส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวถึงปีละ 100,000 ล้านบาท
ซึ่งดูเหมือนจะไม่ได้เป็นปัญหาอะไร
จนกระทั่ง..
“ปี 2020 โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก”
และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติที่ถาโถมมาสู่เศรษฐกิจของเอกวาดอร์..
เริ่มจากวิกฤติที่ 1 ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างหนัก
ความต้องการน้ำมันลดลง ทำให้ราคาน้ำมันต่ำสุดลดลงจากปลายปี 2019 กว่า 80%
ราคาน้ำมันที่ตกต่ำ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของเอกวาดอร์
ที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันถึง 29%
วิกฤติที่ 2 ความต้องการดอกไม้ที่ลดลงอย่างมาก
เมื่อประเทศจุดหมายของการส่งออกดอกไม้ คือ สหรัฐอเมริกา
ซึ่งได้กลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโควิด-19
หลายเมืองถูก Lockdown ไม่มีการจัดงานเฉลิมฉลอง ความต้องการดอกไม้ลดลงอย่างหนัก
ดอกไม้จำนวนมหาศาลที่มีอายุจำกัด จึงจำเป็นต้องถูกทิ้ง..
วิกฤติที่ 3 การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ด้วยความที่เอกวาดอร์ใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
ธนาคารกลางจึงไม่มีอำนาจในการจัดการค่าเงินของตัวเอง
เมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า
สินค้าส่งออกจากเอกวาดอร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชผล และอาหารทะเล
จึงมีราคาสูงขึ้นในตลาดโลก ทำให้สินค้าเหล่านี้ไม่สามารถแข่งขันสู้กับประเทศอื่นได้
และวิกฤติที่ 4 การระบาดของโควิด-19 ในยุโรป
เมื่อสเปนและอิตาลี มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป
แรงงานชาวเอกวาดอร์ที่อพยพไปทำงานในประเทศเหล่านี้จึงเดินทางกลับประเทศ
แต่แรงงานเหล่านี้ไม่ได้กลับมาตัวเปล่า เพราะสิ่งที่นำมาด้วย คือเชื้อโควิด-19..
ผลสุดท้าย เอกวาดอร์กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดโควิด-19 มากเป็นอันดับ 3 ของอเมริกาใต้
ด้วยจำนวนกว่า 33,000 ราย
และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้สูงเป็นอันดับ 2 รองจากบราซิล
รัฐบาลจึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการ Lockdown เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคร้าย
ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อภาคธุรกิจ คนหลายล้านคนต้องตกงานอย่างกะทันหัน
รัฐบาลเองก็ประสบภาวะขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก
จากรายได้การส่งออกที่ลดลง ทั้งน้ำมัน พืชผล และอาหารทะเล
รัฐบาลอาจจำเป็นที่จะต้องปรับนโยบายเศรษฐกิจ เช่น การขึ้นภาษี
แต่ในภาวะวิกฤติเช่นนี้
การขึ้นภาษี ก็ไม่ต่างอะไรกับการซ้ำเติมเคราะห์ร้ายให้เสียหายยิ่งกว่าเดิม
ก็เป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไป ว่าอนาคตประเทศแห่งนี้จะเป็นเช่นไร
วิกฤติของเอกวาดอร์ในครั้งนี้ทำให้เราได้รู้ว่า
ต่อให้ประเทศจะมีทรัพยากรมากมาย มีภาคส่วนเศรษฐกิจที่หลากหลาย
แต่เรื่องที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นได้เสมอ
เอกวาดอร์เจอทั้งเรื่อง ราคาน้ำมัน การส่งออกสินค้า และการระบาดของโรค
ภายในเวลาไม่กี่เดือน
ขนาดเอกวาดอร์ที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดียังเจอหนักขนาดนี้
ไม่ว่าเราจะคิดว่าตัวเองดีพอขนาดไหน
ให้เตรียมใจเอาไว้
ทุกอย่าง มันไม่แน่นอน เรื่องร้ายๆ อาจเกิดขึ้นพร้อมกันได้ ในคราวเดียว..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://advisor.visualcapitalist.com/covid-19-recovery-economic-forecast/
-http://www.worldstopexports.com/ecuadors-top-10-exports/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Quito
-https://www.bloomberg.com/opinion/articles/2020-04-08/coronavirus-traps-ecuador-between-death-and-debt
-https://www.worldometers.info/coronavirus/
-https://www.ceicdata.com/en/indicator/ecuador/government-debt--of-nominal-gdp
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.