ฟอล์กแลนด์ หมู่เกาะในอเมริกาใต้ แต่ถือสัญชาติอังกฤษ

ฟอล์กแลนด์ หมู่เกาะในอเมริกาใต้ แต่ถือสัญชาติอังกฤษ

26 พ.ค. 2020
ฟอล์กแลนด์ หมู่เกาะในอเมริกาใต้ แต่ถือสัญชาติอังกฤษ /โดย ลงทุนแมน
482 กิโลเมตร คือระยะห่างของหมู่เกาะฟอล์กแลนด์กับอาร์เจนตินา
ประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้กับหมู่เกาะแห่งนี้มากที่สุด
แต่ผู้คนบนหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ล้วนมีสถานะเป็นพลเมืองของสหราชอาณาจักร
ประเทศที่อยู่ห่างไกลกว่า 12,000 กิโลเมตร
ประชากร 3,000 คน บนเกาะอันเวิ้งว้างที่มีเนื้อที่กว่า 12,173 ตารางกิโลเมตร
ล้วนถือพาสปอร์ตอังกฤษ และมีสิทธิ์เช่นเดียวกับชาวอังกฤษเกือบทุกประการ
ทำไมประชากรบนหมู่เกาะห่างไกลในทวีปอเมริกาใต้ ถึงมีสัญชาติอังกฤษ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
╚═══════════╝
ในปัจจุบัน สถานะของหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ถือเป็น
“ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร”
ซึ่งเรื่องนี้ได้สร้างความขัดแย้งให้กับประเทศใกล้เคียงอย่างอาร์เจนตินาเสมอมา
หากถามว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร
ขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นผู้บอกเล่า..
ในมุมของอาร์เจนตินา
ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงได้อ้างสิทธิ์ว่า หมู่เกาะแห่งนี้เคยเป็นดินแดนของตนมาก่อน เพราะเคยมีชาวอาร์เจนตินาอาศัยอยู่ที่เกาะแห่งนี้ ก่อนที่จะถูกทหารตะวันตกมาขับไล่
รัฐบาลอาร์เจนตินายังปฏิเสธการเรียกหมู่เกาะแห่งนี้ว่าฟอล์กแลนด์
แต่ใช้ชื่อว่า “หมู่เกาะมัลบีนัส (Malvinas)” แทน
แต่ในมุมของอังกฤษ

ประเทศเจ้าอาณานิคมได้ชี้แจงว่า หมู่เกาะแห่งนี้ไม่เคยมีคนอยู่อาศัยมาก่อน
และอังกฤษได้เริ่มอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะแห่งนี้ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1765
โดยอ้างว่า อังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน ได้ส่งทหารมาประจำการอยู่ที่เกาะแห่งนี้
ถึงแม้ในปี ค.ศ. 1811 อังกฤษได้ถอนทหารออกจากหมู่เกาะนี้
แต่ก็ยังส่งกองกำลังแวะเวียนมาตรวจสอบหมู่เกาะแห่งนี้อยู่บ่อยๆ
ดูเหมือนว่า การอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะฟอล์กแลนด์จะไม่สามารถตกลงกันได้ง่ายๆ..
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1832 หลังจากอาร์เจนตินาประกาศเอกราชจากสเปนมาได้ 16 ปี
อาร์เจนตินาได้ส่งกองกำลังเข้าไปบุกหมู่เกาะฟอล์กแลนด์
ทำให้อังกฤษส่งทหารเรือมา และขับไล่ทหารอาร์เจนตินาได้สำเร็จ โดยไม่มีใครเสียชีวิต
ความพยายามของอาร์เจนตินากลับมาอีกครั้งในปี ค.ศ. 1982
ภายใต้การนำของรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ต้องการเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนักเกือบ 200%
เพื่อปลุกกระแสชาตินิยม รัฐบาลอาร์เจนตินาได้ส่งทหารเข้ายึดฟอล์กแลนด์อีกครั้ง
และเหตุการณ์ครั้งนี้ดูจะเลวร้ายกว่าครั้งไหนๆ
อังกฤษได้ส่งกองกำลังเข้าฟอล์กแลนด์
การปะทะกันครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,000 คน
และจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของอาร์เจนตินา..
แม้ว่าอังกฤษจะเป็นฝ่ายชนะ แต่การถกเถียงเรื่องสิทธิ์เหนือหมู่เกาะยังคงไม่สิ้นสุด
ในปี ค.ศ. 2013 ได้มีการจัดทำประชามติ
เพื่อให้คนในฟอล์กแลนด์เลือกว่าต้องการจะอยู่กับประเทศไหนมากกว่า
ซึ่งผลก็ออกมาว่า 99.8% อยากอยู่กับอังกฤษมากกว่า
และมีเพียง 3 คนเท่านั้นที่เลือกจะอยู่กับอาร์เจนตินา
เหตุผลก็เป็นเพราะคนส่วนใหญ่ในฟอล์กแลนด์สืบเชื้อสายมาจากชาวอังกฤษ
พูดภาษาอังกฤษ จึงไม่ได้มีความผูกพันกับชาวอาร์เจนตินาที่พูดภาษาสเปนสักเท่าไร
แล้วหมู่เกาะแห่งนี้มีอะไรดี ทำไมถึงต้องแย่งกันอ้างสิทธิ์?
อุตสาหกรรมหลักของฟอล์กแลนด์ก็คือ
การผลิตขนสัตว์ และการทำประมง
ขนาดเศรษฐกิจของฟอล์กแลนด์อยู่ที่ราว 6,250 ล้านบาท
แต่เนื่องจากมีประชากรน้อย
ทำให้ GDP ต่อหัวของชาวเกาะแห่งนี้สูงถึง 2,000,000 บาทต่อคนต่อปี
อย่างไรก็ตาม นอกจากทุ่งหญ้าเลี้ยงแกะ
ฟอล์กแลนด์ในช่วงเวลานั้น
ก็ไม่ได้มีทรัพยากรอะไรที่ล้ำค่าถึงขนาดที่ 2 ประเทศจะต้องมาแย่งชิงกัน
แต่สาเหตุที่ทำให้ต้องมาแย่งชิงกัน ก็เป็นเพราะเรื่องของศักดิ์ศรี
ในขณะนั้น ผู้นำของอาร์เจนตินาต้องการปลุกกระแสชาตินิยม
เพื่อต่อต้านชาวตะวันตก และจักรวรรดินิยม
ดังนั้นการยึดฟอล์กแลนด์กลับคืน จึงเปรียบเสมือนการเอาชนะจักรวรรดินิยม
และยังช่วยให้คะแนนนิยมของตนสูงขึ้นภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจ
ส่วนทางด้านผู้นำของอังกฤษในขณะนั้น ก็คือมาร์กาเรต แทตเชอร์
ซึ่งกำลังถูกประชนชนเกลียดชังจากสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่
และนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐ ให้กลายเป็นของเอกชน
แต่หลังจากชัยชนะในปี ค.ศ. 1982 แทตเชอร์กลับได้รับคะแนนนิยมสูงขึ้น
และฟอล์กแลนด์กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของอังกฤษ
จริงๆ แล้ว อังกฤษเองก็แทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรนักจากหมู่เกาะแห่งนี้
เพราะการดูแลฟอล์กแลนด์ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากอังกฤษมากๆ
ทำให้อังกฤษต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลอาณานิคมที่สูงมากตามไปด้วย..
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการค้นพบน้ำมันในบริเวณทะเลรอบๆ หมู่เกาะฟอล์กแลนด์
และมีการสร้างแท่นสำรวจและขุดเจาะน้ำมันจากบริษัทอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน
แน่นอนว่าเรื่องนี้อาจนำไปสู่ปัญหากระทบกระทั่งกับอาร์เจนตินาอีกครั้ง
แต่อาร์เจนตินาในเวลานี้ กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก ทั้งจากภาวะเงินเฟ้อ
สกุลเงินเปโซที่อ่อนค่า และยังถูกซ้ำร้ายจากการระบาดของ COVID-19
ในส่วนของอังกฤษ
วิกฤติ COVID-19 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
และทำร้ายเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างรุนแรงที่สุดในรอบ 300 ปี
หากดูเผินๆ จากสภาพเศรษฐกิจของทั้ง 2 คู่กรณี
หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ จึงน่าจะยังอยู่ในฐานะ
“ดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร” อย่างสงบสุข ไปอีกสักพักใหญ่ๆ
แต่สงครามแย่งเกาะฟอล์กแลนด์ ในปี 1982
สาเหตุหนึ่งก็เกิดจากรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ
ต้องการเบี่ยงเบนคะแนนนิยมของประชาชนจากสภาพเศรษฐกิจที่ล้มเหลว
ก็ไม่แน่ว่า
เมล็ดพันธุ์แห่งสงครามกำลังถูกหว่านขึ้นอีกครั้ง
บนเกาะอันห่างไกลในทวีปอเมริกาใต้..
----------------------
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
- https://www.falklands.gov.fk/our-people/our-community/
- https://www.falklands.gov.fk/our-home/
- https://www.falklands.gov.fk/self-sufficiency/the-economy/
-https://tradingeconomics.com/argentina/inflation-cpi
- https://www.falklands.gov.fk/our-people/our-history/
- https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/fields/209.html
- http://www.legislation.gov.uk/ukpga/1983/6/section/5
- https://www.independent.co.uk/news/world/americas/
- https://www.gov.uk/types-of-british-nationality/british-overseas-territories-citizen
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.