อุตสาหกรรมแฟชั่น ทำลายโลกมากกว่าที่เราคิด

อุตสาหกรรมแฟชั่น ทำลายโลกมากกว่าที่เราคิด

29 พ.ค. 2020
อุตสาหกรรมแฟชั่น ทำลายโลกมากกว่าที่เราคิด /โดย ลงทุนแมน
รู้หรือไม่ “อุตสาหกรรมแฟชั่น” สร้างผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับ 2 ของโลก
ไม่ใช่เป็นเพราะว่าเราทิ้งเสื้อผ้าที่เราซื้อมาบ่อยครั้งเพียงสาเหตุเดียว
แต่กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมแฟชั่นกำลังเป็นตัวปัญหา
ซึ่งจริงๆ แล้วเราสามารถทำให้มันดีขึ้นได้
เรื่องนี้มีที่มาเป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
“น้ำ ดิน อากาศ”
3 สิ่งนี้คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นลำดับแรกๆ
เรามาเริ่มกันที่ผลกระทบต่อ “น้ำ”
รู้หรือไม่ว่า การผลิตเสื้อยืดเพียง 1 ตัว เราจะต้องใช้น้ำมากถึง 2,700 ลิตร
ซึ่งเป็นปริมาณที่มากพอสำหรับคนๆ หนึ่งจะบริโภคได้ถึง 3 ปี
เหตุผลที่ต้องใช้น้ำมากขนาดนี้ก็เป็นเพราะเสื้อยืดทำมาจาก “ฝ้าย”
และฝ้ายเป็นพืชที่ต้องใช้น้ำในปริมาณที่สูงมากในการปลูก
ในขณะที่ อินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการปลูกฝ้าย
และทำอุตสาหกรรมแฟชั่นรายใหญ่ของโลก
ต้องใช้น้ำจืดถึง 85% ของปริมาณการใช้ทั้งหมด ในการปลูกฝ้าย
แต่คนอินเดียกว่า 100 ล้านคนกลับไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มได้
นอกจากนี้ ในกระบวนการ “ฟอกย้อมสีผ้า”
ยังต้องใช้น้ำ และสารเคมีเป็นจำนวนมหาศาล
กระบวนการนี้จะทำให้น้ำสะอาด กลายเป็นน้ำที่มีการปนเปื้อนในทันที..
ถัดมาก็คือ ผลกระทบต่อ “ดิน”
ปุ๋ยและสารเคมีที่ใช้สำหรับการปลูกฝ้ายในหลายแห่งจะทิ้งสารตกค้างไว้ในดิน
ซึ่งในบางกรณีจะทำให้ดินเสียหายและเสื่อมคุณภาพไปในที่สุด
นอกจากนี้ใน 1 ปีจะมีเสื้อผ้าเก่า และของเสียจากอุตสาหกรรมแฟชั่น
ถูกโยนทิ้งในพื้นที่เปล่า หรือ พื้นที่ฝังกลบ มากกว่า 10 ล้านตันต่อปี
น่าเสียดายที่ของเสียเหล่านี้ถูกนำไปรีไซเคิลไม่ถึง 10% ด้วยซ้ำ
ส่วนผลกระทบต่อ “อากาศ”
รู้หรือไม่ 10% ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก มาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ
โดยการผลิตเสื้อผ้า 1 ตัว
กระบวนการผลิตจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ สูงถึง 3 - 4 กิโลกรัม
ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหา “ภาวะเรือนกระจก” และ “ภาวะโลกร้อน” ตามมาอีกด้วย
ดังนั้นถ้าเราไม่รีบแก้ปัญหานี้
ทุกอย่างอาจจะสายเกินแก้..
มีการคาดการณ์ว่า
- ในอีก 10 ปีข้างหน้า ของเสียจากอุตสาหกรรมแฟชั่นในออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้นจนสามารถนำวางเรียงเป็นแนวราบได้เต็มพื้นที่ทั้งประเทศออสเตรเลีย
- ในอีก 30 ปีข้างหน้า โลกจะเหลือปริมาณน้ำสะอาด 75% ของปริมาณน้ำทั้งหมด
- ในอีก 60 ปีข้างหน้า โลกจะเหลือปริมาณน้ำสะอาดเพียง 50% ของปริมาณน้ำทั้งหมด
จากน้ำสะอาดที่เหมือนเป็นของราคาถูกในตอนนี้ มันอาจจะกลายเป็นของหายากในรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา
แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ โดยไม่ให้กระทบกับการเติบโตของอุตสาหกรรมแฟชั่นได้อย่างไร?
เราลองมาดูวิธีการแก้ปัญหาของแบรนด์ต่างๆ กันครับ
เริ่มกันที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง “ZARA” ที่ได้มีการประกาศว่า
ภายในปี 2025 แบรนด์จะหันมาใช้ผ้าฝ้าย และผ้าลินินแบบออร์แกนิก ซึ่งจะช่วยลดสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมลงได้
นอกจากนี้ ZARA จะหันมาใช้ผ้าโพลีเอสเตอร์ ที่ทำมาจาก “วัตถุดิบรีไซเคิล” แทนการใช้วัตถุดิบที่ผลิตใหม่
ตามมาด้วยแบรนด์ Adidas และ H&M ก็ได้ประกาศว่าจะหันมาใช้ “ผ้ารีไซเคิล” เช่นกัน
ตอนนี้หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยว่า “ผ้ารีไซเคิล” คืออะไร
เราลองมาทำความรู้จักผ้าชนิดนี้กัน
ผ้ารีไซเคิล คือ ผ้าที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้ อย่างเช่น ขวดน้ำที่นำไปเข้ากระบวนการต่างๆ จนสามารถนำไปทอผ้าได้ หรือเสื้อผ้าเก่าที่นำไปแปรสภาพเป็นเส้นใยและทอเป็นผ้าใหม่
วิธีนี้เป็นวิธีที่น่าสนใจ
เพราะไม่เพียงแค่เราจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกและขยะเสื้อผ้าเก่าที่มีอยู่เดิม
แต่ยังช่วยลดการผลิตวัสดุต่างๆ ขึ้นใหม่ได้
ดังนั้น ถ้าเรานำของเดิมที่มีอยู่กลับมาใช้ใหม่ และมีการผลิตเพิ่มขึ้นใหม่น้อยลง
โลกของเราจะสามารถแก้ปัญหาขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
และสำหรับผู้บริโภค มันคงจะดีไม่น้อย ถ้าในอนาคตเราจะสามารถซื้อเสื้อผ้าใหม่ได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิดกับโลกใบนี้..
แล้วในไทย เรามีการผลิตผ้ารีไซเคิลแล้วหรือยัง?
- SC GRAND “แบรนด์ผ้ารีไซเคิล”
เป็นหนึ่งในโรงงานผลิตผ้ารีไซเคิลในไทย โดยการนำเสื้อผ้าเก่า และของเสียที่อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ มารีไซเคิลเป็นผ้าใหม่หรือเรียกว่า ผ้ารีไซเคิลคอทตอนและผ้ารีไซเคิลโพลีเอสเตอร์
โดยทางโรงงานของ SC GRAND จะใช้ “ระบบการผลิตแบบหมุนเวียน (Circular Fashion)”
ระบบนี้จะเป็นกระบวนการผลิตผ้ารีไซเคิล จากวัตถุดิบที่มีอยู่แล้ว อย่างเช่น
- เศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บ
- เสื้อผ้าเก่าที่ถูกทิ้ง
- ของเสียจากอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ
ซึ่งระบบนี้จะมีแค่ที่โรงงานของ SC GRAND เท่านั้น (Zero waste and closed loop system)
ต่อจากนี้ถ้าแบรนด์แฟชั่นต่างๆ หันมาใช้ผ้ารีไซเคิลมากขึ้น นั่นหมายความว่า โลกของเราก็จะดีขึ้นเช่นกัน
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.