จาก Coupon สู่ Dividend ธีมการลงทุน ตอนดอกเบี้ยติดลบ

จาก Coupon สู่ Dividend ธีมการลงทุน ตอนดอกเบี้ยติดลบ

29 พ.ค. 2020
จาก Coupon สู่ Dividend ธีมการลงทุน ตอนดอกเบี้ยติดลบ /โดย ลงทุนแมน
พันธบัตรรัฐบาลเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง
เพราะโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลมีต่ำมาก
พันธบัตรจึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในความเสี่ยงต่ำ และให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ
ซึ่งหลักการของพันธบัตรก็คือจะให้ดอกเบี้ยเป็นงวดๆ ตามอายุที่กำหนด
ดอกเบี้ยเป็นงวดๆ นี้ในภาษาทางการเงินจะเรียกว่า Coupon
แต่เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น
เนื่องจากรัฐบาลในหลายประเทศตอนนี้
ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยกำหนดให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำ
จนบางประเทศเริ่มออกพันธบัตรที่มีอัตราดอกเบี้ยติดลบ
เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี ประเทศอื่นๆ ในยุโรป และล่าสุดคือ อังกฤษ
แล้วการลงทุนในเวลาที่พันธบัตรให้ดอกเบี้ยติดลบ มันจะเปลี่ยนไปอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
╚═══════════╝
หลักการของพันธบัตรรัฐบาลก็คือ รัฐบาลขอยืมเงินจากประชาชน
และเมื่อประชาชนซื้อพันธบัตร ประชาชนก็จะเป็นเจ้าหนี้ของรัฐบาล
ซึ่งปกติแล้วลูกหนี้ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ทุกๆ รอบตามเวลาที่ระบุ ซึ่งเรียกว่า Coupon
และเมื่อครบกำหนดอายุ เจ้าหนี้จะได้รับเงินต้นคืน
ถึงแม้ว่าพันธบัตรจะให้ดอกเบี้ยติดลบ แต่บางคนก็อาจจะยอมรับและซื้อพันธบัตรประเภทนี้
เพราะถือเป็นการการันตีจากรัฐบาลว่า อัตราติดลบที่รัฐบาลกำหนดจะเป็นการลงทุนที่ขาดทุน “น้อยที่สุด”
หรือบางคนก็เก็งส่วนต่างกำไร เพราะหวังว่าราคาพันธบัตรจะสูงขึ้นในอนาคต
เพราะโดยปกติแล้วถ้าในอนาคต อัตราดอกเบี้ยลดลงไปอีก ราคาพันธบัตรของรุ่นก่อนหน้าที่ให้ดอกเบี้ยดีกว่าจะมีราคาสูงขึ้น และคนถือพันธบัตรรุ่นก่อนหน้าสามารถขายทำกำไรได้
แต่สำหรับใครหลายๆ คนที่ไม่อยากจะลงทุนกับรัฐบาลอีกต่อไป
ก็อาจจะยอมเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น
เพราะอย่างน้อย ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นก็สร้างโอกาสในการให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นเช่นกัน

ทางเลือกที่มีอยู่และใกล้เคียงกับพันธบัตรที่สุดน่าจะเป็นการลงทุนกับหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ
ในภาษาทางการเงินเราจะเรียกเงินปันผลว่า Dividend ซึ่งจะถูกจ่ายเป็นงวดๆ คล้ายกับ Coupon ของพันธบัตร
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต่างกันก็คือการลงทุนในหุ้นมีความเสี่ยงที่จะทำให้เงินลงทุนของเราหายไป
ไม่เหมือนกับพันธบัตรที่จะได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอย่างแน่นอน
การลงทุนในหุ้นปันผลจึงเหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงขึ้น
ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลที่ไม่มีวันล้ม หรือมีโอกาสล้มได้ยากมากๆ
ส่วนบริษัทนั้นมีโอกาสขาดทุนและล้มละลายได้เสมอ
ดังนั้นผู้ลงทุนจึงต้องศึกษาธุรกิจของบริษัทให้ดีว่ายั่งยืนแค่ไหน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายของบริษัทซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับ
ที่น่าสนใจคือ ผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลส่วนใหญ่มักเป็นองค์กรหรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เช่น สำนักงานประกันสังคม บริษัทประกัน กองทุนต่างๆ
ยกตัวอย่างกรณีของบริษัทประกัน
ปกติแล้วบริษัทประกันจะต้องมี “เงินสำรองประกันภัย” ซึ่งเป็นเงินเหลือจากเบี้ยประกันที่เราจ่ายหลังหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว
บริษัทประกันจะนำเงินสำรองประกันภัยไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือเงินฝาก เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีเงินให้เรา เมื่อเราครบกำหนดได้เงินคืน หรือเมื่อมีการเรียกร้องสินไหม
อย่างในปี 2018 สินทรัพย์ลงทุนของบริษัท AIA มีการลงทุนในตราสารหนี้ถึง 80% จากสินทรัพย์ลงทุนทั้งหมด ซึ่งพันธบัตรจะเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่เรียกว่าตราสารหนี้
ส่วนการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงอย่างตราสารทุน (หุ้น) ในปีเดียวกันนั้นมีสัดส่วนเพียง 12%
เมื่อพันธบัตรติดลบ ก็อาจทำให้บริษัทประกันเหล่านี้ต้องโยกการลงทุนในพันธบัตร มาลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเป็นงวดๆ เหมือนกันแต่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมา นั่นก็คือ หุ้นที่ให้ปันผลสม่ำเสมอ
ตัวอย่างหุ้นที่ให้ปันผลสม่ำเสมอเหล่านี้ก็ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน ทางด่วน โรงไฟฟ้า ระบบสาธารณูปโภค รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นอีกด้วย
เราไม่รู้ว่าสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ พันธบัตรรัฐบาลติดลบ จะเกิดขึ้นไปอีกนานเท่าไร
แต่ถ้ามันยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มันก็อาจจะทำให้ธีมการลงทุนของผู้คน เปลี่ยนไปจากการลงทุนเพื่อหวัง Coupon จากพันธบัตร เป็นการลงทุนเพื่อหวัง Dividend จากหุ้นปันผล
ดังนั้นนักลงทุนทั่วไปอาจเริ่มมองหา หุ้นของบริษัทที่มีความมั่นคง จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ
ธุรกิจยังอยู่ได้ ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น
เพราะมันน่าจะเป็นหนึ่งในธีมการลงทุนที่มีเหตุผล สำหรับช่วงเวลาที่พิเศษนี้ก็เป็นได้..
----------------------
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.reuters.com/article/us-britain-bonds/britain-borrows-at-negative-interest-rate-for-first-time-idUSKBN22W1RL
-https://www.aia.co.th/content/dam/th/th/docs/OIC/TheCompanyInvestmentTH-Life_new_2019.pdf
-https://www.moneybuffalo.in.th/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99/%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%B1%E0%B8%97%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99-%E0%B9%82%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%8A%E0%B8%87
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.