รู้จัก เซาเปาลู เมืองเจริญสุดของบราซิล ที่กำลังเจอศึกหนัก

รู้จัก เซาเปาลู เมืองเจริญสุดของบราซิล ที่กำลังเจอศึกหนัก

1 มิ.ย. 2020
รู้จัก เซาเปาลู เมืองเจริญสุดของบราซิล ที่กำลังเจอศึกหนัก /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึง ศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศบราซิล
หลายคนอาจนึกถึงเมือง รีโอเดจาเนโร
เมืองใหญ่ที่มีรูปปั้นพระเยซูคริสต์บนยอดเขา มีชายหาดที่มีชื่อเสียง
และเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโอลิมปิก 2016
แต่ความจริงแล้ว บราซิลมีศูนย์กลางเศรษฐกิจและการเงินอยู่ที่เมือง “เซาเปาลู” (São Paulo)
ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากรีโอเดจาเนโร ลงมาทางใต้ราว 400 กิโลเมตร
ด้วยขนาดเศรษฐกิจถึง 1 ใน 4 ของประเทศ
เมืองนี้เป็นที่ตั้งของตลาดหุ้น และสถาบันการเงินหลายแห่ง
เซาเปาลูจึงเป็นเหมือนหัวรถจักรที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้
แต่ในวันนี้ บราซิลซึ่งมีปัญหาเศรษฐกิจอยู่แล้ว กลับถูกซ้ำเติมด้วยโรคระบาด
โดยเซาเปาลูเป็นเมืองที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด
เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง..
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
จุดเริ่มต้นของเซาเปาลู ถูกก่อตั้งโดยคณะนักบวชชาวโปรตุเกสในช่วงศตวรรษที่ 16
ชื่อเซาเปาลู เป็นภาษาโปรตุเกส มาจากคำว่า เซนต์พอล ซึ่งเป็นนักบุญในคริสต์ศาสนา
ในช่วงแรกเซาเปาลู มีผู้คนอาศัยอยู่เบาบาง เมื่อเทียบกับเมืองหลวงเก่าของบราซิล
อย่างรีโอเดจาเนโร
แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เศรษฐกิจของเซาเปาลูเติบโตอย่างรวดเร็วก็คือ “กาแฟ”
ต้นกาแฟถูกนำเข้ามาปลูกที่บราซิลครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 18
เมื่อกาแฟเริ่มเป็นที่นิยมในยุโรป จึงมีความสำคัญมากขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1830
และเกิดการขยายตัวของการปลูกกาแฟในบราซิลเพื่อส่งออกไปยังยุโรป
การปลูกกาแฟต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ ระดับความสูง 800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลขึ้นไป
มีอุณหภูมิอยู่ที่ 15-25 องศาเซลเซียส และมีปริมาณฝนที่พอเหมาะ
รัฐเซาเปาลูตั้งอยู่ทางตอนใต้ของบราซิล มีภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น
และมีคุณสมบัติทุกอย่างที่กาแฟต้องการ
พื้นที่รอบเมืองเซาเปาลูจึงกลายเป็นเขตปลูกกาแฟที่ใหญ่ที่สุดของบราซิล
เซาเปาลูขึ้นแท่นเป็นศูนย์กลางการส่งออกกาแฟ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของบราซิล
โดยมีท่าเรือซานโตส (Santos) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเซาเปาลู 55 กิโลเมตร
เป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ส่งออกกาแฟจากบราซิลไปยังยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ในช่วงแรก แรงงานในไร่กาแฟใช้แรงงานทาสจากทวีปแอฟริกา
แต่เมื่อการค้าทาสสิ้นสุดลงในช่วงศตวรรษที่ 18
แรงงานส่วนใหญ่ของไร่กาแฟจึงกลายเป็นผู้อพยพจากยุโรป
โดยเฉพาะจากอิตาลีตอนใต้ ซึ่งอพยพหนีความแร้นแค้นมาในช่วงปี ค.ศ. 1890 - ค.ศ. 1910
เรื่องนี้จึงทำให้เซาเปาลูเป็นชุมชนชาวอิตาลีที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้
ต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
ความต้องการกาแฟในยุโรปลดลง กระทบต่อการส่งออกกาแฟของบราซิลอย่างหนัก
แรงงานชาวอิตาลีในไร่กาแฟต่างอพยพเข้ามาอยู่ในเมืองเซาเปาลูเพื่อหางานทำ
ในเวลานั้น บราซิลประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งต้องนำเข้าจากยุโรป
จึงเริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า เช่น อุตสาหกรรมอาหารและสิ่งทอ
ด้วยความที่เซาเปาลูมีแรงงานอพยพเข้ามามาก มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี
เมืองแห่งนี้จึงกลายเป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญของบราซิล
ดึงดูดผู้คนจากทั่วประเทศให้เข้ามาทำมาหากิน
จนมีประชากรแซงหน้าเมืองหลวงเก่าอย่างรีโอเดจาเนโรในช่วงทศวรรษที่ 1970
ในปัจจุบัน ด้วยประชากร 21.5 ล้านคน
เซาเปาลูและปริมณฑลคือเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศบราซิล
และยังพ่วงตำแหน่งเมืองใหญ่ที่สุดของทวีปอเมริกาใต้ และใหญ่ที่สุดของซีกโลกใต้อีกด้วย
เซาเปาลูเป็นศูนย์กลางการเงินที่สำคัญที่สุดของประเทศ
เป็นที่ตั้งของ Brasil Bolsa Balcão ตลาดหุ้นเพียงแห่งเดียวของบราซิล
ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในบราซิลและทวีปอเมริกาใต้ Banco Itaú Unibanco
มีสินทรัพย์กว่า 13 ล้านล้านบาท ก็มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เซาเปาลู
รวมไปถึงบริษัทเหล็กกล้าที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ Companhia Siderúrgica Nacional
ขนาดเศรษฐกิจของเซาเปาลูและปริมณฑลอยู่ที่ 15.0 ล้านล้านบาท
หากหารด้วยจำนวนประชากร 21.5 ล้านคน
จะทำให้มี GDP ต่อหัว 700,000 บาทต่อปี
ซึ่งสูงกว่า GDP ต่อหัวของชาวบราซิลถึง 2.5 เท่า
เซาเปาลูจึงเป็นเหมือนหัวรถจักรทางเศรษฐกิจของบราซิลมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ
เป็นศูนย์กลางการส่งออกเหล็กกล้า ผลผลิตการเกษตร เช่น ถั่วเหลือง และกาแฟ
แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังทศวรรษที่ 2010
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเซาเปาลูก็ค่อยๆ หดตัวลง
เนื่องจากสินค้าทางการเกษตร เช่น ถั่วเหลือง มีราคาตกต่ำ
ในขณะที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเหล็กกล้าก็มีแนวโน้มลดลง
หนี้สาธารณะของบราซิลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีเกือบ 76% ของ GDP
ทำให้รัฐบาลต้องตัดงบประมาณด้านต่างๆ ที่ส่งมาให้รัฐเซาเปาลู
จนเกิดการประท้วงของประชาชนหลายต่อหลายครั้ง
และก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อการระบาดของโควิด-19 เดินทางมาถึงบราซิล
ผ่านผู้อพยพและนักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับมาจากประเทศในยุโรป โดยเฉพาะอิตาลี
บราซิลกลายเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยโควิดมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา
ด้วยจำนวนผู้ป่วยทะลุ 5 แสนราย
โดยศูนย์กลางการระบาดอยู่ที่เซาเปาลู มีจำนวนผู้ป่วยเกือบ 1 แสนรายแล้ว
ผู้ว่าการรัฐเซาเปาลูได้สั่งให้มีมาตรการ Lockdown
ธุรกิจและร้านค้าต่างๆ ในเมืองเซาเปาลูและปริมณฑลได้รับผลกระทบอย่างหนัก
เมื่อหัวรถจักรของบราซิลประสบปัญหา
IMF คาดการณ์ว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของบราซิลในปีนี้จะ “ติดลบ” 5.3%
ในขณะที่ประธานาธิบดีบราซิล กลับไม่เห็นด้วยกับมาตรการ Lockdown ของผู้ว่าการรัฐต่างๆ
และออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนประชาชนที่ออกมาต่อต้านการ Lockdown อย่างชัดเจน
ความขัดแย้งกันของผู้นำ ยิ่งซ้ำเติมให้สถานการณ์โรคระบาดในบราซิลรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
จำนวนผู้ติดเชื้อในเซาเปาลูยังคงเพิ่มสูง ในขณะที่ผู้เสียชีวิตมีเกือบ 7,000 รายแล้ว
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มสถานการณ์ของโรคระบาดอาจเลวร้ายกว่านี้
หากคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า
เซาเปาลู และเมืองใหญ่ๆ ของบราซิล ส่วนใหญ่แล้วตั้งอยู่ในซีกโลกใต้
ซึ่งฤดูหนาวกำลังเข้ามาเยือน ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://agenciadenoticias.ibge.gov.br/en/agencia-news/2184-news-agency/news/26407-pib-da-cidade-de-sao-paulo-equivale-ao-da-soma-de-4-3-mil-municipios-brasileiros-2
-https://www.thoughtco.com/the-history-of-sao-paulo-2136590
-https://www.bbc.com/news/world-latin-america-52701524
-https://www.macrotrends.net/cities/20287/sao-paulo/population
-https://tradingeconomics.com/brazil/government-debt-to-gdp
-https://advisor.visualcapitalist.com/covid-19-recovery-economic-forecast/
-https://www.worldometers.info/coronavirus/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.