ถ้า กฟผ. อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะใหญ่แค่ไหน?

ถ้า กฟผ. อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะใหญ่แค่ไหน?

13 มิ.ย. 2020
ถ้า กฟผ. อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะใหญ่แค่ไหน? /โดย ลงทุนแมน
16 ปีที่แล้ว รัฐบาลไทยในขณะนั้นเคยมีความคิดที่จะนำการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่แล้วแนวคิดดังกล่าวก็ต้องล้มเลิกไปเนื่องจากมีผู้คัดค้าน
แต่เราเคยคิดไหมว่าถ้าวันนั้น กฟผ. ได้เข้าไปจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
แล้ววันนี้ กฟผ. จะใหญ่แค่ไหน
ลงทุนแมนจะมาจินตนาการให้ฟัง
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
กฟผ. ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งเกิดจากการรวมกันของหน่วยงานด้านการผลิต และส่งพลังงานไฟฟ้าจำนวน 3 แห่ง คือ
1. การไฟฟ้ายันฮี
2. การลิกไนต์
3. การไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ
โดยปัจจุบันนั้น กฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้น 100% แต่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงานด้วยเช่นกัน
หลายคนมักคิดว่า ธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นธุรกิจผูกขาด โดยมี กฟผ. เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่เพียงเจ้าเดียว
แต่จากข้อมูลปัจจุบัน กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศไทยนั้น มีจำนวนทั้งหมด 46,205 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตที่มาจาก กฟผ. ประมาณ 35% ที่เหลือ 65% เป็นกำลังการผลิตจากแหล่งอื่น เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน รวมทั้งการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ
แต่แม้จะมีกำลังการผลิตเพียง 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด แต่สิ่งที่ทำให้ กฟผ. ได้เปรียบผู้ประกอบธุรกิจไฟฟ้ารายอื่นคือ การที่มีระบบสายส่งไฟฟ้าที่มีโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศแต่เพียงผู้เดียว
พูดง่ายๆ คือ ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใดก็ตาม เมื่อผลิตไฟฟ้าได้และต้องการขายไฟฟ้า จำเป็นที่จะต้องใช้ระบบสายส่งไฟฟ้าของ กฟผ.
นอกจากไฟฟ้าที่ผลิตเอง กฟผ. จะรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายอื่นผ่านสายส่งของตนเอง ก่อนที่จะขายไฟฟ้าไปให้แก่ กฟน. และ กฟภ. เพื่อทำการขายต่อไปให้ผู้ใช้รายย่อยอีกต่อหนึ่ง และส่วนที่เหลือก็จะเป็นการขายให้แก่ต่างประเทศ และลูกค้าที่รับซื้อจาก กฟผ. โดยตรง
ดังนั้น เมื่อดูแบบนี้เราอาจบอกได้ว่า การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยนั้นไม่ใช่ลักษณะของการผูกขาด แต่เป็นระบบสายส่งไฟฟ้าที่มีลักษณะเป็นการผูกขาด
แล้วในเมื่อธุรกิจเป็นแบบนี้ กฟผ. มีรายได้เท่าไร?
รู้ไหมว่า ในปี พ.ศ. 2562 กฟผ. เป็น 1 ใน 3 รัฐวิสาหกิจที่นำรายได้ให้แก่กระทรวงการคลังมากที่สุด ซึ่งประกอบไปด้วย
1. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รายได้ที่ส่งให้แก่กระทรวงการคลัง 41,916 ล้านบาท
2. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายได้ที่ส่งให้แก่กระทรวงการคลัง 29,198 ล้านบาท
3. กฟผ. รายได้ที่ส่งให้แก่กระทรวงการคลัง 18,924 ล้านบาท
ปัจจุบัน กฟผ. มีสินทรัพย์ 1,003,951 ล้านบาท หนี้สิน 529,297 ล้านบาท และส่วนผู้ถือหุ้น 474,654 ล้านบาท ขณะที่มีกำไรสะสมสูงกว่า 435,000 ล้านบาท
ขณะที่สัดส่วนรายได้ของ กฟผ. มาจากธุรกิจไฟฟ้า 99% และธุรกิจอื่นๆ อีก 1%
พ.ศ. 2561 รายได้ 524,767 ล้านบาท กำไร 45,712 ล้านบาท
พ.ศ. 2562 รายได้ 560,446 ล้านบาท กำไร 48,271 ล้านบาท
อัตรากำไรของกฟผ. จะสม่ำเสมออยู่ที่ประมาณ 9%
เนื่องจากรายได้จากการขายไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาซื้อขายระยะยาว
ซึ่งจะผันผวนน้อย เมื่อเทียบกับหลายธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน กฟผ. มีการลงทุนในบริษัทที่ทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องผ่านการถือหุ้นใน 5 บริษัท โดย 2 ใน 5 นั้นจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ คือ
1. ถือหุ้นใน RATCH จำนวน 652.5 ล้านหุ้น มูลค่าเงินลงทุนกว่า 45,000 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2562 ได้รับเงินปันผลจำนวน 1,566 ล้านบาท
2. ถือหุ้นใน EGCO จำนวน 133.8 ล้านหุ้น มูลค่าเงินลงทุนกว่า 36,000 ล้านบาท
ปี พ.ศ. 2562 ได้รับเงินปันผลจำนวน 903 ล้านบาท
แม้ว่าในปัจจุบัน กฟผ. จะไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ถ้าเราลองจินตนาการว่า ถ้าหุ้นของ กฟผ. อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะใหญ่แค่ไหน
รายได้ปีล่าสุดจะทำให้กฟผ. มีรายได้มากเป็นอันดับที่ 3 ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ตามหลังบริษัท PTT และ CPALL
และด้วยกำไรของ กฟผ. ปีล่าสุด ถ้าเราให้หุ้นของกฟผ. ซื้อขายกันด้วย P/E เท่ากับ 17 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของหุ้นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่าง RATCH และ EGCO ในตลาดหลักทรัพย์ของไทย
นั่นหมายความว่า มูลค่าตลาดของกฟผ. จะสูงกว่า 820,000 ล้านบาท ซึ่งจะใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ณ วันนี้ เป็นรองเพียงกิจการรัฐวิสาหกิจอีก 2 แห่งคือ PTT และ AOT
PTT มีมูลค่าตลาด 1,130,000 ล้านลาท
AOT มีมูลค่าตลาด 950,000 ล้านบาท
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้ไหมว่าในปัจจุบัน ระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. นั้นมีความยาวระบบสายส่งไฟฟ้าประมาณ 36,000 วงจรกิโลเมตร
ขณะที่ State Grid Corporation of China ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานไฟฟ้าของจีนที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น มีความยาวระบบสายส่งไฟฟ้ารวมกันถึง 987,000 วงจรกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าของ กฟผ. ถึง 27 เท่า..
----------------------
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.egat.co.th/images/businessop/annual-report/2562/annual-report-62-th.pdf
-https://www.set.or.th
-https://th.wikipedia.org/wiki/การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
- https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=80&Itemid=116
- https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=140&Itemid=178
-https://en.wikipedia.org/wiki/State_Grid_Corporation_of_China
- https://www.power-technology.com/features/top-10-power-companies-in-the-world/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.