FamilyMart เล็กกว่า 7-11 แค่ไหน?

FamilyMart เล็กกว่า 7-11 แค่ไหน?

15 มิ.ย. 2020
FamilyMart เล็กกว่า 7-11 แค่ไหน? /โดย ลงทุนแมน
FamilyMart เป็นธุรกิจร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2516
และเริ่มเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ในชื่อ Siam FamilyMart
ในปี พ.ศ. 2555 กลุ่ม CRC ได้เข้ามาซื้อหุ้น 51% จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเปลี่ยนชื่อมาเป็น Central FamilyMart ในตอนนั้น FamilyMart มี 782 สาขา
สำหรับธุรกิจร้านสะดวกซื้อ โดยทั่วไปแล้วการขยายสาขาคือหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่สร้างการเติบโตให้แก่กิจการ แต่ดูเหมือนว่า แนวคิดนี้กำลังสวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้นของ FamilyMart ในประเทศไทย
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปี พ.ศ. 2560 FamilyMart ในประเทศไทยมี 1,135 สาขา
ปี พ.ศ. 2561 FamilyMart ในประเทศไทยมี 1,090 สาขา
ปี พ.ศ. 2562 FamilyMart ในประเทศไทยมี 968 สาขา
ถ้าดู 3 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าการขยายสาขาจะไม่ใช่กลุยทธ์หลักของ FamilyMart เมื่อเทียบกับผู้นำที่เป็นเบอร์ 1 ในตลาดอย่างร้าน 7-11 ที่เฉลี่ยแล้วมีการขยายสาขามากกว่าปีละ 700 สาขา
สิ้นปี พ.ศ. 2562 จำนวนร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยมีจำนวน 18,240 สาขา โดย 3 อันดับแรกคือ
1. ร้าน 7-11 มีส่วนแบ่งตลาด 64%
2. ร้าน Tesco Lotus Express มีส่วนแบ่งตลาด 9%
3. ร้าน FamilyMart มีส่วนแบ่งตลาด 6%
เรียกได้ว่า ตอนนี้ FamilyMart มีส่วนแบ่งเป็นอันดับที่ 3 ตามหลังผู้นำอย่างร้าน 7-11 อยู่ไกลพอสมควร
เรื่องนี้จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ FamilyMart ประสบกับความท้าทายอย่างมากในการทำธุรกิจร้านสะดวกซื้อในประเทศไทย
เพราะการมีจำนวนสาขาที่มากจะมีอำนาจในการต่อรองซื้อสินค้ากับซัพพลายเออร์ที่สูง ซึ่งอาจทำให้ได้ส่วนลดค่าสินค้าจำนวนมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีการสั่งซื้อสินค้าน้อยกว่า
รวมทั้งบางกรณี การสั่งซื้อของในปริมาณมาก ยังสามารถยืดระยะเวลาในการชำระเงินกับซัพพลายเออร์ได้ จนอาจไม่มีความจำเป็นต้องไปกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องเสียดอกเบี้ยด้วยถ้ามีการกู้ยืมเงิน
นอกจากนั้น การขยายสาขาได้มากและรวดเร็ว ยังช่วยให้ร้านสะดวกซื้อนั้น สามารถเข้าไปเปิดสาขาในพื้นที่ที่มีศักยภาพก่อนที่คู่แข่งรายอื่นจะตามมา
สำหรับต้นทุนในการดำเนินงาน ร้านไหนที่มีสาขามาก ต้นทุนในการดำเนินงานต่อร้านก็จะต่ำกว่าร้านที่มีสาขาน้อย เพราะลองนึกภาพว่า ถ้าร้านสะดวกซื้อ 2 แบรนด์ต้องมาทำโฆษณาเพื่อโปรโมตร้าน ซึ่งมีต้นทุนค่าโฆษณาเท่ากันที่ 10 ล้านบาท
ร้านที่มีสาขา 10,000 สาขา จะมีต้นทุนค่าโฆษณาต่อร้านเพียงร้านละ 1,000 บาท
ขณะที่ร้านที่มีสาขา 1,000 สาขา จะมีต้นทุนค่าโฆษณาต่อร้านถึงร้านละ 10,000 บาท ซึ่งต่างกันถึง 10 เท่า
แล้วผลประกอบการของ CPALL (เฉพาะธุรกิจร้าน 7-11) และ FamilyMart เป็นอย่างไร
พ.ศ. 2561
CPALL รายได้ 335,187 ล้านบาท กำไร 19,944 ล้านบาท
FamilyMart รายได้ 17,885 ล้านบาท ขาดทุน 360 ล้านบาท
พ.ศ. 2562
CPALL รายได้ 361,034 ล้านบาท กำไร 20,180 ล้านบาท
FamilyMart รายได้ 16,755 ล้านบาท ขาดทุน 183 ล้านบาท
จากตัวเลข ไม่ต้องอธิบายอะไรก็น่าจะรู้ว่าสถานการณ์ของทั้ง 2 บริษัทต่างกันแค่ไหน
อย่างไรก็ตามแม้ว่าวันนี้ FamilyMart กำลังเจอความท้าทายในธุรกิจร้านสะดวกซื้อ
แต่กลุ่มของ CRC เพิ่งทำการซื้อหุ้น FamilyMart จากบริษัทแม่ในญี่ปุ่นทั้งหมด จนทำให้ตอนนี้ FamilyMart ในประเทศไทยอยู่ภายใต้การบริหารงานของกลุ่ม CRC ทั้งหมด ซึ่งกลุ่ม CRC ก็มีแผนที่จะขยายสาขาของร้านสะดวกซื้อแห่งนี้อย่างต่อเนื่องในอนาคต
น่าสนใจว่า FamilyMart ยุคใหม่ภายใต้การบริหารของกลุ่ม CRC แต่เพียงผู้เดียว จะมีผลงานออกมาเป็นแบบไหน
แต่ที่แน่ๆ ถ้าการแข่งขันของร้านสะดวกซื้อมีมากขึ้น
อย่างน้อยคนที่ได้รับประโยชน์ก็จะตกเป็นของผู้บริโภคนั่นเอง..
----------------------
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.set.or.th/dat/news/202005/20063584.pdf
-https://en.wikipedia.org/wiki/FamilyMart
-https://www.cpall.co.th/wp-content/uploads/2020/02/2019_Presentation_CPALL.pdf
-แบบ 56-1 ประจำปี 2562 บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
-แบบ 56-1 ประจำปี 2562 บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.