ความบอบช้ำ อย่างต่อเนื่อง ของเศรษฐกิจอิตาลี

ความบอบช้ำ อย่างต่อเนื่อง ของเศรษฐกิจอิตาลี

23 มิ.ย. 2020
ความบอบช้ำ อย่างต่อเนื่อง ของเศรษฐกิจอิตาลี /โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่า หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2008 คืออะไร?
คำตอบที่นักลงทุนคิดถึงคงเป็น วิกฤติซับไพรม์ และการล่มสลายของ Lehman Brothers วาณิชธนกิจที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
แต่รู้ไหมว่าปีนั้น
ยังเป็นปีที่มูลค่า GDP ของอิตาลีขึ้นไปถึง 74 ล้านล้านบาท
ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดตลอดกาลสำหรับมูลค่า GDP ของประเทศอิตาลี
แต่แล้วหลังจากนั้น อิตาลีก็ไม่เคยกลับมาที่จุดนั้นอีกเลย
นับจากวันนั้นมา 12 ปี มูลค่า GDP ของอิตาลี เฉลี่ยแล้วลดลงปีละ 1 ล้านล้านบาท
และดูเหมือนว่าปีนี้ก็จะแย่ลงไปอีกจาก Covid-19
เกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจของอิตาลีในช่วงที่ผ่านมา?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
╚═══════════╝
ในปี 2019 เศรษฐกิจอิตาลีมูลค่า GDP กว่า 62 ล้านล้านบาท เป็นอันดับที่ 8 ของโลก
และใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ในทวีปยุโรป
ขณะที่ประชากรของอิตาลีนั้นมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเท่ากับ 1 ล้านบาทต่อปี อยู่อันดับที่ 26 ของโลก
เดิมทีนั้นอิตาลีเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2
ในปี 1945 เศรษฐกิจของอิตาลีเริ่มเปลี่ยนจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาเกษตรกรรม มาสู่เศรษฐกิจที่พึ่งพาอุตสาหกรรม
ปัจจุบัน สัดส่วนภาคการเกษตรมีสัดส่วนเหลือเพียง 2% ขณะที่สัดส่วนนอกภาคเกษตร เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ มีสัดส่วนมากถึง 98%
อิตาลียังเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม G7 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก โดยประกอบไปด้วยประเทศอื่นๆ อีก 6 ประเทศคือ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
รู้ไหมว่า อิตาลีนั้น ถือว่าเป็นผู้นำของโลกในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น
เป็นประเทศที่ผลิตไวน์ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของโลก
เป็นประเทศที่มีภาคอุตสาหกรรมการผลิตใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของยุโรป และใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ของโลก
เป็นประเทศที่มีแหล่งสำรองทองคำมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก
เป็นประเทศผู้นำทางแฟชั่นของโลก และเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสินค้าหรูหราที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป และใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก
ในช่วงระหว่างปี 2000-2008 เศรษฐกิจของอิตาลีนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้มูลค่า GDP เพิ่มขึ้นจาก 34 ล้านล้านบาท มาถึง 74 ล้านล้านบาท
แต่การเติบโตในครั้งนั้น แลกมาด้วยการใช้จ่ายเงินมหาศาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล ซึ่งอิตาลีนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีงบประมาณขาดดุลยาวนานประเทศหนึ่งของโลก
ในช่วงปี 2000-2008 รัฐบาลอิตาลีใช้งบประมาณขาดดุลรวมกันสูงถึง 14 ล้านล้านบาท ทำให้เฉลี่ยแล้วหนี้สาธารณะต่อ GDP ของอิตาลีอยู่ในระดับที่สูงกว่า 100%
และแล้ว 2 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอิตาลีหยุดชะงักลงกว่า 12 ปีก็เกิดขึ้น
ครั้งแรกในปี 2008 จากวิกฤติซับไพรม์ ซึ่งอิตาลีเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติดังกล่าว โดยในช่วงระหว่างปี 2008-2009 GDP ของอิตาลีติดลบไปทั้งหมด 7 ไตรมาส เศรษฐกิจของประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอย
หลังจากเจอกับผลกระทบจากวิกฤติซับไพรม์ไม่นาน อิตาลีก็ต้องมาเจอกับแรงกระแทกครั้งที่สองที่ชื่อว่า วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2009
ปี 2011 ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อสถานะทางการเงินของอิตาลีตกต่ำอย่างหนัก ความน่าเชื่อถือของประเทศถูกลดอันดับลง ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีของอิตาลี ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหมายถึง ต้นทุนการกู้ยืมเงินของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น
ในปี 2015 หนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศพุ่งขึ้นถึง 131% ต่อ GDP มากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของยุโรป แม้จะเป็นรองกรีซที่ขณะนั้นมีหนี้สาธารณะต่อ GDP เท่ากับ 180% แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของอิตาลีนั้นใหญ่กว่ากรีซเกือบ 10 เท่า แน่นอนว่าผลกระทบจะรุนแรงกว่ากรณีของกรีซอย่างไม่ต้องสงสัย
ทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ จึงทำให้มูลค่า GDP ของอิตาลีจากที่เคยขึ้นไปถึง 74 ล้านล้านบาท ในปี 2008 ปัจจุบัน ลดลงมาเหลือเพียง 62 ล้านล้านบาท หรือลดลงเฉลี่ยปีละประมาณ 1 ล้านล้านบาท ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา
และมาวันนี้ผลกระทบจาก Covid-19
กำลังจะทำให้เศรษฐกิจของอิตาลีที่ยังบอบช้ำอยู่แล้ว ย่ำแย่ลงไปอีก
ซึ่งก่อนที่ Covid-19 จะระบาดนั้น อิตาลีมีอัตราการว่างงานประมาณ 10% ทำให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการว่างงานมากที่สุดในกลุ่มยูโรโซน
มีการคาดกันว่า นับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ปี 2020 ที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ประเทศ มีแรงงานของอิตาลีกว่า 11.5 ล้านคนต้องตกงาน คิดเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ
ขณะที่การท่องเที่ยวซึ่งปัจจุบัน มีสัดส่วน 13% ของ GDP หรือกว่า 8 ล้านล้านบาท ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศที่หดหายไปในช่วงที่ผ่านมา
จึงทำให้คาดกันว่า ในปี 2020 GDP ของอิตาลีจะติดลบกว่า 9.5% ซึ่งนับเป็นความตกต่ำทางเศรษฐกิจของอิตาลีครั้งรุนแรงอีกครั้งในประวัติศาสตร์ของประเทศ
เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลอิตาลีต้องประกาศใช้งบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อลดผลกระทบจากโรคระบาดดังกล่าว
แต่เมื่อทำแบบนี้ก็มีราคาที่ต้องจ่าย มีการคาดกันว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้จะทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ของอิตาลีพุ่งขึ้นไปถึง 160% ต่อ GDP ในปี 2020
และตัวเลขหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นนี้ ก็จะวนกลับไปเป็นปัญหาของอิตาลีในอนาคต โดยที่ไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร..
----------------------
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://data.worldbank.org/country/italy
-https://en.wikipedia.org/wiki/Lehman_Brothers
-https://www.forbes.com/sites/rebeccahughes/2020/05/26/after-the-health-crisis-comes-poverty-italy-warns-the-world/#79514a302d31
-https://www.statista.com/statistics/268830/unemployment-rate-in-eu-countries/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Italy
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)_per_capita
-https://en.wikipedia.org/wiki/European_debt_crisis
-https://countryeconomy.com/deficit/Italy
-https://www.republicworld.com/world-news/rest-of-the-world-news/italy-faces-worst-recession-since-world-war-ii-economy-shrinks.html
-https://news.cgtn.com/news/2020-05-14/Italy-approves-55-billion-euro-stimulus-package-in-coronavirus-fight-QtOOkvBBss/index.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.