ปรากฏการณ์ Dutch Disease ข่าวดีที่มาพร้อมกับข่าวร้าย

ปรากฏการณ์ Dutch Disease ข่าวดีที่มาพร้อมกับข่าวร้าย

28 มิ.ย. 2020
ปรากฏการณ์ Dutch Disease ข่าวดีที่มาพร้อมกับข่าวร้าย /โดย ลงทุนแมน
“ข่าวที่ดีมาพร้อมกับข่าวร้าย”
ประโยคที่สรุปความหมายทั้งหมดของคำว่า Dutch Disease ได้เป็นอย่างดี
ปรากฏการณ์ Dutch Disease คืออะไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง แบบเข้าใจง่ายๆ
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Dutch Disease คือ ปรากฏการณ์ซึ่งเกิดจากการเติบโตของเศรษฐกิจด้านหนึ่ง กลับไปทำลายเศรษฐกิจอีกด้านหนึ่ง
คำว่า Dutch มาจากคำที่เรียกชาวเนเธอร์แลนด์
เพราะจุดกำเนิดของเรื่องนี้ เกิดขึ้นในปี 1959 ที่ตอนนั้น ประเทศเนเธอร์แลนด์มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปที่เมืองโกรนิงเงินทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
แน่นอนว่า นี่คือข่าวดีของเนเธอร์แลนด์อย่างไม่ต้องสงสัย การค้นพบทรัพยากรธรรมชาติในครั้งนี้ ส่งผลทำให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาเพื่อพัฒนาโครงการแห่งนี้ และเมื่อรวมกับการมีรายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติ จะทำให้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้าสู่เนเธอร์แลนด์จำนวนมาก
แต่ข่าวร้ายของเรื่องนี้ก็คือ
การไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศทำให้ค่าเงินกิลเดอร์ของเนเธอร์แลนด์นั้นแข็งค่าขึ้น จนกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ
เนื่องจากการแข็งค่าของเงินทำให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกของเนเธอร์แลนด์ได้รับผลกระทบ และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับสินค้าในตลาดต่างประเทศ
ขณะที่มีสินค้าจากต่างประเทศถูกนำเข้าและมาแข่งขันกับสินค้าในประเทศมากขึ้น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของเนเธอร์แลนด์จึงได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนนำไปสู่การลดการลงทุน ลดการจ้างงาน ทำให้อัตราการว่างงานของเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้นจาก 1.1% ไปถึง 5.1% ในช่วงระหว่างปี 1970-1977
ขณะที่บางครั้ง Dutch Disease ก็ถูกนำไปใช้อธิบายสถานการณ์ที่เรียกว่า Resource Curse หรือ “คำสาปแห่งทรัพยากรธรรมชาติ” ได้เช่นกัน
ซึ่งเรื่องแบบนี้มักเกิดขึ้นในประเทศที่แม้จะมีรายได้จากทรัพยากรที่มีค่ามากมายมหาศาล แต่รายได้เหล่านั้นถูกนำไปใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ จนนำไปสู่วิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจ เหมือนที่หลายประเทศเคยเจอ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เวเนซุเอลา
ย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษ 2000 การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ถือเป็นข่าวดีของประเทศที่มีปริมาณสำรองน้ำมันดิบมากที่สุดในโลกอย่างเวเนซุเอลา จนทำให้ตอนนั้น ที่นี่กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก
ในปี 2011 เพียงปีเดียว เวเนซุเอลามีรายได้จากการส่งออกน้ำมันถึง 2.3 ล้านล้านบาท
ในปี 2012 รายได้จากการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลามีสัดส่วนถึง 96% ของรายได้จากการส่งออก และมีสัดส่วนเกือบ 50% ของงบประมาณประเทศ
เรื่องนี้ถึงขนาดทำให้ แค่รายได้จากการขายน้ำมันเพียงอย่างเดียวก็สามารถเลี้ยงประชากรทั้งประเทศเวเนซุเอลาได้
อย่างไรก็ตาม
ข่าวร้ายของเรื่องนี้ก็คือ การที่ค่าเงินโบลิวาร์นั้นแข็งค่าขึ้นอย่างมาก จนทำให้กรุงการากัสเมืองหลวงของเวเนซุเอลากลายมาเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกเมื่อคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยน
เมื่อรวมกับการนำเงินไปใช้ในการทำนโยบายประชานิยมของอดีตประธานาธิบดีอูโก ชาเบซ เพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง โดยไม่ได้นำไปลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นๆ ของประเทศเพื่อรองรับกับการลดลงของราคาน้ำมันในอนาคต
จนทำให้ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอื่น ถดถอยไปเรื่อยๆ
และแล้วเมื่อราคาน้ำมันเริ่มตกต่ำในปี 2014 เวเนซุเอลา ก็เจอปัญหาอย่างหนัก
จนวันนี้ใครจะไปคิดว่า เวเนซุเอลากลับมีมูลค่า GDP เหลือพียง 2.2 ล้านล้านบาท ในปี 2019 น้อยกว่าของประเทศไทยถึง 7 เท่า
สำหรับประเทศไทยของเราก็อาจเอาเรื่องเหล่านี้มาเป็นบทเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เราเดินตามรอยบางประเทศที่เคยเจอเหตุการณ์ Dutch Disease
ที่ผ่านมา หลายคนอาจดีใจที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
จนทำให้วันนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างชัดเจน
ปี 2010 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย 0.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6% ของ GDP
ปี 2019 รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 11% ของ GDP
ซึ่งข่าวดีของเรื่องนี้ก็คือ
ประเทศไทยมีรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศจากการท่องเที่ยวไหลเข้าสู่ประเทศเพิ่มมากขึ้น และนี่คือ หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
แต่สิ่งนี้ก็นำไปสู่การแข็งค่าของเงินบาท
จนสร้างความท้าทายต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยเช่นกัน
ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้ามาดูแลจัดการไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากจนกระทบกับการส่งออกของประเทศอยู่หลายครั้งในช่วงที่ผ่านมา
เรื่องนี้ จึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญสำหรับผู้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีความหลากหลาย ไม่พึ่งพากับอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไปนัก
ไม่เช่นนั้น Dutch Disease ก็อาจจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนกับประเทศไทยในที่สุด..
----------------------
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Dutch_disease
-https://en.wikipedia.org/wiki/Groningen_gas_field
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_GDP_(nominal)
-https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_the_Venezuelan_oil_industry
-https://www.investopedia.com/terms/d/dutchdisease.asp
-https://www.mercatus.org/%5Bnode%3A%5D/commentary/deficits-trade-and-deficits-understanding
-https://www.economicshelp.org/blog/11977/oil/dutch-disease/
-https://data.worldbank.org/country/TH
-https://www.mots.go.th/more_news_new.php?cid=411
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.