รู้จัก Gojek ขุมพลังความสำเร็จของ GET ในประเทศไทย

รู้จัก Gojek ขุมพลังความสำเร็จของ GET ในประเทศไทย

3 ก.ค. 2020
รู้จัก Gojek ขุมพลังความสำเร็จของ GET ในประเทศไทย /โดย ลงทุนแมน
ข่าวใหญ่ล่าสุดในแวดวงธุรกิจ Delivery วันนี้
ก็คือ GET กำลังจะเปลี่ยนชื่อแบรนด์ตัวเองเป็น Gojek
รู้หรือไม่ว่า.. ที่มาของชื่อแบรนด์ใหม่นี้
เป็นการนำชื่อบริษัทแม่ในประเทศอินโดนีเซียมาใช้
โดยบริษัทนี้เป็น สตาร์ตอัพ ระดับยูนิคอร์น แห่งแรกในประเทศอินโดนีเซีย
และใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี ก้าวขึ้นสู่หนึ่งในบริษัทยักษ์รายใหม่ของอินโดนีเซียเป็นที่เรียบร้อย
โดยมีมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 3 แสนล้านบาท
เทียบเท่าธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศไทย เลยทีเดียว
หลายคนคงเริ่มสงสัยว่า Gojek คือใคร แล้วมีจุดเริ่มต้นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
รู้ไหมว่า..ประชากรในประเทศอินโดนีเซีย ใช้ชีวิตบนท้องถนนติดอันดับต้นๆ ของโลก
โดยค่าเฉลี่ย 1 คนจะเสียเวลาไปกับรถติด 47 ชั่วโมงต่อปี
โดยเมืองที่รถติดมากที่สุดก็คือ จาการ์ตา
ปัญหาระดับชาตินี้ก็เลยทำให้คุณ Nadiem Makarim หนุ่มชาวอินโดนีเซียวัย 35 ปี
เล็งเห็นแนวทางบรรเทาปัญหาให้กลายเป็นโอกาส
ทำให้เขาคิดจะเป็น “คนกลาง” ให้ วินมอเตอร์ไซค์ กับผู้โดยสารที่รีบเร่ง ได้เจอกัน
และด้วยโมเดลธุรกิจนี้ ก็คือที่มาของชื่อบริษัทด้วยเทคนิคการผสมคำ
Ojek ภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า “วินมอเตอร์ไซค์”
Go ภาษาอังกฤษที่แปลว่า “ไป”
เมื่อมารวมคำกันคือ Gojek โดยธุรกิจเริ่มต้นปี พ.ศ. 2553
ที่เป็นการตั้งศูนย์บริการเรียกวินมอเตอร์ไซค์ผ่าน Call Center
โดยในช่วงเริ่มต้นมีผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ให้บริการ (ojek drivers) แค่ 20 คน
ในเวลาต่อมา เมื่อมีคนใช้บริการมากขึ้น เขาก็รับรู้ถึงจุดอ่อนโมเดลธุรกิจนี้
นั้นคือมีต้นทุนสูงเพราะต้องจ้างพนักงาน Call Center และยังมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ

อีกทั้งยังพบว่าเกิดปัญหาในการใช้บริการทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้เรียกใช้บริการและคนขับขี่มอเตอร์ไซค์
และที่สำคัญที่สุด Gojek มองว่าสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้อีก
จึงเริ่มนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาที่ท้าทายและข้อจำกัดต่างๆ ในธุรกิจนี้
ในขณะที่ผู้คนในประเทศอินโดนีเซียก็เริ่มเข้าถึงการใช้งาน Internet บนมือถือมากขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้ในปี พ.ศ. 2558 ทางบริษัทตัดสินใจเปิดตัว App ที่ชื่อว่า Gojek
ที่ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนนับล้าน
เพราะนอกจากจะมีบริการเรียกรถมอเตอร์ไซค์และรถแท็กซี่
ก็ยังมีบริการส่งอาหาร สิ่งของต่างๆที่เรียกว่าบริการ GoSend
และบริการไปซื้อสินค้าตามออเดอร์ที่เราต้องการตามร้านค้าต่างๆ เรียกว่าบริการ GoMart

หลายคนคงไม่คิดว่า
ต่อมาบริการทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 2 ล้านคน
สร้างเศรษฐกิจใหม่ให้แก่คนในประเทศอินโดนีเซียจำนวนมหาศาลที่ส่วนใหญ่ยังมีฐานะไม่ค่อยดีนัก
โดยผู้ขับขี่ Gojek จะมีรายได้เฉลี่ย 5 ล้านรูเปียห์ ซึ่งคิดเป็น 10,700 บาท ต่อเดือน
มากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่อยู่ 2.6 - 3.6 ล้านรูเปียห์ ซึ่งคิดเป็น 5,600 - 7,600 บาท ต่อเดือน (มากน้อยตามแต่ละจังหวัด)
ที่น่าสนใจคือในเวลาต่อมา Gojek ยังพัฒนาบริการใหม่ๆ ใส่ลงไปใน App ตัวเองมากมาย

โดยปัจจุบันมีมากกว่า 20 บริการใน App เดียว เช่นบริการที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
บริการความบันเทิง streaming, บริการชำระเงิน เป็นต้น
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ก็เลยทำให้ Gojek กลายเป็น Super App ที่คนส่วนใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย หากอยากใช้บริการอะไรที่อำนวยความสะดวกสบายให้แก่ตัวเอง ก็จะนึกถึง App Gojek เป็น App แรกและ App เดียว
ผลที่ตามมาก็คือ Gojek จึงมีรายได้เติบโตทุกปี
และได้รับเงินลงทุนเพิ่มเติมจากบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก เช่น Google และ Tencent รวมถึงนักลงทุนรายใหม่ล่าสุดอย่าง Facebook
พอได้เงินทุน ก็เลยทำให้บริษัทมีทรัพยากรในการขยายธุรกิจไปประเทศต่างๆ
โดยในแต่ละประเทศ จะมีชื่อแบรนด์และบริการที่แตกต่างออกไป
เช่น สิงคโปร์ ชื่อแบรนด์ Gojek ในประเทศไทย ชื่อแบรนด์ GET ในเวียดนาม ชื่อแบรนด์ GoViet
โดยหลักการบริหารของ Gojek คือ
จะเลือกให้คนในประเทศนั้นๆ เป็นผู้บริหารระดับสูงสุด
ซึ่งนับเป็นวิธีคิดที่น่าสนใจ เพราะพฤติกรรมคนในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน
การใช้คนในประเทศนั้นๆเข้ามาบริหารก็เพื่อทำให้บริการเหมาะสมกับพฤติกรรมคนในประเทศนั้น
สิ่งที่ต้องติดตามต่อจากนี้เมื่อ GET เปลี่ยนชื่อเป็น Gojek
นอกจากผลดีคือสร้างภาพจำให้แบรนด์ชื่อเดียวเหมือนกันหมดทุกประเทศ
ในประเทศไทย เราก็อาจเห็น Gojek เพิ่มบริการใหม่ๆ เข้ามาอีกมากมายใน App ตัวเองให้กลายเป็น Super App เหมือนในอินโดนีเซีย

ซึ่งเรื่องนี้น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง เพราะจริงๆแล้วถ้าวัดกันที่ชื่อชั้นในระดับโลก Gojek มีศักยภาพไม่แพ้ Grab ในบ้านเรา ทั้งในเชิงจำนวนผู้ใช้งาน และเงินที่ระดมทุนได้
แม้ว่าศึกครั้งนี้ คงยังหาบทสรุปไม่ได้ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ
แต่ที่แน่ๆ ต่อจากนี้ไปศึก Super App ในไทยน่าจะลุกเป็นไฟ
และคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด ก็คือ “ผู้บริโภค” นั่นเอง..
----------------------
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.bbc.com/thai/thailand-39038498
-https://www.salika.co/2019/10/02/gojek-superapp-insight/
-เอกสารข่าว บริษัท เก็ท ประเทศไทย จำกัด
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.