ประเทศไทย อาจไม่ต้องการ นวัตกรรมสูงสุด

ประเทศไทย อาจไม่ต้องการ นวัตกรรมสูงสุด

3 ส.ค. 2020
ประเทศไทย อาจไม่ต้องการ นวัตกรรมสูงสุด / โดย ลงทุนแมน
บริษัทที่มีนวัตกรรมสูงสุดในปี 2020 คือ Apple
ตามมาด้วย Alphabet, Amazon และ Microsoft
จากการจัดอันดับ Most Innovative Companies 2020 โดย Boston Consulting Group
โดยการสำรวจความคิดเห็นจากฝ่ายบริหารด้านนวัตกรรม ฝ่ายบริหารในอุตสาหกรรมต่างๆ
รวมกับข้อมูลผลตอบแทนของหุ้นแต่ละบริษัท เพื่อแสดงถึง Value Creation
ผลที่ได้ออกมาเป็น 50 บริษัทที่มีนวัตกรรมสูงสุด
การจัดอันดับบริษัทเหล่านี้ บอกอะไรเราบ้าง
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ใน 50 บริษัท เป็นบริษัทอเมริกันถึง 25 บริษัท
โดยมีบริษัทอเมริกัน 6 บริษัทใน 10 อันดับแรก
บริษัทจีน 5 บริษัท มี Huawei อันดับ 5 และ Alibaba อันดับ 6
บริษัทเยอรมัน 5 บริษัท
บริษัทญี่ปุ่น 3 บริษัท
บริษัทอังกฤษ-เนเธอร์แลนด์ 2 บริษัท
บริษัทเนเธอร์แลนด์, สวิส, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ประเทศละ 2 บริษัท
บริษัทอิตาลี, สวีเดน ประเทศละ 1 บริษัท
หากไม่ลงลึกในรายละเอียดของบริษัท แต่มองเป็นประเทศ เราก็จะพบว่า
สหรัฐอเมริกายังคงเป็นเจ้าแห่งนวัตกรรม
แถมบริษัทที่ติดอันดับทั้ง 25 บริษัท ยังประกอบไปด้วยหลายภาคธุรกิจ
ทั้งเทคโนโลยี สื่อบันเทิง การเงิน สินค้าอุปโภค เสื้อผ้า ยารักษาโรค และเวชภัณฑ์
ความครอบคลุมไปทุกแขนงเหล่านี้ ทำให้ยากที่จะมีบริษัทในประเทศไหน
ที่จะครอบคลุมและแซงหน้าสหรัฐอเมริกาได้ อย่างน้อยก็ใน 10 ปีต่อจากนี้
นั่นหมายความว่า สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะยังคงยิ่งใหญ่ คนทั่วโลกล้วนต้องการสินค้าอเมริกัน จะซื้ออะไรก็ต้องใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ใน App Store หรือ Facebook
การเป็นสกุลเงินที่คนทั่วโลกยังคงต้องการ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ สามารถพิมพ์เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาได้เรื่อยๆ
เทคโนโลยีจีนก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวสำหรับสหรัฐอเมริกา
Huawei ก้าวมาอยู่อันดับ 6 ขึ้นมาถึง 42 อันดับจากปีที่แล้ว
เช่นเดียวกับ Alibaba ที่ก้าวมาอยู่อันดับ 7 ขึ้นมาถึง 16 อันดับ
ถึงแม้ถ้าสังเกตดีๆ ทั้ง 5 บริษัทที่ติดอันดับ
Huawei, Alibaba,Tencent, Xiaomi และ JD.com
ล้วนเป็นบริษัทเทคโนโลยีทั้งหมด
ส่วนอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ ของจีนยังตามสหรัฐฯ อยู่อีกมาก
แต่ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยี ข้อดีของมันคือจะนำไปเชื่อมโยงกับอะไรก็ได้
บริษัทอย่าง Xiaomi ก็ทำให้เห็นแล้วว่าไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถที่จะใช้เทคโนโลยีเชื่อมเข้ากับของใช้ในชีวิตประจำวันรอบตัวเรา
อีกไม่นานบริษัทเทคโนโลยีอเมริกันจะต้องเจอความท้าทายอย่างมาก
ไม่แปลกที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะอยู่เฉยไม่ได้
สหรัฐอเมริกาครองโลกมานานเกือบ 40 ปี
การที่จีนก้าวขึ้นมาล้ำหน้าเป็นสิ่งที่สะเทือนอำนาจของสหรัฐฯ อยู่ไม่น้อย
บริษัทเยอรมันก็ยังคงความเป็นเยอรมัน
ประเทศนี้เป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรมที่ต้องสั่งสมกระบวนการคิดที่เป็นระบบระเบียบ
ทั้งด้านวิศวกรรมอย่าง Siemens, Bosch
ยานยนต์อย่าง Volkswagen
ยาและเคมีภัณฑ์อย่าง Bayer
เยอรมนีครองอุตสาหกรรมเหล่านี้มานาน และมีนวัตกรรมที่ต่อยอดอย่างสม่ำเสมอ
บริษัทในประเทศอื่นๆ จะก้าวขึ้นมาแทนที่คงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
ในฝั่งอุตสาหกรรมยาและการแพทย์
มีเพียง 4 บริษัทเท่านั้นที่เป็นบริษัทอเมริกัน นั่นคือ Johnson & Johnson
ส่วนที่เหลือคือบริษัทยุโรป 3 บริษัท
Philips จากเนเธอร์แลนด์
Bayer จากเยอรมนี
และ Novartis จากสวิตเซอร์แลนด์
อันดับที่ดีสุดคือ Philips อยู่อันดับที่ 23
หลายคนอาจสงสัยว่า Philips ไม่ได้ทำหลอดไฟ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว?
Philips ได้ขายแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนให้แก่บริษัทในญี่ปุ่น
ส่วนแผนกหลอดไฟ ได้แยกออกมาตั้งบริษัทใหม่โดยใช้ชื่อ Signify
ดังนั้น บริษัท Philips ในเนเธอร์แลนด์ จึงกลายเป็นบริษัทด้านการแพทย์อย่างเต็มตัว
มีอุตสาหกรรมหลักคือเครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์เพื่อสุขภาพส่วนบุคคล
ทั้งเครื่องเอกซเรย์, เครื่อง MRI, เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเครื่องอัลตราซาวด์
โรงพยาบาลใหญ่ระดับโลกล้วนใช้เครื่องมือของ Philips
บริษัทญี่ปุ่นที่ติดอันดับจะน้อยลงเรื่อยๆ และอันดับลดลงเรื่อยๆ
เช่น Toyota ที่เคยอยู่อันดับ 3 ร่วงลงมาอยู่อันดับที่ 42
ถึงแม้ปัญหาสังคมสูงวัย เศรษฐกิจที่หยุดชะงักมานานเกือบ 3 ทศวรรษ
และวัฒนธรรมขององค์กรจะทำให้บริษัทญี่ปุ่นปรับตัวได้ช้าในโลกยุคใหม่
แต่บริษัทอย่าง Sony ก็มีสิทธิบัตรอยู่ไม่น้อย มีนวัตกรรมมากมายให้พัฒนาต่อยอดได้อีกมาก
เกาหลีใต้ก็มี Samsung บริษัทนี้ลงทุนงบวิจัยและพัฒนามากขึ้นทุกปี
มีสิทธิบัตรเกือบ 6 แสนฉบับ
งบวิจัยและพัฒนาของเกาหลีใต้ มีสัดส่วนต่อ GDP สูงที่สุดในโลก คือ 4.3% ของ GDP
ที่น่าสนใจคือ บริษัท Top 50 ถ้าไม่นับ Airbus ที่ประเทศในยุโรปร่วมทุนกันหลายประเทศ
ก็เรียกได้ว่าไม่มีบริษัทฝรั่งเศสเลย..
เรื่องนี้เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
เพราะประเทศฝรั่งเศสมี GDP อันดับ 7 ของโลก ประชากรมี GDP ต่อหัวสูง
และเศรษฐีอันดับ 3 ของโลกก็คือ Bernard Arnault เป็นคนฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเจ้าของ LVMH
แบรนด์แฟชั่นฝรั่งเศสมากมายยังคงขายได้ทั่วโลก และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
อาณาจักรเครื่องสำอางอย่าง L'Oréal ก็โตวันโตคืน
ไม่ได้หมายความว่าฝรั่งเศสมีเทคโนโลยีล้าหลัง
แต่แบรนด์ฝรั่งเศสยังคงแข็งแกร่ง โดยไม่จำเป็นต้องไปโฟกัสที่เรื่องเทคโนโลยีเหมือนกับแบรนด์ของประเทศอื่นๆ
หัวใจสำคัญก็คือ แบรนด์ฝรั่งเศสยังแข่งขันได้เพราะความพิถีพิถันกับ Story
ซึ่ง “Story” น่าจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
จริงๆ ก็ต้องขอบคุณตั้งแต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เหล่าศิลปิน นักออกแบบ
หรือใครก็ตามที่ทำให้แบรนด์ฝรั่งเศสมี Story ที่แข็งแกร่ง
เรียกได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีก็ทำอะไรไม่ได้

ในอีก 10 ปี 20 ปีข้างหน้า สินค้าฝรั่งเศสก็น่าจะยังคงเป็นที่ต้องการ
โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีให้วุ่นวาย
หันกลับมามองที่ประเทศไทย
การต่อสู้ฟาดฟันด้านเทคโนโลยีกับประเทศใหญ่ๆ คงเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อม
หรือจริงๆ แล้ว “ฝรั่งเศสโมเดล” อาจเป็นสิ่งที่เหมาะกับเราอยู่ไม่น้อย
อย่าลืมว่าเราคือเมืองท่องเที่ยวระดับโลก ใครๆ ก็อยากมาท่องเที่ยว
รายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก
ถึงแม้ในปี 2020 จะซบเซาจากการระบาดของโควิด-19 ก็ตาม แต่หากมีวัคซีนเมื่อไหร่
นักท่องเที่ยวทั่วโลกก็จะกลับมาเหมือนเดิม
การท่องเที่ยวทำให้คนทั่วโลกได้ซึมซับ “Story” ของเรา โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว
คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้ว ว่าจะเอา “Story” ที่มี ประยุกต์กับเทคโนโลยีเล็กน้อย
แล้วปั้น “ไทยแลนด์โมเดล” ได้แข็งแกร่งแค่ไหน?
เราอาจไม่จำเป็นต้องเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมดีที่สุด
แต่การอยู่กับความเป็นจริงที่มี แล้วโฟกัสกับมัน
ก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่า และดีกว่า ก็ได้..
----------------------
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.