ประเทศไทย ในมุมมอง นักลงทุนต่างชาติ

ประเทศไทย ในมุมมอง นักลงทุนต่างชาติ

4 ส.ค. 2020
ประเทศไทย ในมุมมอง นักลงทุนต่างชาติ /โดย ลงทุนแมน

มีหลายคนพูดกันว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับนักลงทุนต่างชาติเหมือนในอดีต เพราะเรากำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันบางอย่างเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
เรื่องนี้เป็นอย่างไร แล้วถ้ามันเป็นจริง วันนี้เราควรเตรียมตัวอย่างไร เพื่อทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนต่างชาติ ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้าพูดถึงการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ขอแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
2) การลงทุนในตลาดการเงิน ซึ่งกรณีนี้จะเน้นไปที่การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติ
ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาตินั้นสนใจจะมาลงทุนในประเทศไทยมากแค่ไหน
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) นั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
เนื่องจากการเข้ามาของ FDI ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน แต่ยังรวมไปถึงการถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งสุดท้ายจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นเติบโต รายได้โดยเฉลี่ยและคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ามูลค่า FDI ที่เข้าสู่ประเทศไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลง
ปี 2010-2014 มูลค่า FDI ที่เข้าสู่ประเทศไทยเฉลี่ยต่อปี 321,000 ล้านบาท
ปี 2015-2019 มูลค่า FDI ที่เข้าสู่ประเทศไทยเฉลี่ยต่อปี 247,000 ล้านบาท
แต่รู้ไหมว่า ในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่า FDI ที่เข้าสู่ประเทศในกลุ่ม ASEAN เพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านล้านบาท มาอยู่ที่ 4.7 ล้านล้านบาท เรื่องนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจของหลายประเทศในภูมิภาคนี้เติบโตอย่างโดดเด่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
GDP โดยเฉลี่ยของหลายประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เมียนมา ลาว เวียดนาม ต่างเติบโตเฉลี่ยปีละ 6-7% หรือถ้าให้อธิบายง่ายๆ ก็คือ มูลค่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เติบโตประมาณเท่าตัวในรอบ 10 ปี
ขณะที่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา GDP ของไทยนั้นเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.5% หรือครึ่งหนึ่งของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้าน
ซึ่งเรื่องนี้ อาจเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างของเราหลายอย่างที่กำลังเปลี่ยนไป
สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุของไทย ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะบั่นทอนการบริโภค และจำนวนแรงงานของประเทศในระยะยาว และส่งผลให้ความจำเป็นในการลงทุนน้อยลง ซึ่งก็จะไปกระทบกับการจ้างงานและทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงในที่สุด
จำนวนประชากรในวัยแรงงานที่มีแนวโน้มลดลง จะทำให้ประเทศที่พึ่งพาแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างประเทศไทย มีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง
ทุกวันนี้ประมาณ 1 ใน 3 ของแรงงานในประเทศไทยอยู่ในภาคเกษตรกรรม และแรงงานนอกภาคเกษตรกรรมก็ยังอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต การขาย ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็น อุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงาน เป็นหลัก
ยังไม่รวมปัญหาอื่นๆ อีกเช่น
ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยทางการเมือง
ความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ปัญหาคอร์รัปชัน
การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
เราต้องยอมรับว่า เรื่องเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้มูลค่า FDI ที่เข้าสู่ประเทศไทยช่วงที่ผ่านมาลดลง แต่ยังจะทำให้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตนั้นเติบโตช้าลง จนส่งผลทำให้ความน่าสนใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อตลาดหุ้นของไทยนั้นลดลงไปด้วย
รู้ไหมว่า ในช่วงระหว่างปี 2010-2019 หรือในรอบ 10 ปี นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นสะสมสูงกว่า 512,000 ล้านบาท
ขณะที่ 6 เดือนแรกของปีนี้
นักลงทุนต่างชาติยังขายหุ้นไทยไปแล้วกว่า 216,000 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ สำหรับคนที่คิดว่านักลงทุนต่างชาติขายหุ้นในตลาดหุ้นไปเยอะจนอาจเหลือหุ้นไม่มากแล้ว เราอาจจะต้องคิดใหม่
เพราะแม้สัดส่วนการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยต่อมูลค่า market cap. นั้นลดลงจาก 37% ในช่วงปี 2012 จนเหลือ 30% ในปี 2019 แต่มูลค่าที่เหลืออยู่ก็ยังสูงกว่า 5 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว
และการขายหุ้นของนักลงทุนต่างชาติเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยดูเหมือนแทบไม่ไปไหน โดยเฉพาะในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา
สรุปแล้ว ทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่จะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงของไทยกำลังลดลงเมื่อเทียบกับอดีต และนักลงทุนต่างชาติยังขายหลักทรัพย์เรื่อยมา เพราะมองว่าแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศดูน่าสนใจน้อยลง
ดังนั้น ประเทศไทยของเราไม่เพียงแต่ต้องมีการลงทุนพัฒนาประสิทธิภาพ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ เพื่อสร้างอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่ม และลดการพึ่งพาอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานเหมือนที่ผ่านมาเพื่อช่วยให้รายได้ประชาชาติของประเทศเพิ่มสูงขึ้น
แต่ยังต้องรวมไปถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งปัญหาแรงงานที่ขาดทักษะ ปัญหาคอร์รัปชัน ความสงบเรียบร้อยทางการเมือง ที่ยังสะสมอยู่มาเนิ่นนาน
ถ้าเปรียบเรื่องนี้ เหมือนนิทานอีสปก็คงคล้ายเรื่องนิทานกระต่ายกับเต่าที่โด่งดัง ที่ช่วงหลายสิบปีที่แล้ว ไทยเคยเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตได้รวดเร็วและแซงหน้าหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านไปไกล
จนดูเหมือนว่า เรากำลังจะเข้าเส้นชัยและทิ้งห่างคู่แข่งแบบไม่เห็นฝุ่น
แต่แล้ววันหนึ่งจากที่เราวิ่งเร็ว เรากลับวิ่งช้าลง จนเริ่มเดินและทำท่าจะหยุดเดิน ขณะที่คู่แข่งกลับวิ่งเร็วขึ้นมากกว่าเดิม
แม้วันนี้เราอาจนำหน้าหลายประเทศอยู่
แต่คงไม่มีใครรับประกันว่า
ในอนาคตเราจะไม่ถูกแซง เหมือนในนิทาน..
----------------------
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.aseanstats.org/wp-content/uploads/2020/01/ASYB_2019.pdf
-https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/ReportPage.aspx?reportID=654&language=eng
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.KD.ZG?locations=TH
-https://www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=638&language=th
-https://www.set.or.th/th/market/market_statistics.html
-https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_7Nov2017.pdf
-https://www.thebangkokinsight.com/304526/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.